ทำตัวอย่างไรหลังภัยพิบัติ
ฝากข้อคิดจิตวิทยา
ภัยจากภาวะน้ำท่วมหรือภัยพิบัติอื่น ไม่ใช่เพียงสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินอาคารบ้านเรือนเท่านั้น จิตใจของผู้ประสบภัยได้รับความเสียหายไปด้วยไม่น้อย หากสะสมและไม่ได้รับการคลี่คลายได้ทันท่วงที ก็อาจจะสร้างความสูญเสียรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ ตามที่ปรากฏเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์อยู่ในเวลานี้ บางคนแขวนคอตาย บางคนเตรียมกระโดดสะพานฆ่าตัวตาย
การเผชิญกับอุทกภัยหรือภัยอื่นๆ ครั้งใหญ่ เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งภาวะเช่นนี้อาจทำให้เกิดความเครียด หรือปฏิกิริยาทางด้านจิตใจที่เปลี่ยนแปลงไปได้ จนบางครั้งอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า หรือการทำร้ายตนเองและผู้อื่นขึ้นได้
งานจิตวิทยาคลินิก โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มีบทความดีๆ ที่เป็นแนวคิด สร้างกำลังใจมาฝากผู้ที่ได้รับผลกระทบ
หลังเกิดภัยพิบัติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ น้ำท่วม ไฟป่า หรือภัยพิบัติที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ เช่น สงคราม การก่อการร้าย ฯลฯ ผู้ประสบภัยจะเกิดความเครียดขึ้นอย่างมาก แต่ความเครียดที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ไม่ปกติแบบนี้ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ เพราะไม่มีมนุษย์คนไหนเลยที่จะยังสามารถเป็นปกติสุขอยู่ได้ ท่ามกลางภัยร้ายที่เกือบทำให้เอาชีวิตไม่รอด ซึ่งปฏิกิริยาที่รุนแรงที่เกิดขึ้นทันทีของผู้ได้รับผลกระทบภายหลังเกิดเหตุการณ์ที่คุกคามต่อชีวิต แบ่งออกเป็น 4 ด้าน ดังนี้
ด้านร่างกาย ได้แก่ อาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ รู้สึกร้อนหรือหนาว รู้สึกตีบแน่นในลำคอ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ปวดท้องและคลื่นไส้อาเจียน ความอยากอาหารลดลงหรือเพิ่มขึ้น อาการเจ็บป่วยเดิมกำเริบหนักขึ้น ทำให้สุขภาพทรุดโทรมหนัก
ด้านปฏิกิริยา/การแสดงออก ได้แก่ นอนไม่หลับ หลับๆ ตื่นๆ ฝันร้าย ตกใจง่าย ร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุ เฉยเมย แยกตัวออกจากสังคม หวาดระแวง กวาดตามองไปมาบ่อยๆ หันเข้าหาสุราของมึนเมาหรือยาเสพติดมากขึ้น
ด้านอารมณ์ ได้แก่ ช็อกไม่ยอมรับในสิ่งที่เห็น วิตกกังวล กลัว เศร้า โกรธ ต้องการแก้แค้น ฉุนเฉียวง่าย โทษตัวเองและผู้อื่น อารมณ์แกว่งไปแกว่งมา คาดเดาไม่ได้
ด้านการรับรู้ ได้แก่ สับสน มึนงง ไม่มีสมาธิ มีปัญหาด้านความจำ มีปัญหาในการตัดสินใจ ภาพความทรงจำของเหตุการณ์รุนแรงนั้นผ่านเข้ามาแบบวูบวาบ
อาการเหล่านี้เป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ เช่น ภาวะน้ำท่วมเฉียบพลันนี้ โดยอาการจะเกิดขึ้นและลดลงจนหายไปภายใน 1 เดือน แต่ถ้าหากเวลาผ่านไปแล้วแต่อาการเหล่านี้ยังคงอยู่ จำเป็นที่ต้องพบผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตใจ เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา พยาบาลจิตเวช เพื่อให้การช่วยเหลือต่อไป
แต่หากผู้ที่ประสบภัย ได้รับการปฐมพยาบาลทางจิตใจ อย่างถูกต้องและทันท่วงทีก็จะสามารถทำให้กลับมามีสภาวะจิตใจที่เป็นปกติได้ในเวลาอันรวดเร็ว สามารถผ่านพ้นเหตุการณ์วิกฤตไปได้ด้วยดี ซึ่งหลักการปฐมพยาบาลทางจิตใจแก่ผู้ประสบภาวะวิกฤต ตามหลัก EASE สามารถทำได้โดย
สร้างความมั่นใจ ( E : Engagement) ด้วยการที่ผู้ให้การช่วยเหลือมีวิธีการเข้าถึงผู้ประสบเหตุการณ์วิกฤตได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม จนได้รับความไว้วางใจ ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการสังเกต สีหน้าท่าทาง พฤติกรรมและอารมณ์โดยรวมของผู้ประสบภัย สร้างสัมพันธภาพและแนะนำตัวเองแสดงความจริงใจในการช่วยเหลือ และสื่อสาร พูดคุยเบื้องต้นโดยใช้คำถามปลายเปิด เช่น ถามถึงอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในขณะนั้น
ประเมินอย่างครอบคลุม ( A : Assessment) โดยผู้ช่วยเหลือสำรวจความต้องการรอบด้านของผู้ประสบภัย อันได้แก่ 1) ประเมินและตอบสนองความต้องการอย่างเร่งด่วนด้านร่างกายและจิตใจ เช่น ปัจจัย 4 (ยา อาหาร เครื่องนุ่งห่ม น้ำ ที่พักพิง) ความปลอดภัยและบริการทางการแพทย์ 2) ประเมินสภาพจิตใจ ประเมินว่าผู้ประสบภาวะวิกฤตกำลังอยู่ในระยะอารมณ์อย่างไร เช่น ช๊อค ปฏิเสธ โกรธ ต่อรอง เศร้าเสียใจ 3)ประเมินความต้องการทางสังคม โดยเฉพาะการติดต่อ ประสานญาติ ผู้ใกล้ชิด และแหล่งช่วยเหลือทางสังคม
เสริมสร้างทักษะ (S : Skill) เพื่อให้ผู้ประสบภัยสามารถลดความแปรปรวนทางอารมณ์และสร้างศักยภาพในการจัดการปัญหา ประกอบด้วยหลักการ “เรียกขวัญคืนสติ ลดความเจ็บปวดทางใจ และเสริมทักษะให้เกิดการเรียนรู้วิธีการจัดการอารมณ์ของตนอย่างเหมาะสม”
เติมเต็มความรู้ (E : Education) คือ การให้สุขภาพจิตศึกษาและข้อมูลจำเป็นเพื่อช่วยให้ผู้ประสบภัยสามารถดำรงชีวิตอย่างปกติโดยเร็ว ประกอบด้วยการ ตรวจสอบความต้องการจำเป็น เติมเต็มความรู้ในการจัดการความเครียด แหล่งช่วยเหลือทั้งส่วนภาครัฐ/เอกชน และ ติดตามต่อเนื่อง ในการวางแผนแก้ไขปัญหาต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์ASTV ผู้จัดการ
Update : 01-11-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : กิตติภานันทร์ ลีจันทึก