ทำไมต้อง “เมาไม่ขับ”
คุณเคยได้ยินคำว่า “เมาไม่ขับ” ไหม? ในวันนี้เราอาจกล่าวได้ว่า “เมาไม่ขับ” เป็นหนึ่งในบรรดาข้อความรณรงค์เพื่อสังคมยอดฮิตซึ่งริเริ่ม และแพร่กระจายกันอย่างกว้างขวาง ตลอดจนอยู่คู่กับสังคมไทยมาเป็นเวลายาวนานกว่าทศวรรษ
หลักฐานจากการสืบค้นข้อมูลของคำว่า “เมาไม่ขับ” ใน www.google.co.th อันเป็นหนึ่งในบรรดาเว็บไซด์ยอดฮิตที่ทำหน้าที่เป็นกลไกในการสืบค้นข้อมูลต่างๆ ก็ระบุว่า มีจำนวนยอดการสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับเมาไม่ขับเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 16,200,000 ครั้ง
ส่วนในหนังสือ “เมาไม่ขับ” : จากวันวาน สู่วันนี้และก้าวไปในวันข้างหน้า ก็ระบุผลการวิจัยไว้ว่า ในบรรดาข้อความรณรงค์ต่างๆ ประชาชนกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 2,841 คน (ร้อยละ 93.9) รับรู้ข้อความรณรงค์ “เมาไม่ขับ” มากที่สุดในบรรดาข้อความรณรงค์เกี่ยวกับการไม่ขับขี่ยวดยานพาหนะภายหลังการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
นอกจากนั้น หนังสือเล่มดังกล่าวยังระบุต่อไปว่าประชาชนร้อยละ 52.1 รู้จักชื่อของ “มูลนิธิเมาไม่ขับ” ในฐานะองค์กรที่ทำงานรณรงค์ไม่ขับขี่ยวดยานพาหนะภายหลังการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถ้าหากหันมาติดตามข้อมูลจากโพลล์ ผลการสำรวจประชาชนกลุ่มตัวอย่างจำนวนทั้งสิ้น 1,109 ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ของสวนดุสิตโพล ในปีพุทธศักราช 2547 เกี่ยวกับปัญหาอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่า ประชาชนระบุว่าวิธีแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลดังกล่าว คือ การไม่ดื่มแอลกอฮอล์ในขณะขับรถ / เมาไม่ขับ ร้อยละ39.59 รองลงมา ได้แก่ การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ไม่ให้ผู้ขับขี่ประมาท มีสติอยู่ตลอดเวลา (ร้อยละ 33.93) การงดจำหน่ายหรือจำกัดเวลาในการขายสุรา และของมึนเมา (ร้อยละ 18.35) และพักผ่อนอยู่กับบ้านไม่ออกไปต่างจังหวัด (ร้อยละ 8.13) ตามลำดับ
ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่ประชาชนอยากฝากบอกกับผู้ขับขี่เกี่ยวกับการป้องกันอุบัติเหตุ คือ การไม่ดื่มแอลกอฮอล์หรือของมึนเมาในขณะขับรถ/เมาไม่ขับ มากที่สุด (ร้อยละ 34.70) รองลงมา ได้แก่ เพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่ให้มากขึ้น/ไม่คึกคะนอง (ร้อยละ 27.41) ความไม่ประมาทในการขับรถ/ควรมีสติอยู่ตลอดเวลา (ร้อยละ 25.43) การขับรถให้ถูกกฎจราจรจะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุ (ร้อยละ 12.46) ตามลำดับ
ส่วนผลการสำรวจประชาชนคนกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 3,214 ตัวอย่างของเอแบคโพลล์ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปีพุทธศักราช 2551 พบว่า สิ่งที่กลุ่มตัวอย่างตั้งใจจะบอกคนไทยที่กำลังจะเดินทางไปต่างจังหวัดช่วงสงกรานต์ มากที่สุด ได้แก่ อย่าดื่มเหล้า เครื่อมดื่มแอลกอฮอล์/เมาไม่ขับ (ร้อยละ 47.6) รองลงมา ได้แก่ อย่าประมาท/ให้มีสติ/เดินทางระวังตัว (ร้อยละ 44.7) ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุ (ร้อยละ 22.7 ตรวจเช็คสภาพรถให้พร้อมก่อนการเดินทาง (ร้อยละ 8.4) อย่าขับรถด้วยความเร็วสูง (ร้อยละ 8.0) และอื่นๆ เช่น ง่วงนอนให้จอดรถพัก/เคารพกฎจราจร/ไม่โทรศัพท์ขณะขับรถ (ร้อยละ 9.4) หลักฐานต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น เป็นเสมือนภาพสะท้อนในเชิงความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมของมูลนิธิเมาไม่ขับและภาคีเครือข่ายในการสร้างการรับรู้ของสาธารณชนในวงกว้าง เกี่ยวกับปัญหาอุบัติเหตุจราจรอันมีสาเหตุมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2539 มูลนิธิเมาไม่ขับได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานเพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุทางการจราจร อันมีสาเหตุมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือ “เมาไม่ขับ” อันเป็นสาเหตุประการสำคัญประการหนึ่งที่สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับสังคมไทยมาโดยตลอด
การดำเนินงานของมูลนิธิเมาไม่ขับภายใต้ยุทธศาสตร์หลัก 3 ด้าน ได้แก่ ยุทธศาสตร์ด้านกฎหมาย ยุทธศาสตร์ด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์และยุทธศาสตร์ด้านการขยายเครือข่ายนับเป็นหัวใจหลักที่ช่วยหนุนเสริมให้เกิดผลผลิต (output) อย่างเป็นรูปธรรมต่างๆ ตลอดจนการสร้างคุณูปการให้กับสังคมไทยเป็นระยะเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมา
จากสภาพการณ์ และหลักฐานต่างๆ ข้างต้น จึงนำไปสู่ข้อสรุปของคณะทำงานว่า ทำไมต้อง (เลือกกรณีศึกษาเรื่อง) “เมาไม่ขับ” ? โดยเฉพาะการเลือกกรณีศึกษาเรื่อง “เมาไม่ขับ” เป็นฐานสำหรับการสืบค้นข้อมูล การถอดบทเรียน และการเรียบเรียงข้อมูลที่มีคุณค่า โดยเฉพาะในการตอบคำถามว่า มูลนิธิเมาไม่ขับดำเนินงาน จัดทำโครงการ และกิจกรรมสำคัญๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการลดอุบัติเหตุทางการจราจร อันเนื่องมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างไร?
ทั้งในเชิงการรณรงค์ และการส่งเสริมการขับเคลื่อนมาตรการทางกฎหมายตลอดจนการพฒนาเครือข่าย “เหยื่อ” เมาแล้วขับอะไรคือบทเรียนสำคัญที่ได้รับ และควรนำไปใช้ในการขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบสุขภาวะของคนไทยต่อไปในอนาคต อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ “พลัง” ในการขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ ให้ลุล่วงด้วยดี อะไรเป็นอุปสรรคที่ควรคำนึงและหาหนทางแก้ไขในอนาคต และเราควรร่วมมือกันทำอะไร เพื่อนำไปสู่การลดอุบัติเหตุทางการจราจรอันเนื่องมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด
“เท่าที่มูลนิธิให้กับเหยื่อตรงนี้ ถึงจะไม่เต็มร้อย แต่เขาก็ให้เราเยอะแล้ว ในการสร้างคนขึ้นมาคนนึงที่ไม่ได้ปกติ ก็ถือว่าเขาเป็นผู้เสียสละ ซึ่งเขาจะเอางบไปท่มให้กับคนปกติได้ แต่เขาก็เสียสละที่จะสนับสนุนพวกเรา”
ที่มา : หนังสือเมาไม่ขับ กับสังคมไทย มูลนิธิเมาไม่ขับ