‘ทำร้ายตัวเองเป็นบาป’ กลไกศาสนาสกัดนักสูบ
ที่มา : เว็บไซต์ hfocus.org
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ hfocus.org
“ทำร้ายตัวเองเป็นบาป” กลไกศาสนาสกัดนักสูบหน้าใหม่
เป็นเรื่องท้าทายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่ราคาบุหรี่ต่างประเทศ แค่ซองละ 30 บาท ขณะที่ราคาขายทั่วประเทศสูงถึงซองละ 80 บาท ความสามารถเข้าถึงบุหรี่แบบง่ายๆ เพราะราคาถูก ไม่ได้ทำให้ ชาวบ้าน ตำบลมะรือโบตก จ.นราธิวาส กลายเป็นสิงห์อมควันอย่างที่คาดการณ์เอาไว้ ต้นทุนทาง “ศาสนาอิสลาม” ที่มีหลักคำสอนที่ว่า การทำร้ายตัวเองเป็นบาปกลายเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน ลด ละ เลิก บุหรี่ และยาเส้น จนทำให้อัตราการสูบบุหรี่ในพื้นที่ลดลง
จากการสรุปบทเรียนครึ่งทางของการทำงาน นับจากต้นปี 2560 ที่ลงนามความร่วมมือร่วมกันระหว่าง สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายตำบลสุขภาวะ กลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนล่างเพื่อทำกิจกรรมนำไปสู่เป้าหมายการลด ละ เลิก การบริโภคยาสูบ ภายใต้การณรงค์ “เลิกสูบก็เจอสุข : ปฏิบัติการ ลดพื้นที่สูบ เพิ่มพื้นที่สุข”
ในเขตเทศบาลตำบลมะรือโบตก อ.ระแงะ จ.นราธิวาส สร้างบุคคลต้นแบบที่หยุดสูบบุหรี่เด็ดขาด 65 ราย บ้านไร้ควัน 120 ราย มัสยิดปลอดบุหรี่ 5 แห่ง โรงเรียนไร้ควัน 2 แห่ง ส่วนข้อมูลเขตผู้สูบบุหรี่ในเทศบาล 24.8% เป็นพนักงานในเทศบาลที่สูบบุหรี่ทั้งหมด 49 คน ที่หยุดได้ แบบหักดิบได้ 40 ราย คงเหลือ 9 ราย แม้ผลการดำเนินงานของตำบลจะแนวโน้มประสบความสำเร็จด้วยดีแต่ในหลายพื้นที่ก็ต้องเผชิญปัญหาอุปสรรคต่างๆ โดย นางเดียนา ประจงไสย เจ้าพนักงานสาธารณสุขชำนาญงาน เทศบาล ต.บาลอ อ.รามัน จ.ยะลา บอกว่า อุปสรรคหลักๆ คือ ผู้ที่สูบบุหรี่มานานจะเลิกยาก แม้จะนำหลักศาสนามาชี้นำ แต่ทางกายภาพแล้วบุหรี่คือสารเสพติดทำให้เลิกยาก
“ผู้ที่สูบบุหรี่มานานเลิกได้ยากมาก แม้ว่าจะมีผู้สนใจสมัครเพื่อเลิกบุหรี่ 138 ราย แต่เลิกได้จริง 15 ราย หรือ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 10% ถือว่าน้อยมาก”
ในบางพื้นที่กลไกศาสนาอย่างเดียวอาจจะไม่เกียงพอ ต้องปรับแผนในการรณรงค์เลิกสูบบุหรี่ โดยเน้นให้คำแนะนำวิธีการเลิกบุหรี่ เช่น การใช้สมุนไพรพื้นบ้าน คือ หญ้าดอกขาว มาตากแห้งทำเป็นชา ชงดื่มช่วยลดความอยากบุหรี่ และการให้คำแนะนำการเลิกบุหรี่ด้านอื่นๆควบคู่กันไป สำหรับแผนการทำงานใหม่นี้ จะเพิ่มกลุ่มเป้าหมายไปที่เยาวชนไม่ให้เกิดนักสูบหน้าใหม่ ผ่านการทำงานร่วมกับสถานศึกษา และร่วมมือกับผู้นำศาสนาเพื่อย้ำประเด็นด้านการผิดหลักศาสนาอิสลามให้เข้มข้นขึ้น
“เรื่องศาสนาช่วยได้ เมื่อมีการพูดขึ้นมา ก็จะมีคนฟังและตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่ แต่ต้องยอมรับว่า ปัญหาคือ เมื่อคนติดบุหรี่มานานก็จะเลิกยาก ดังนั้นสิ่งที่จะทำเพิ่มจากนี้คือ เราคิดว่าต้องป้องกันนักสูบหน้าใหม่ไม่ให้เกิดขึ้นจะดีกว่า” นางเดียนา กล่าว
ความสำคัญของต้นทุนทางศาสนาคือกลไกความสำเร็จที่สำคัญ โดย นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า การที่ “ผู้นำศาสนา หรือ โต๊ะอิหม่าม ให้ความร่วมมือ โดยกำหนดให้บริเวณมัสยิดต้องปลอดบุหรี่ และการกุตุบะห์ (เทศนา) ช่วงละหมาดวันศุกร์ เพื่อย้ำถึงความผิดตามหลักศาสนาว่าด้วยการทำร้ายตัวเองนั้นเป็นบาป ก็เป็นอีกกลไกที่พบว่าได้ผลอย่างดี
นอกจากนี้ สสส.ยังสนับสนุนการให้องค์ความรู้ผ่านคลินิกเลิกบุหรี่และเครื่องมือทางการแพทย์ต่างๆ เช่น เครื่องวัดปริมาณนิโคตินในร่างกาย ซึ่งจะเป็นข้อมูลชี้วัดที่ชัดที่สุดว่าผู้สูบมีปริมาณสารพิษในร่างกายสูง มากน้อยเพียงใด ส่วนอีกกลไกหนึ่งที่ช่วยสร้างความตระหนักรู้และเกิดความตื่นตัวได้คือ การให้ชุมชน รวมทั้งโรงเรียนทำหน้าที่ให้องค์ความรู้กับเด็กๆ เพื่อเป็นอีกเครื่องมือสื่อสารไปถึงผู้ปกครองที่สูบบุหรี่ ขณะที่สถานพยาบาลและสาธารณะสุขจะเพิ่มการให้ความรู้ถึงอันตรายจากบุหรี่มือสอง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคนในบ้าน เช่น เด็กเล็ก ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหญิงตั้งครรภ์
การใช้ต้นทุนทางสังคม คือ “ศาสนาอิสลาม” มาเป็นกลไกการขับเคลื่อนให้ชุมชนควบคุมการบริโภคยาสูบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเครื่องมือ ที่ช่วยสกัดนักสูบหน้าใหม่ได้เป็นอย่างดี นางสาวดวงพร กล่าวในตอนท้าย