ทำความรู้จัก ขี้ไคลทอนซิล
ที่มา : SOOK Magazine No.64
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ปกติต่อมทอนซิลจะมีร่องหรือซอก ซึ่งเศษอาหารอาจเข้าไปติด หรือ ตกค้างได้ นอกจากนั้นเซลล์ที่บุรองหรือซอกนั้นอาจมีการตาย และหลุดลอกออกมาเป็นขี้ไคล แล้วมีแบคทีเรีย เม็ดเลือดขาว และ เอ็นไซม์ในน้ำลายเข้าไปย่อยสลาย เกิดเป็นสารคล้ายเนยสีเหลือง ขาวสะสมอยู่ เรียกว่า “ขี้ไคลทอนซิล” (Tonsillar Concretion)” สำหรับบางรายอาจมีสารแคลเซียมมาเกาะ ทำให้มีลักษณะคล้ายก้อนแคลเซียมหรือก้อนหินอยู่ในร่องของต่อมทอนซิลได้
ขี้ไคลทอนซิลอาจทำให้เกิดปัญหาดังต่อไปนี้
1. ก่อให้เกิดความรำคาญ รู้สึกคล้ายมีอะไรติดอยู่ในลำคอ
2. ทำให้ต่อมทอนซิลอักเสบ ทำให้มีอาการเจ็บคอเป็น ๆ หาย ๆ
3. ทำให้มีกลิ่นปาก
4. ทำให้มีอาการปวดร้าวไปที่หูหรือไอเรื้อรังได้ในผู้ป่วยบางราย
การรักษามี 2 วิธี
วิธีไม่ผ่าตัด
– การกลั้วคอแรง ๆ หลังรับประทานอาหาร ด้วยน้ำยากลั้วคอ น้ำเกลือ หรือน้ำเปล่า จะช่วยให้ขี้ไคลทอนซิลหลุดออกมาได้ง่ายขึ้น
– การใช้นิ้วนวดบริเวณใต้คางบริเวณมุมขากรรไกรล่าง (ซึ่งตรงกับบริเวณต่อมทอนซิล) เพื่อให้ขี้ไคลทอนซิลดังกล่าวหลุดออกมา
– การใช้ไม้พันสำลี เครื่องมือที่ใช้เขี่ยขี้หูออก แปรงสีฟัน เขี่ย หรือ กดบริเวณต่อมทอนซิล เพื่อเอาขี้ไคลทอนซิลดังกล่าวออก วิธีนี้ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยทำเอง เนื่องจากอาจมองเห็นไม่ชัด อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อบริเวณต่อมทอนซิล เกิดแผล หรือมีเลือดออกได้ ควรให้แพทย์เป็นผู้เขี่ยออกให้
– ใช้ที่พ่นน้ำทำความสะอาดช่องปาก ฟัน และลิ้น ฉีดบริเวณต่อมทอนซิล อาจทำให้ขี้ไคลทอนซิลหลุดออก เมื่อสงสัยว่าจะมีขี้ไคลทอนซิล และได้ลองใช้วิธีข้างต้นแล้ว แต่ยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ หู คอ จมูก
วิธีผ่าตัด
– ใช้กรด Trichloracetic acid หรือเลเซอร์ จี้ต่อมทอนซิลเพื่อเปิดขอบร่อง หรือซอกของต่อมทอนซิลให้กว้าง ไม่ให้เป็นซอกหลีบ ที่จะเป็นที่สะสมของสิ่งต่าง ๆ ได้อีก ซึ่งสามารถทำได้โดยใช้ยาชาเฉพาะที่
– ผ่าตัดต่อมทอนซิลออก เป็นการรักษาที่หายขาด มักจะทำในกรณีที่ใช้วิธีข้างต้นแล้วยังไม่ได้ผล
การผ่าตัดเป็นทางออกที่ดีที่สุดจริงหรือไม่?
ต่อมทอนซิลที่โตขึ้นจากการอักเสบบ่อย ๆ นั้น เนื้อเยื่อของต่อมที่ทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันจะถูกแทนที่ด้วยเนื้อเยื่อพังผืด ซึ่งเกิดตามหลังการอักเสบ จึงทำให้ต่อมทำหน้าที่ได้น้อยลงเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันร่างกายยังมีต่อมน้ำเหลืองอีกจำนวนมากในบริเวณศีรษะและคอ ที่ทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรค การตัดต่อมทอนซิลไม่ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำลง