ทำลายเชื้อโรคพื้นที่เสี่ยง ต้านไข้หวัดนก
ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
แฟ้มภาพ
อธิบดีกรมปศุสัตว์ ขอความร่วมมือพี่น้องเกษตรกรทำความสะอาด-ทำลายเชื้อโรคในพื้นที่เลี้ยงสัตว์ปีก ชี้เริ่มเข้าสู่หน้าหนาว หากมีการพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ ขอให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อควบคุมโรค
นายอภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากรายงานขององค์การสุขภาพสัตว์โลก (World Organization for Animal Health หรือ OIE) ในปี 2559 พบการระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิดรุนแรง Highly pathogenic avian influenza virus บริเวณประเทศเพื่อนบ้านไทยเรา อาทิเช่น เวียดนาม เมียนมาร์ ลาวและกัมพูชาและยังพบการระบาดโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N8 ในทวีปยุโรป ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ เยอรมันและฝรั่งเศส เป็นต้น ทั้งนี้กรมปศุสัตว์ได้ติดตามสถานการณ์และข้อมูลข่าวสารการระบาดของโรคดังกล่าวอย่างใกล้ชิด กอปรกับในระยะนี้ประเทศไทยตอนบนจะมีอุณหภูมิต่ำลง มีหมอกในตอนเช้า หมอกหนาในบางพื้นที่ ปริมาณฝนตกลดลง ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของสัตว์ปีก ทำให้สัตว์อ่อนแอและภูมิต้านทานโรคลดต่ำลง ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดของโรคไข้หวัดนกได้ จึงขอให้พี่น้องเกษตรกรจัดหาเล้าหรือโรงเรือนที่มีหลังคาและสร้างรั้วรอบขอบชิดและให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทำความสะอาดและฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อบริเวณโรงเรือนที่เลี้ยงสัตว์ปีกด้วย
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้สั่งการให้ปศุสัตว์จังหวัดทุกจังหวัด เพิ่มมาตรการควบคุมป้องกัน โรคระบาดในสัตว์ปีก โดยจัดทำโครงการรณรงค์ทำความสะอาดและทำลายเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยงพร้อมกันทั่วทั้งประเทศ ทำการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่ที่มีการเลี้ยงสัตว์ปีกและพื้นที่ตามแนวชายแดน ขอความร่วมมือให้ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีก เพิ่มความเข้มงวดระบบป้องกันโรคของฟาร์ม กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบการลักลอบการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกเข้า-ออกตามแนวชายแดน ให้เจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ตั้งจุดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อในบริเวณจุดผ่านแดน ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ความเข้าใจแก่พี่น้องเกษตรกร ทั้งด้านการเลี้ยง การจัดการ และการป้องกันโรคในสัตว์ปีก
กรมปศุสัตว์ขอความร่วมมือจากเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกทุกท่านให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบกรมปศุสัตว์ในการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกและซากสัตว์ปีกต้องมีผลการตรวจรับรองโรคระบาดและใบอนุญาตการเคลื่อนย้ายสัตว์ทุกครั้ง หากพบเห็นสัตว์ปีกป่วยตายอย่างผิดปกติโดยที่ไม่ทราบสาเหตุ สามารถแจ้งเบาะแสให้กับอาสาปศุสัตว์ ปศุสัตว์อำเภอ ปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่ของท่าน หรือโทรแจ้งสายด่วนกรมปศุสัตว์ โทร 096-301-1946 เพื่อที่จะได้ดำเนินการควบคุมและป้องกันโรคไม่ให้แพร่กระจายออกไปได้อย่างทันท่วงที อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวในที่สุด