ทำป้ายบอกความเร็วถนนทุกเส้น

ที่มา : เดลินิวส์


ภาพประกอบจาก Voice TV


ทำป้ายบอกความเร็วถนนทุกเส้น thaihealth


คนไทยยังไม่รู้ไม่เข้าใจ ก.ม.บังคับใช้ความเร็ว เน้นให้ภาครัฐสื่อสารประชาชนจัดทำป้ายใช้ความเร็วถนนแต่ละเส้น


ปลายสัปดาห์ที่แล้ว ดร.กัณวีร์ กนิษฐพงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย กล่าวในการอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตและรายงานข่าวเชิงวิเคราะห์ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายด้านความปลอดภัยทางถนน โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับศูนย์วิจัยอุบัติเหตุ ให้กับผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ว่า สาเหตุของอุบัติเหตุในประเทศไทย มาจากใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนดมากถึง 60 เปอร์เซ็นต์ จากตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน


การกำหนดพื้นที่ควบคุมความเร็วแต่ละถนนขาดการสื่อสารที่ชัดเจนกับประชาชน โดยถนนในเขตเมืองกำหนดความเร็วไว้ที่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่นอกเมืองอยู่ที่ 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ยกเว้นมอเตอร์เวย์ที่กำหนดความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ คนที่ใช้ถนนนอกเมืองส่วนใหญ่ใช้ความเร็วเกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งถนนทางหลวงแผ่นดินกว่า 50,000 กิโลเมตร ประชาชนใช้ความเร็วมากกว่าที่กฎหมายกำหนด ขณะที่ถนนถูกออกแบบให้ใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 100 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง เพราะมีทางแยกทางตัดผ่านชุมชนเมื่อเกิดอุบัติเหตุความรุนแรงจึงเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ถนนบางเส้นยังมีต้นไม้อยู่สองข้าง เป็นปัจจัยเพิ่มระดับความรุนแรงของอุบัติเหตุ จัดว่าเป็นสภาพข้างทางที่อันตรายที่สุดในโลก


ดร.กัณวีร์ กล่าวต่อว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรทำป้ายบอกความเร็วของถนน ขณะเดียวกันต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ควรแก้ไขข้อกฎหมายการใช้ความเร็ว ด้วยการปรับอัตราค่าปรับ ซึ่งเมื่อเทียบกับในต่างประเทศ ยกตัวอย่างมาเลเซียใช้ความเร็วเกินจากกฎหมายกำหนดเกิน 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะเสียค่าปรับ 3,000 บาท ญี่ปุ่นใช้ความเร็วเกินจากกฎหมายกำหนด 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เสียค่าปรับ 3,000 บาท ถ้าเกินไปถึง 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ติดคุกทันที แต่ขณะที่บ้านเราขับรถที่ความเร็ว 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เสียค่าปรับแค่ไม่เกิน 1,000 บาท


ทั้งนี้กฎหมายที่ไม่เข้มข้นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไทยติดอันดับประเทศที่มีอุบัติเหตุทางถนนเป็นอันดับ 2 ของโลก อย่างไรก็ตามหลายประเทศจำกัดความเร็วอย่างจริงจัง พบว่าอุบัติเหตุทางถนนลดลงอย่างชัดเจน เช่น ออสเตรเลียลดลง 33 เปอร์เซ็นต์ เนเธอร์แลนด์ลดลง 50 เปอร์เซ็นต์

Shares:
QR Code :
QR Code