ทำฟันขาว ‘วีเนียร์’ เสี่ยงเหงือกร่นปากเหม็น

ฮิตทำทำฟันขาว “วีเนียร์” หรือเคลือบผิวฟันเทียมอันตราย ได้ไม่คุ้มเสีย เหตุต้องกรอเคลือบผิวฟันแท้ที่แข็งแรงเทียบเท่าเพชรออก ย้ำไม่มีวันขึ้นมาใหม่ ชี้ติดวัสดุเคลือบผิวฟันเทียมแข็งแรงไม่เทียบเท่า ทำไม่พอดี เสี่ยงเหงือกร่น อักเสบ ฟันผุ ปากเหม็น สะสมเชื้อโรค 


ทำฟันขาว ‘วีเนียร์’ เสี่ยงเหงือกร่นปากเหม็น thaihealth


ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีความนิยมการทำเคลือบผิวฟันเทียม (วีเนียร์) โดยแปะวัสดุลงทางทันตกรรมบนผิวฟันเพื่อเปลี่ยนสีผิวฟันว่า วิธีดังกล่าวเป็นเทคโนโลยีที่ใช้แก้ปัญหาผู้ที่มีผิวฟันสีผิดปกติ เช่น ฟันตกกระ ฟันเป็นแถบสีน้ำตาลหรือดำ จากกินยาแก้อักเสบกลุ่มเตตราไซคลิน ซึ่งไม่สามารถแก้ไขด้วยวิธีการฟอกสีฟันได้ ซึ่งทันตแพทย์จะต้องกรอผิวฟันหรือเคลือบฟันออกเพื่อแปะวัสดุลงไป ซึ่งปัจจุบันมีวัสดุหลายอย่าง เช่น พอร์ซเลน เซรามิก ซึ่งมีราคาแพง หรือ คอมโพสิตเรซิน​ ซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้ในการอุดฟันนำมาทำพิมพ์แบบให้เป็นรูปฟันซึ่งมีราคาถูกลง ​เป็นต้น ซึ่งวิธีดังกล่าวจะต้องกรอผิวฟันออกไปเล็กน้อยเพื่อแปะวัสดุใหม่ลงไปให้เท่ากับผิวฟันเดิมไม่ให้นูนขึ้นมามากเกินไป ซึ่งวิธีนี้เดิมแพทย์จะใช้กับฟันที่ตายแล้วทำให้ไม่มีผลเรื่องการเสียวฟัน


ทพ.สุธา กล่าวว่า การทำวิธีนี้ทั้งที่ฟันไม่ได้มีปัญหาผิวฟันแบบถาวร เป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มเพราะผิวเคลือบฟันทำหน้าที่ป้องกันเนื้อฟันให้มีความแข็งแรงซึ่งความแข็งแรงนั้นเทียบเท่ากับเพชร ซึ่งการกรอผิวเคลือบฟันที่ดีออกไป จะไม่มีวันขึ้นมาใหม่ ดังนั้นการมีฟันปกติ เพียงแต่มีสีออกเหลืองนั้น หากกรอออกเพื่อติดวัสดุทำให้ฟันขาวถือเป็นสิ่งที่น่าเสียดายและต้องคิดถึงผลที่จะตามมาภายหลังการแปะวัสดุลงไปเพื่อเคลือบผิวฟันด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบันการแก้ปัญหาสีฟันเหลืองนั้น สามารถทำได้ด้วยการฟอกสีฟัน ซึ่งจะใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ก็สามารถทำให้สีที่ติดอยู่บนเคลือบฟันหลุดออกไปได้โดยที่เคลือบฟันยังอยู่เหมือนเดิม


“การแปะวัสดุทางทันตกรรมบนผิวฟันนั้น มีเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยทำให้ทำได้ง่ายกว่าเดิมและราคาถูกลง แต่ก็มีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงด้วย โดยเฉพาะการปิดวัสดุนั้นต้องทำด้วยเทคนิคที่ดี โดยเฉพาะวัสดุที่ปิดฟันต้องพอดีกับตัวเนื้อฟันไม่มีส่วนเกินเข้าไปในเหงือก หรือ รูรอยรั่ว เพราะหากเกินเข้าไปในเหงือกจะทำให้เกิดเหงือกอักเสบ เกิดหินปูน เหงือกร่น หรือการมีส่วนเกินบริเวณจุดเชื่อมต่อฟันก็จะทำให้เกิดพื้นที่ให้เชื้อโรคไปเกาะและเกิดปัญหากลิ่นปากขึ้น หรือ ทำให้สีของอาหารไปติดได้ และเมื่อติดวัสดุไปเป็นเวลาหนึ่งก็มีโอกาสเสื่อม สึก หรือ เกิดรอยรั่วขึ้น เพราะวัสดุเหล่านี้แข็งแรงได้ไม่เท่าเคลือบฟันแท้ ก็จะทำให้เกิดฟันผุด้านใน หรือ เกิดปัญหาเสียวฟันขึ้น ดังนั้น การเลือกวิธีทางทันตกรรมเพื่อความสวยงามจำเป็นต้องตระหนักถึงผลดี ผลเสียให้ครบทุกด้านด้วย” ทพ.สุธา กล่าว


 


 


ที่มา: เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code