ทำอย่างไร…เมื่อเจ็บป่วยฉุกเฉิน

เรื่องโดย : ดนยา สุเวทเวทิน Team Content www.thaihealth.or.th


ข้อมูลจาก : สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ทำอย่างไร...เมื่อเจ็บป่วยฉุกเฉิน thaihealth


แม้ยามเกิดเหตุฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นด้วยการเจ็บป่วย อุบัติเหตุ หรือภัยพิบัติ จะมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรีบมารับผู้ป่วยยังจุดเกิดเหตุเพื่อส่งไปยังสถานพยาบาล แต่จะเป็นการดีกว่าหรือไม่ หากประชาชนอย่างเราสามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นเพื่อดูแลผู้ป่วยให้ปลอดภัยเท่าที่จะทำได้ก่อนที่ทีมเจ้าหน้าที่จะมาถึง


เนื่องจากข้อมูลการเสียชีวิตของผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลก่อนชุดปฏิบัติการไปถึง ณ จุดเกิดเหตุ พบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี จากปี 2555 ที่มีจำนวน 6,355 ราย และเพิ่มจำนวนขึ้นในปี 2559 เป็น 9,322 ราย


เช่นเดียวกับที่ ผศ.ดร.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวในงานประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ ครั้งที่ 11 ที่จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายว่า “ลำดับการช่วยเหลือผู้ป่วย เริ่มต้นจากมีผู้พบเหตุ แจ้งเหตุ เจ้าหน้าที่ออกเหตุ เจ้าหน้าที่ถึงที่เกิดเหตุและนำผู้ป่วยส่งสถานพยาบาล ทั้งนี้จุดที่สำคัญที่สุดคือช่วงเวลาก่อนที่เจ้าหน้าที่จะมาถึงจุดเกิดเหตุ”


“3 บริบทที่ควรให้ความสำคัญได้แก่ 1) พัฒนาประชาชน สามารถดูแลผู้เจ็บป่วยได้เพื่อรอเวลาเจ้าหน้าที่มายังจุดเกิดเหตุ เช่น การปฐมพยาบาล การห้ามเลือดอย่างถูกวิธี รวมถึงติดตั้งเครื่องกระตุ้นหัวใจ AED อย่างแพร่หลาย 2) พัฒนากู้ชีพ กู้ภัย ในด้านอำนวยการและปฏิบัติการ รวมถึงส่งเสริมให้ในท้องถิ่นเกิดอาสาชุมชนอย่างทั่วถึง และ 3) พัฒนาแพทย์และพยาบาล เพิ่มทักษะความรู้ในเชิงวิชาการและปฏิบัติเพื่อให้พยาบาลสามารถลงพื้นที่เกิดเหตุ อย่างมีคุณภาพ” ผศ.ดร.นเรนทร์ แสดงความคิดเห็น


ทำอย่างไร...เมื่อเจ็บป่วยฉุกเฉิน thaihealth


เพื่อเป็นการสร้างเสริมทักษะการช่วยเหลือผู้ใกล้ชิดเบื้องต้นในภาคประชาชน ทีมเว็บไซต์ สสส. จึงรวบรวมข้อมูลในการเตรียมความพร้อมและเข้าช่วยเหลือใน 4 กรณีตัวอย่าง ดังต่อไปนี้มาฝากค่ะ


1. ชุดปฐมพยาบาลที่ควรพกติดกระเป๋ายามเดินทาง หรือไปเที่ยว 1) ยากิน เช่น ยาทั่วไป เช่น ยาแก้ปวด ลดไข้ แก้ท้องเสีย เมารถ รวมถึงยารักษาโรคประจำตัว เช่น โรคความดัน หัวใจ ยาลดคอเรสเตอรอล เป็นต้น 2) ยาทา เช่น แอลกอฮอล์ ยาฆ่าเชื้อ 3) อุปกรณ์ทำแผล เช่น ผ้าพันแผล สำลี พลาสเตอร์ยา ถุงมือ 4) อื่นๆ เช่น น้ำดื่มสะอาด ยาดม ลูกอมเพื่อให้ความหวาน กระดาษหรือพัด


2. ในกรณีถูกไฟฟ้าดูด นอกจากรีบโทรแจ้งหน่วยกู้ชีพสายด่วนฉุกเฉิน 1669 แล้ว ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากบริเวณที่ถูกไฟฟ้าดูดให้เร็วที่สุด อย่างการใช้วัสดุที่เป็นฉนวน เช่น ผ้าแห้งพันมือให้หนา เชือกแห้ง หรือไม้ ด้วยความระมัดระวังเนื่องจากผู้ถูกไฟฟ้าดูดอาจบาดเจ็บในบริเวณอื่นได้ เช่น ตกจากที่สูง ทั้งนี้ผู้เข้าช่วยเหลือต้องไม่ลืมป้องกันตัวเองไม่ให้โดนไฟดูดไปด้วย ที่สำคัญต้องหาจุดที่เกิดไฟฟ้ารั่วและรีบตัดวงจรไฟฟ้า


ทำอย่างไร...เมื่อเจ็บป่วยฉุกเฉิน thaihealth


3. ในกรณีจมน้ำ ตั้งสติไว้ให้มากที่สุดและใช้หลัก ‘ยื่น-โยน-พาย-ลาก’ คือการ ยื่นอุปกรณ์ลงไปให้ผู้จมน้ำ เช่น ท่อนไม้ เข็มขัด เสื้อผ้า โยนอุปกรณ์ให้เกาะ เช่น ถังพลาสติก ห่วงชูชีพ ยางในรถยนต์ และ ลากให้ผู้จมน้ำขึ้นฝั่งให้ปลอดภัย ส่วนในกรณีพาย ใช้สำหรับคนจมน้ำที่ว่ายน้ำเป็น ผู้เข้าช่วยเหลือต้องใช้ท่า Cross chest คือการเอารักแร้เราหนีบบนบ่าเขา แขนพาดผ่านหน้าอกแบบสะพายแล่งไปจับซอกรักแร้อีกด้าน และว่ายน้ำด้วยท่า Side stroke  ซึ่งเป็นท่าที่เหนื่อย หนักแรงและมีอันตรายมากๆ สำหรับคนจมน้ำที่สลบ ต้องใช้ท่าลาก/พาที่ประคองหน้าให้ปากและจมูกพ้นน้ำ เพื่อหายใจได้ตลอด ทั้งนี้ผู้เข้าช่วยเหลือควรมีอุปกรณ์อย่าง ห่วงยาง โฟม หรือเสื้อชูชีพ ติดตัวลงไปขณะช่วยด้วย


4. การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน หรือการช่วยชีวิตคนหัวใจหยุดเต้นหรือคนที่หยุดหายใจกะทันหัน หรือจากระบบไหลเวียนเลือดและระบบหายใจล้มเหลว ที่สำคัญการฟื้นคืนชีพจะได้ผลดีต้องกระทำภายใน 4 นาที หลังผู้ป่วยหยุดหายใจ  สามารถพิสูจน์ว่าผู้ป่วยรู้สึกตัวอยู่หรือไม่ ด้วยการใช้มือจับไปที่ไหล่ เขย่าพร้อมเรียก หากผู้ป่วยไม่หายใจหรือหายใจเฮือกๆ ให้กดหัวใจ 100 ครั้ง/นาที จนกว่าจะพบว่าผู้ป่วยรู้สึกตัวหรือหายใจ หรือทีมช่วยเหลือมาถึง หากผู้ป่วยมีอายุต่ำกว่า 8 ปี ควรรีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 และปฏิบัติตามคำแนะนำ


ทำอย่างไร...เมื่อเจ็บป่วยฉุกเฉิน thaihealth


และวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา ถือเป็นข่าวดีสำหรับวันแรกในการเริ่มใช้สิทธิรักษาพยาบาลของประชาชน ที่ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต 6 กลุ่มอาการ สามารถใช้สิทธิรักษาฟรี 72 ชม. แรกในสถานพยาบาลทุกแห่ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ในกลุ่มอาการดังต่อไปนี้  1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ 2. หายใจเร็ว เหนื่อยหอบรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง 3. ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม 4. เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง 5. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซึก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน ชัดแบบต่อเนื่องไม่หยุด และ 6. มีอาการอื่นร่วมที่มีผลต่อการหายใจระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต


ทั้งนี้เพื่อการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงห่างไกลโรคและการเจ็บป่วย อย่าลืมออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนอย่างเพียงพอในแต่ละวัน กินผักผลไม้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม รวมถึงทำจิตใจให้เบิกบานสดใสด้วยนะคะ

Shares:
QR Code :
QR Code