ทิศทางความร่วมมือสู่การปฏิรูปสังคม

ทิศทางความร่วมมือสู่การปฏิรูปสังคม 

            เป็นสัญญาณบอกความคืบหน้าในการทำงานเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยที่ดีครับ เมื่อกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เซ็นเอ็มโอยู หรือลงนามบันทึกความร่วมมือในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมอย่างเป็นรูปธรรม

             เพราะการทำอะไรนั้น มีแต่คนคิด ไม่มีคนลงมือทำ หรือมีคนพร้อมจะทำ แต่ขาดคนที่จะช่วยคิดช่วยวางแผน  และกำกับการทำงานให้ต่อเนื่อง สิ่งที่คิดและสิ่งที่อยากเห็นก็คงไม่เป็นไปตามเป้าหมาย…จริงไหมครับ

             ก็อย่างที่รับรู้กัน สังคมไทยกำลังเผชิญกับปัญหาความเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้อนาคตของชาติ หรือเด็กและเยาวชนของเรานั้น ตกอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง และแน่นอนย่อมกระทบเป็นลูกโซ่ต่อการพัฒนาและการปฏิรูปประเทศไทย ด้วยสังคมจะอยู่ได้อย่างยั่งยืนนั้น คุณภาพของคนในสังคมนั้นๆ เป็นองค์ประกอบสำคัญ

             การจับมือกันระหว่างกระทรวงพัฒนาสังคมฯ และ สสส. ผมจึงเห็นว่าเป็นมิติที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ ผู้จัดการ สสส. ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ให้ข้อมูลว่า เด็กและเยาวชนไทยกำลังเผชิญกับวิกฤต 6 ด้านสำคัญ ประกอบด้วย

             ความรุนแรงในเด็ก ซึ่งล้วนเกิดจากบุคคลใกล้ชิด มีตัวเลขที่ระบุว่าในแต่ละปี เด็กและเยาวชน ถูกดำเนินคดีโดยสถานพินิจเด็กและเยาวชน ประมาณ 46,000-50,000 คดีต่อปี

             การบริโภคสื่อและเทคโนโลยีที่ไม่สร้างสรรค์ และยังมีปัญหาการติดเกม มีข้อมูลอ้างอิงว่า เด็กในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อายุ 12 ปีขึ้นไป นิยมเล่นเกมออนไลน์ 1.4 ล้านคน และมีเด็กติดเกมเป็นจำนวนร้อยละ 42.2

             ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ทำให้มีการทำแท้ง ติดเชื้อเอดส์ คณะทำงานโครงการวิเคราะห์สุขภาวะของเด็กและวัยรุ่นไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เปิดผลสำรวจการทำแท้งในประเทศไทยปี 2542 พบว่าร้อยละ 46.8 ของผู้หญิงที่ทำแท้งอายุต่ำกว่า 24 ปี และร้อยละ 24.7 ของผู้ที่ทำแท้งมีสถานภาพเป็นนักเรียน นักศึกษา

             ปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเสพยา สำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ไทยมีนักดื่มหน้าใหม่เกิดขึ้นประมาณปีละ 2.6 แสนคน

             ปัญหาอุบัติเหตุและปรากฏการณ์รถซิ่ง  มีการพบว่า วัยรุ่นไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 10 รายต่อวัน

             สุดท้ายคือ  ปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจ รวมทั้งสถานภาพครอบครัวที่มีการหย่าร้าง และเด็กถูกทอดทิ้งเพิ่มขึ้น

             เห็นข้อมูลเหล่านี้  คงต้องมีการตั้งคำถามว่า ประเทศไทยจะสามารถพลิกเปลี่ยน พัฒนา หรือปฏิรูปเป็นสังคมที่น่าอยู่ที่สุดในโลกได้อย่างไรกันเล่า หากเยาวชนของชาติต้องตกอยู่ในวังวนวิกฤตปัญหาข้างต้น

             ความร่วมมือของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ และ สสส.เพื่อการขับเคลื่อนและพัฒนาสังคมอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายหลักคือเด็กและเยาวชน จึงถือเป็นทิศทางที่เราควรช่วยกันส่งเสริมสนับสนุนครับ

             อย่างน้อยที่สุด  เอ็มโอยูนี้ก็จะเป็นสิ่งการันตีได้ว่า แม้มีการเปลี่ยนถ่ายอำนาจทางการเมืองจากรัฐบาลหนึ่งไปสู่รัฐบาลไหนในอนาคตข้างหน้า ทำให้ต้องเปลี่ยนตัวผู้บริหารในกระทรวงพัฒนาสังคมฯ หรือไม่อย่างไรก็ตาม งานอันเกี่ยวกับการปฏิรูปสังคมก็จะยังคงเดินหน้าต่อไป เพราะอำนาจเปลี่ยนมือ กระทรวงเปลี่ยนหัว แต่ผมเชื่อว่า สสส.ไม่เปลี่ยน ซ้ำยังมีบันทึกความร่วมมือเป็นเสมือนลายแทงที่ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเดินตาม หรือกำกับให้คนทำงานกันไปได้อย่างต่อเนื่องอีกต่างหากนั้น …รับรองว่าใครที่คิดจะเบี้ยว คงต้องคิดหนักสักหน่อย …ในเมื่อเอ็มโอยูมันฟ้อง

            มองในด้านของการขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศไทย  ซึ่งมีประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมไทย เป็นปัญหาหลักที่จะต้องเร่งรัดจัดการแก้ไขและลดทอนให้ช่องว่างน้อยลง มาตรการที่เตรียมทำในช่วงส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ เพื่อให้บรรลุภารกิจการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเพิ่มความสมานฉันท์ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้คนมีรายได้เพิ่มขึ้น สร้างระบบสวัสดิการที่ดี ตรึงราคาสินค้า และอื่นๆ ขอเพียงให้ประชาชนได้  ผลประโยชน์ตกอยู่กับสังคมไทย และที่สำคัญมีการขับเคลื่อนการปฏิรูปอย่างแท้จริง ..มันก็โอเคนะ!

 

 

 

ที่มา :  หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ โดย นายใฝ่ฝัน ปฏิรูป

 

 

 

Update : 16-12-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ