ทำงานเปลี่ยนกะบ่อย นาฬิกาชีวิตเพี้ยน เสี่ยงหลายโรค

ที่มา : MGR Online


ทำงานเปลี่ยนกะบ่อย นาฬิกาชีวิตเพี้ยน เสี่ยงหลายโรค  thaihealth


แฟ้มภาพ


หมอห่วงคนไม่ยอมหลับไม่ยอมนอน ติดสมาร์ทโฟน ดูซีรีส์ แข่งกีฬา ส่งผลไม่มีสมาธิ หงุดหงิดง่าย ระยะยาวเพิ่มเสี่ยงเบาหวาน ความดัน ซึมเศร้า ยิ่งทำงานเปลี่ยนกะบ่อย นาฬิกาชีวิตไม่คงที่ ยิ่งเจอปัญหาสุขภาพ พบสัมพันธ์โรคลำไส้แปรปรวน ท้องเสีย เนื้องอกบางขนิด ชี้ไม่มีข้อมูลวิจัยนับแกะช่วยหลับง่ายขึ้น แต่ทำให้กังวล หลับยาก


ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย นพ.วิญญู ชะนะกุล รองผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าว “กิจกรรมวันนอนหลับโลก” ว่า การนอนเป็น 1 ใน 3 ปัจจัยสำคัญต่อสุขภาพที่ดี จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกได้มีคำว่า ควรนอนหลับให้เพียงพอวันละ 7 – 9 ชั่วโมง แต่จากข้อมูลพบว่าประชากรโลกร้อยละ 45 มีอาการผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยร้อยละ 35 เป็นปัญหาการนอนไม่หลับ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังมีปัญหาการไม่ยอมหลับไม่ยอมนอน เนื่องจากการใช้ชีวิตอยู่กับอินเทอร์เน็ต ดูคลิปวิดีโอต่างๆ ดูการแข่งขันกีฬา การดูซีรีส์ หรือการเล่นสมาร์ทโฟน รวมทั้งการทำงานก่อนนอน ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วการทำงานหรือการใช้สมาร์ทโฟน ควรทำก่อนเข้านอนประมาณ 4 ชั่วโมง เพราะไม่เช่นนั้นร่างกายจะรู้สึกตื่นตัว และนอนไม่หลับ ยิ่งแสงสีฟ้าจากสมาร์ทโฟนยิ่งมีผลทำให้รู้สึกนอนหลับยาก


“ปัญหาการนอนไม่เพียงพอมีผลกระทบมาก อย่างผลระยะสั้น จะทำให้ไม่มีสมาธิ หงุดหงิดง่าย มีปัญหาต่อการเรียนรู้ในวันถัดไป ซึ่งพบว่าคนที่นอนหลับไม่เพียงพอมีปัญหาขาดงานทำงานไม่มีประสิทธิภาพมากกว่าคนที่นอนหลับอย่างเพียงพอถึง 3 เท่า ส่วนในระยะยาวมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง อาจส่งผลให้เกิดปัญหาโรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ หรือคนสองบุคลิก โดยเฉพาะผู้ที่เป็นผู้ป่วยอยู่เดิมอาจจะทำให้อาการกำเริบได้ รวมทั้งภาวะอ้วนก็เป็นส่วนหนึ่งที่อาจมาจากการนอนไม่เพียงพอ เนื่องจากมีผลต่อระบบการเผาผลาญของร่างกาย ทำให้เกิดความอยากอาหาร แต่ปัญหาคือ ยังไม่มีข้อมูลวิจัยยืนยันชัดเจนถึงสาเหตุเช่นกัน” นพ.วิญญู กล่าวและว่า นอกจากนี้ ที่หลายคนเชื่อว่าการนับแกะจะช่วยให้นอนหลับง่ายนั้น จริงๆ ไม่มีข้อมูลยืนยัน แต่ที่แน่ๆ จะทำให้เกิดความกังวล ทำให้หลับยากขึ้น


รศ.นพ.ณัฐพงษ์ เจียมจริยธรรม หัวหน้าศูนย์นิทราเวช รพ.จุฬาฯ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการพูดถึงนาฬิกาชีวิตกันมากขึ้น ซึ่งเป็นวงจรการดำเนินชีวิตอย่างหนึ่ง อย่างวงจรการนอน ก็มีความสำคัญ แต่ละคนก็จะมีวงจรการนอนแตกต่างกันไป แต่ที่น่ากังวล คือ กลุ่มคนที่ทำงานเป็นกะ ไม่ได้ทำงานตามเวลาปกติ และมีการเปลี่ยนกะบ่อยๆ เช่น ทุกๆ 3 วันเปลี่ยนกะการทำงานตลอด ซึ่งจะมีปัญหามาก วงจรชีวิตไม่คงที่ ยกตัวอย่าง มีการศึกษาในกลุ่มพยาบาลของ รพ.จุฬาฯ ที่เปลี่ยนกะเข้าเวรบ่อยๆ มีปัญหาโรคลําไส้แปรปรวน ท้องเสีย และมีการศึกษาในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย พบการเกิดเนื้องอกบางชนิดขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่ทำงานเป็นกะแต่ไม่ได้เปลี่ยนกะบ่อยๆ ใช้เวลาเป็นเดือนเดือนจะไม่ค่อยมีปัญหามากนัก ดังนั้น อยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญนาฬิกาชีวิต ตามที่ได้กำหนดสโลแกนวันนอนหลับโลกปี 2561 “หลับเป็นเวลา ตามนาฬิกาชีวิต พิชิตโรคร้าย ร่างกายแข็งแรง” ที่ รพ.จุฬาฯ จะจัดขึ้นในวันที่ 3 มีนาคม ที่สวนลุมพินี และให้ความรู้เรื่องการนอนแต่ประชาชนต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 5 – 9 มีนาคม ที่โถงชั้นจี อาคาร ภปร.


ศ.พญ.อรุณวรรณ พฤทธิ์พันธุ์ นายกสมาคมโรคจากการนอนหลับแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคนอนไม่หลับ ได้ 1 ใน 3 ของประชากรยิ่งสูงวัยยิ่งพบมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ วิธีสังเกตถ้าหัวถึงหมอนเกินครึ่งชั่วโมงแล้วยังไม่หลับติดต่อกันเป็นระยะเวลา 1 – 2 สัปดาห์ ควรมาพบแพทย์ หรืออีกกรณีหนึ่งคือการนอนกรนซึ่งนำไปสู่การที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งพบได้ 1 ใน 10 ของประชากรชาย ส่วนประชากรหญิงพบได้ประมาณครึ่งหนึ่ง ในขณะที่วัยเด็กพบได้ร้อยละ 1 – 2 ซึ่งลักษณะนี้จัดว่าเป็นอันตราย ขอให้ตระหนักและหลับให้เพียงพอ

Shares:
QR Code :
QR Code