ทำงานด้วยความสุข กับ “Happy Brain”
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
เพราะต้องการมีชีวิตที่เป็นสุขในการทำงาน ขณะที่การเปลี่ยนแปลงทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ในปัจจุบัน ล้วนส่งผลกระทบต่อการดำเนินการขององค์กร ทำให้ "พนักงานรุ่นใหม่"ต้องเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอในการรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพื่อพาตัวเองไปสู่เป้าหมายที่ตั้งใจไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือชีวิตส่วนตัว ซึ่งแนวทางการรับมือในเรื่องนี้ไม่ยากแต่ก็ไม่ง่าย เพราะขึ้นอยู่กับตัวคนทำงานเป็นสำคัญ
ซึ่ง "การพัฒนาตนเองด้วยความใฝ่รู้" หรือ "Happy Brain" ซึ่งเป็นเครื่องมือ 1 ใน 8 อย่างของ กล่องแห่งความสุข 8 ประการ (Happy 8)ที่ออกแบบโดย สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คือคีย์เวิร์ดที่ช่วยปลดล็อคและยังเป็นเข็มทิศนำทางในเรื่องนี้
ศราวุธ ทาคำ เจ้าหน้าที่โครงการพัฒนาและส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสนับสนุนสุขภาวะองค์กร (Happy 8 Menu KM) สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า การตระหนักเห็นความสำคัญของการใฝ่หาความรู้เพื่อพัฒนาตนเองของบุคลากรในองค์กร จะช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างครอบคลุมถึง 3 ด้าน ได้แก่ 1.แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน 2.เพื่อการป้องกันการเกิดปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และ 3.เป็นการสร้างเสริมศักยภาพของบุคลากรในองค์กรให้สูงขึ้น อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้พนักงานได้พัฒนาตนเองในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น ร่างกาย ความคิด จิตวิญญาณ อันนำมาซึ่งความสุขในการทำงานและใช้ชีวิต นอกจากนี้ ยังส่งผลดีต่อผู้อื่นและสังคมในระยะยาวในแง่การเป็นต้นแบบ
ทั้งนี้ ทักษะสำคัญที่คนทำงานต้องพัฒนาตัวเองมีอยู่ 2 ประเภท คือ ทักษะในการทำงาน (WorkSkill) และทักษะการใช้ชีวิต (Life Skill) ซึ่งทักษะทั้ง 2 ส่งผลต่อการทำงานอย่างมีความสุขโดยตรง
ศราวุธ อธิบายว่า องค์กรส่วนใหญ่มักออกแบบกิจกรรมเพื่อการพัฒนาทักษะในการทำงานและทักษะการใช้ชีวิต ผ่าน 1.การฝึกอบรมบุคลากร 2.การให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับทักษะชีวิต 3.การพัฒนาระบบการสอนงานหรือแบบพี่สอนน้อง(Coaching and Mentoring) 4.การศึกษาต่อเพื่อเพิ่มคุณวุฒิ 5.การพัฒนาระบบเรียนรู้ด้วยตนเอง 6.การจัดการความรู้ในองค์กร 7.การพูดคุยกับผู้บริหารระดับสูงและระดับกลาง และ 8.การให้รางวัลแก่บุคลากรที่มีผลการปฏิบัติงานดี
โดยแต่ละกิจกรรมมีความสำคัญ ดังนี้ 1.การฝึกอบรมบุคลากร หมายถึงการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจ ทักษะ ทัศนคติที่เหมาะสมในการปฏิบัติงาน จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการปฏิบัติงานไปในทิศทางที่ต้องการ เพิ่มประสิทธิภาพของงานซึ่งตัวบุคคลนั้นปฏิบัติอยู่หรือจะปฏิบัติต่อไปในระยะยาว ซึ่งสามารถประเมินผลได้จากการปฏิบัติงาน หรือผลงานหลังจากได้รับการฝึกอบรม
2.การให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับทักษะชีวิต เพื่อให้บุคลากรความสามารถนำทักษะในกระบวนการต่าง ๆ ไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การทำงานและการอยู่ร่วมกันในสังคม ด้วยการสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคล การจัดการปัญหา และความขัดแย้งต่างๆ อย่างเหมาะสม การจัดกิจกรรมฝึกอบรมเกี่ยวกับทักษะชีวิต อาจเป็นการทำงานอดิเรก การทำบัญชี ครัวเรือน การดูแลสุขภาพ หรือการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
3.การพัฒนาระบบการสอนงานหรือแบบพี่สอนน้อง การหมุนเวียนบุคลากรเข้าออกหรือการเกษียณอายุของ บุคลากรส่งผลกระทบต่อองค์กร ทำให้ขาดบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ในสายงาน ดังนั้น องค์กรจึงควรกำหนดกลยุทธ์ในการสร้างให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานมาก่อน ได้มีโอกาสถ่ายทอดความรู้ทักษะประสบการณ์ในการทำงาน รวมถึงประสบการณ์ชีวิต ผ่านการสร้างบรรยากาศในสถานที่ทำงานให้เหมือนครอบครัวเดียวกันเหมือนพี่สอนน้อง จากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง โดยมีเป้าหมายในการ ผลักดันให้ผู้ปฏิบัติงานใหม่สามารถปฏิบัติงานได้ด้วยตนเองในวันข้างหน้า
4.การศึกษาต่อ เพื่อเพิ่มคุณวุฒิและพัฒนากำลังคนในสายงาน ให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญสอดคล้องกับความต้องการของนายจ้าง ซึ่งมีหลายองค์กรที่เปิดโอกาสให้บุคลากรได้ศึกษาต่อเพื่อเพิ่มคุณวุฒิทางการศึกษา ผ่านการสนับสนุนทุนการศึกษาหรือองค์กรร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในลักษณะทวิภาคี ให้พนักงานสามารถผ่อนชำระค่าเล่าเรียนโดยหักจากเงินเดือน เมื่อศึกษาครบหน่วยกิตบรรยายแล้ว จึงกลับมาเก็บหน่วยกิตประสบการณ์วิชาชีพที่องค์กร
5.การพัฒนาระบบเรียนรู้ด้วยตนเองการเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นเทคนิควิธีการพัฒนาบุคลากรขององค์กร ที่เน้นให้พนักงานมีความรับผิดชอบในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องใช้ช่วงเวลาในการปฏิบัติงานเท่านั้น แต่สามารถแสวงหาโอกาสเรียนรู้ผ่านช่องทางการเรียนรู้และสื่อต่าง ๆ เช่น การจัดตั้งห้องสมุด หรือจัดบอร์ดประชาสัมพันธ์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นต้น วิธีการนี้เหมาะกับบุคลากรที่ชอบเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ โดยเฉพาะกับพนักงานที่มีผลการปฏิบัติงานดีและมีศักยภาพในการทำงานสูง
6.การจัดการความรู้ในองค์กร เกิดจากการที่องค์กรต้องสูญเสียความรู้ อันเนื่องมาจากการที่บุคลากรลาออกหรือเกษียณอายุ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินการขององค์กรเป็นอย่างยิ่ง แต่ละองค์กรจึงพยายามรักษาองค์ความรู้นั้น โดยการขับเคลื่อนองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ โดยการพัฒนาระบบการจัดการความรู้ (Knowledge Management) ด้วยการให้บุคลากรพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้สิ่งที่น่าสนใจระหว่างกัน ในบรรยากาศที่มีความสนุกสนานเป็นกันเองและมีการบันทึกความรู้อย่างเป็นระบบ
7.การพูดคุยกับผู้บริหารระดับสูงและระดับกลาง ช่วยลดช่องว่าง ระหว่างผู้บริหารกับผู้ปฏิบัติงาน โดยการจัดกิจกรรมพบปะพูดคุยที่ใกล้ชิดและเป็นกันเองมากยิ่งขึ้น เช่น กิจกรรมการประชุมในสายงาน การจัดกิจกรรม Morning Talk หรือ Morning Brief ที่บุคลากรจะมีโอกาสได้พูดคุยสั้นๆ ก่อนเริ่มงาน โดยมีหัวหน้างานรับฟังด้วยความจริงใจและแก้ไขปัญหาร่วมกัน นอกจากจะทำให้สัมพันธภาพระหว่างผู้บริหารและพนักงานเป็นไปด้วยดีแล้ว ยังเป็นผลดีต่อพนักงานที่ได้พบปะผู้บริหาร เพื่อรับทราบนโยบายการทำงาน และแจ้งประเด็นปัญหาที่พบจากการทำงาน ซึ่งพนักงานจะได้รับคำแนะนำหรือข้อเสนอแนะจากผู้บริหารโดยตรง เกิดเป็นความเข้าใจที่ชัดเจนตรงกัน
สุดท้าย 8.การให้รางวัลแก่บุคลากรที่มีผลการปฏิบัติงานดี เป็นทฤษฎีการจูงใจที่ช่วยให้พนักงานเกิดการปรับปรุงพฤติกรรม ด้วยการกำหนดรางวัลที่นอกเหนือจากค่าตอบแทนเงินเดือน เช่น มอบรางวัลให้แก่บุคลากรที่คิดค้นนวัตกรรม มีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ให้แก่องค์กร
"อุปสรรคสำคัญของการปรับปรุงและพัฒนาตนเอง คือการที่บุคคลมีความคิดยึดติดไม่ยอมปรับเปลี่ยนวิธีคิดและการกระทำ จึงไม่ยอมสร้างนิสัยใหม่หรือฝึกทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็นต่อตนเอง จึงมักเป็นสาเหตุให้คนเราไม่สามารถดำเนินชีวิตให้มีความสุขได้"ศราวุธ กล่าว