ทำความเข้าใจ เมื่อลูกมีโลกส่วนตัวสูง
ที่มา : SOOK Magazine No.71
ภาพประกอบโดยแฟ้มภาพ
การที่ลูกมีโลกส่วนตัวอาจไม่ใช่เรื่องแปลก แต่หากมีโลกส่วนตัวสูง ชอบเก็บตัวเป็นเวลานาน แยกตัวไปอยู่คนเดียวบ่อย ๆ ปลีกตัวออกห่างเมื่อเครียด พ่อแม่ หรือผู้ปกครองจำเป็นที่จะต้องหมั่นสังเกตและทำความเข้าใจลูก ๆ โดยเร็ว เพื่อที่จะได้อธิบายและทำความเข้าใจกับลูกให้ไม่ตกอยู่ในโลกส่วนตัวมากจนเกินพอดี
ปัจจัยที่ทำให้เด็กมีโลกส่วนตัวสูงเกิน
เด็กเล็กต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ชอบเล่น ชอบหยอก แต่หากพ่อแม่ไม่ได้ใกล้ชิดลูก ปล่อยลูกให้อยู่กับมือถือ แท็บเล็ต พี่เลี้ยง เมื่อเด็กขาดปฏิสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดแล้วย่อมมีโลกส่วนตัวสูงขึ้น ดังนั้นพ่อแม่ควรทำความเข้าใจเรื่องพัฒนาการตามวัย สำหรับเด็กโตหรือวัยรุ่นไม่ได้ต้องการการเล่น การหยอก การชวนทำกิจกรรมเหมือนเด็กเล็ก ๆ แล้ว แต่ต้องการจะมีเวลาของตนเองเป็นเรื่องปกติ
สิ่งที่พ่อแม่ควรให้ความสำคัญคือ การมีปฏิสัมพันธ์ในครอบครัว เพราะความสัมพันธ์ของเด็กเล็กกับพ่อแม่จะเป็นสิ่งที่คงอยู่จนถึงวัยรุ่น ดังนั้นพ่อแม่ต้องให้เวลาความผูกพัน ใกล้ชิด อบอุ่น ใช้เวลาด้วยกัน เล่นด้วยกัน ทำกิจกรรมด้วยกัน กินอาหารด้วยกัน มีความละเอียดอ่อนในการใช้คำพูด ไม่แสดงอารมณ์เดือดดาลและก้าวร้าวกับลูก เข้าถึงความรู้สึกลูก จะช่วยให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวดี เด็กจะเติบโตเป็นวัยรุ่นที่เปิดใจต่อพ่อแม่ได้เป็นเพื่อนกันได้
วิธีการรับมือเมื่อลูกโลกส่วนตัวสูงเกินไป
พ่อแม่ควรพิจารณาจากตนเองก่อนว่าเลี้ยงดูและมีปฏิสัมพันธ์กับลูกมากเพียงพอหรือไม่ อย่างไร หากลูกยังเด็กควรต้องให้เวลาและใกล้ชิดกับลูก เล่นกับลูก อย่าปล่อยให้ลูกอยู่แต่กับของเล่น ทีวี หรือ แท็บเล็ต เพราะเด็กอาจจะสร้างกำแพงปิดกั้นการเข้าถึงกับพ่อแม่โดยไม่รู้ตัว ควรเล่นกับลูกและพูดคุยกับลูก ตอบคำถามที่ลูกสงสัยด้วยความเข้าใจ สร้างการเรียนรู้ที่เหมาะสม ให้เวลากับลูกอย่างเหมาะสม แต่ถ้าลูก อยู่ในวัยรุ่นต้องทำความเข้าใจลูกให้มาก พูดน้อยลง อย่าเข้าไปจัดการชีวิตของลูกมากนัก เพราะจะทำให้เกิดปัญหาทางอารมณ์ตามมา พ่อแม่ควรรับฟังเมื่อลูกอยากเล่า
โลกส่วนตัวของเด็ก 3-6 ขวบ ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการ
– จินตนาการได้อย่างอิสระ เช่น พื้นที่ในห้องนอนอาจกลายเป็นโลก เตียงนอนกลายเป็นสนามบิน ฯลฯ
– รับรู้ถึงสิทธิและอำนาจ เช่น ถ้าใครจะเข้ามาต้องเคาะประตู ห้องก่อนนะคะ
– อยู่กับอารมณ์ของตัวเอง ทำความเข้าใจและยอมรับตัวเองมากขึ้น เช่น สนุกกับตัวเองด้วยการร้องเพลง
นอกจากการทำความเข้าใจลูกที่มีโลกส่วนตัวแล้ว พ่อ แม่ หรือผู้ปกครองควรมีเทคนิคในการสื่อสารในครอบครัวเพื่อสร้างความอบอุ่น อย่างมีความละเอียดอ่อนในการใช้คำพูด ไม่ใช้คำพูดแรง หรือคำพูดที่ลดคุณค่าในตัวลูก อย่าพูดในตอนที่ตนเองกำลังโกรธอยู่ ควรสงบสติอารมณ์ก่อน พ่อ แม่ หรือผู้ปกครองควรสังเกตอารมณ์ของตนเองให้มากขึ้น