ทำอย่างไร เมื่อลูกพูดคำหยาบ
ที่มา : talkaboutsex.thaihealth.or.th
เมื่อใดที่คุณพ่อคุณแม่ได้ยินลูกวัยประมาณ 4ขวบ พูดคำหยาบ… ก่อนอื่นขอให้คุณถามตัวเองก่อนว่า หากลูกพูดคำพูดที่ไม่ค่อยหวานหูนั้น ท่ามกลางโต๊ะกินข้าวกับญาติผู้ใหญ่ คุณจะมีปฏิกิริยาอย่างไร… คุณอาจจะดุเขาด้วยเสียงดัง (พูดคำๆนี้ย่อมไม่ดีแน่)… อับอายจนหน้าแดงและพูดไม่ออก…หรือพยายามเปลี่ยนเรื่องคุยให้เป็นเรื่องอื่น
เด็กๆมักจะเริ่มจดจำและพูดคำหยาบเมื่ออายุได้ประมาณ 4ขวบ เขามักจะจดจำคำต่างๆเมื่อได้ยินบ่อยๆ และทดลองใช้มัน ในความคิดของพวกเขานั้นคำหยาบหรือคำที่ไม่สุภาพนั้นเป็นคำคำหนึ่งที่เขาไม่รู้ความหมายแน่นอน แต่เมื่อได้พูดออกมาแล้ว จะมีผลกระทบที่ชัดเจนต่อผู้ฟัง ดังนั้นวิธีการตอบสนองที่ถูกต้องก็คือ “อย่าตอบสนองต่อการที่เขาพูดคำหยาบให้เป็นเรื่องใหญ่ ” มีข้อแนะนำให้ปฏิบัติง่ายๆดังนี้ค่ะ
1. หาแหล่งที่มาของคำหยาบเหล่านั้น เด็กวัย 4-5 ขวบ มักจะเล่นกับเพื่อนบ้านหรือรุ่นพี่ที่มีวัยมากกว่า (หรือแม้แต่ผู้ปกครอง) เขาจะเรียนรู้ว่าคำหยาบเหล่านี้เป็นคำที่มีอำนาจสูง มันสามารถทำให้ผู้ฟังมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างฉับพลัน เช่น หยุดพูดหรือหยุดทำสิ่งที่กำลังทำอยู่ คุณต้องสอดส่องดูว่าแหล่งของคำหยาบเหล่านี้มาจากไหน พยายามกันลูกจากบุคคลเหล่านั้น หรือพูดกับเพื่อนบ้านหรือญาติพี่น้อง (ถ้าทำได้) นอกจากนั้นควรจะเลือกดูรายการ ที่ไม่มีคำสบถหรือคำไม่สุภาพ
2. เมื่อลูกพูดคำหยาบให้คุณอธิบายเขาว่า “คำบางคำไม่ควรพูดนะลูก เวลาคนอื่นได้ยินแล้วจะรู้สึกไม่ดี” คำเหล่านี้อาจจะรวมถึงคำพูดส่วนตัวอื่นๆด้วย เช่น อึ ฉี่ ซึ่งไม่ควรพูดบนโต๊ะอาหาร “หากลูกปวดอึหรือปวดฉี่ให้มากกระซิบให้แม่ฟัง”
3. สอนให้หลีกเลี่ยงใช้คำอื่นๆแทน หากลูกของคุณใช้คำหยาบในการระบายอารมณ์ ก็ควรจะสอนให้เขาใช้คำอื่นที่น่าฟังกว่าแทน เช่น เวลาโกรธ ก็ให้พูดว่า “โกรธแล้วนะ” แทน แล้วอย่าลืมว่าผู้ใหญ่ควรจะต้องทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดีด้วย
4. เพิกเฉยซะ เมื่อลูกของคุณเรียนรู้ว่าคำบางคำเมื่อพูดแล้วทำให้คนอื่นมีปฏิกิริยาตอบสนองได้ เขาคงอยากจะพูดออกมาเพื่อทดสอบอำนาจของคำๆนั้นในบางครั้ง ให้คุณทำเป็นเพิกเฉยเสีย ให้เขารู้สึกว่ามันไม่มีความหมาย
5. เมื่อลูกโตขึ้นเช่นอายุ 6-7ขวบ เขาโตพอที่จะเรียนรู้ความหมายของคำ เหตุและผลได้ คุณควรจะต้องสร้างกฎภายในบ้านว่า “ภายในบ้าน พ่อกับแม่ห้ามลูกๆพูดคำหยาบหรือคำไม่สุภาพ” และปฏิบัติตามกฎนั้นอย่างเคร่งครัด หากมีการพูดเกิดขั้นจะต้องมีการทำโทษ
รู้อย่างนี้แล้ว…คุณพ่อคุณแม่คงมีแนวทางรับมือเมื่อพบว่าลูกพูดคำหยาบ อย่าใช้อารมณืตัดสินนะคะ อธิบายเหตุผลง่ายๆ ให้เด็ก ๆ ฟัง เชื่อเถอะว่าลูกน้อยย่อมรับรู้ได้ถึงความปราถนาดีของคุณ
ข้อมูล: เรียบเรียงจาก The good behaviour book โดย Dr. William Sears and Martha Sears.
อ้างถึง www.familynetwork.or.th