ทางเลือกสร้างงานคนพิการ ด้วยงานชุมชน

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่  ร่ววมสร้างงานให้คนพิการ ด้วยงานชุมชน


ทางเลือกสร้างงานคนพิการ ด้วยงานชุมชน thaihealth


ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ในเวลาเช้าตรู่ของทุกวัน "ชวลิต" จะรีบขี่จักรยานคู่ใจของเขามาถึงที่ทำงานด้วยความสุขใจ และลงมือทำความสะอาด คอยอำนวยความสะดวกที่จอดรถ เก็บกวาดใบไม้ในสวนและรดน้ำอย่างไม่รีรอ


เช่นเดียวกับ "เกษศิณี" เธอมักจะออกจากบ้านแต่เช้ามาทำงานที่องค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว เธอมีหน้าที่จัดเอกสาร เดินเอกสาร ทำความสะอาด เก็บกวาดเช็ดถู และจัดเตรียมน้ำดื่มไว้บริการสำหรับผู้ที่มาติดต่องาน


แม้งานดังกล่าวอาจดูเป็นงานที่ไม่น่าสนใจของคนทั่วไป แต่สำหรับพวกเขาทั้งสองกลับมองว่าภารกิจที่ได้รับนั้นคือความสุขและมีความหมายยิ่ง ชวลิต เป็นผู้พิการด้านสมองและกล้ามเนื้ออ่อนแรง แต่ทุกวันนี้เขาสามารถปั่นจักรยานได้คล่องแคล่วมาทำงาน และกลายเป็นคนชอบออกกำลังกาย


ขณะที่ น้องเกษ หรือเกษศิณี อินขำ สาวผู้พิการดาวน์ซินโดรมวัยสามสิบห้า ไม่เพียงภาคภูมิใจกับตำแหน่งเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยแม่บ้านและฝ่ายธุรการที่เธอได้รับมอบหมายที่ทำให้เธอมีคุณค่าในตัวเอง แต่เธอยังกลายเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญที่สามารถหารายได้มาเลี้ยงดูแลครอบครัว


เป็นเวลากว่าหนึ่งปีที่แล้วผู้พิการทั้งสองคน ได้รับการจ้างงานโดยบริษัทพรีเมียร์กรุ๊ป ผ่านโครงการจ้างงานคนพิการเพื่อทำงานสาธารณะในชุมชน


ดร.อุบล ยะไวทย์ณะวิชัย ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ได้เล่าถึงพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปในตัวผู้พิการทั้งสองภายหลังจากได้รับโอกาสให้ทำงานว่า


"แต่ก่อนพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ต้องพึ่งพิงสังคม ปัจจุบันจากการสังเกต ทั้งสองคนมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมากกว่าคนพิการทั่วไปทั้งเรื่องการปรับตัวเข้าสังคม และพัฒนาการด้านสมองและสติปัญญา ตลอดจนสุขภาพจิตดีขึ้น การทำงานในชีวิตประจำวันเป็นการส่งเสริมพัฒนาการผู้พิการ เขายังสามารถเป็นคนที่คิดเองได้โดยไม่ต้องบอก ที่สำคัญยังเป็นกำลังสำคัญในครอบครัว"


เดิมพ่อแม่ของเกษศิณีต้องประกอบอาชีพรับจ้างรายวันมีรายได้ไม่แน่นอน แต่รายได้จากการที่บริษัทจ้างทำงานทำให้สามารถนำเงินไปเลี้ยงดูพ่อแม่ได้ โดยที่ อบต.จะมีพี่เลี้ยงที่เป็นอาสาสมัครดูแลคนพิการในชุมชน ทำหน้าที่ให้คำแนะนำเรื่องการวางแผนการเงินของผู้พิการอย่างใกล้ชิด


โดยเกษศิณี จะได้รับการแนะนำว่าแต่ละเดือนควรมีค่าใช้จ่ายและใช้เงินเท่าไหร่สำหรับครอบครัว ส่วนเงินเดือนที่เหลือทางพี่เลี้ยงจะแนะนำให้ออมไว้เพื่อเป็นเงินสำรองในอนาคต ปัจจุบันเธอมีเงินในธนาคารเกือบสองหมื่นบาท จากที่ครอบครัวไม่เคยมีเงินเก็บเลย


ดอนแก้วถือเป็นหนึ่งในจุดเริ่มของ โครงการจ้างงานคนพิการทำงานเพื่อชุมชน ซึ่งเป็นการว่าจ้างจากบริษัท โดยให้ทำงานชุมชนเพื่อสาธารณะประโยชน์ ซึ่งจากการที่อบต.ดอนแก้วทำโครงการสุขภาวะชุมชนร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และได้พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาการในชุมชน รวมถึงมีการจัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครดูแลคนพิการในพื้นที่จัดตั้งกองทุนให้คนพิการเพื่อช่วยเหลือให้กู้ยืมเพื่อไปประกอบอาชีพพัฒนาศักยภาพคนพิการด้วยการฝึกอาชีพ


"มีผู้พิการกล้ามเนื้ออ่อนแรงรายหนึ่งแต่เป็นคนสู้ชีวิต ได้กู้เงินกองทุนเราไปประมาณห้าพันบาท เขาไปต้มไข่นกกะทา และผลไม้ใส่ถุงหิ้วขาย บริเวณสถานที่ท่องเที่ยวห้วยตึงเฒ่า ปรากฏว่าเขากู้เงินไปห้าพันบาทช่วงสงกรานต์ สิ้นเดือนเมษายนเขาเอาเงินที่กู้ไปมาคืนเราแล้ว บางคนมีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ก็กู้ไปซื้อคอมพิวเตอร์รับจ้างพิมพ์งาน เป็นต้น"


โดยหลังจากทาง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ได้ลงพื้นที่เข้ามาศึกษาดูงานคนพิการที่ดอนแก้วและกิจกรรมที่ดอนแก้วทำกับคนพิการ จึงเกิดแนวทางในการดำเนินโครงการจ้างงานผู้พิการในชุมชนขึ้น โดยใช้เครือข่ายตำบลสุขภาวะของ สสส.ที่มีกว่าสองพันแห่งทั่วประเทศเป็นพื้นที่นำร่อง ซึ่งดอนแก้วเป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องที่ได้รับการสนับสนุนการจ้างงานจากบริษัทพรีเมียร์กรุ๊ป


ระวิวรรณ พานิชขจรกุล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลวังจันทร์ จ.ระยอง ร่วมเป็นผู้คัดเลือกคนพิการในชุมชนของวังจันทร์เพื่อเป็นพนักงานในโรงพยาบาลฯ บอกว่า เดิมคนพิการในชุมชนถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับการพัฒนาตนเอง ผู้พิการก็มีปัญหาไม่กล้าเข้าสังคม แต่หลังการดำเนินโครงการเพียง 3 เดือนแรก ผู้พิการมีการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นคนที่มุ่งมั่นในการทำงาน และพยายามพัฒนาตนเองมากขึ้น


ด้าน สายหยุด ชาวนา นักวิชาการสาธารณสุข รพ.สต.วังจันทร์ ระยอง เล่าถึงประสบการณ์จากการได้ร่วมงานกับผู้พิการเหยื่อจากอุบัติเหตุเมาแล้วขับที่ได้รับการจ้างงานเป็นเจ้าหน้าที่อาสาสมัครในชุมชนว่า ชิดพงษ์หรือที่คนในชุมชนมักเรียกเขาว่า "หมอชิด" เป็นบุคลากรที่มีจิตอาสา เป็นผู้แทนในทุกด้าน มักทำหน้าที่ช่วยรณรงค์เรื่องเมาไม่ขับและลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจแก่ผู้พิการและผู้ป่วยในชุมชนเป็นประจำ ครั้งหนึ่งมีผู้ป่วยที่ไม่ยอมตัดขา แต่ปรากฏว่าเขาสามารถจูงใจให้เพื่อนผู้พิการหันมาลุกสู้และยอมให้ความร่วมมือ


"เขาไม่ฟังเรา แต่ฟังคนพิการด้วยกัน เป็นเรื่องที่น่าทึ่งมาก ซึ่งผลปรากฏว่าการทำงานพัฒนาชุมชนโดยมีผู้พิการมีส่วนร่วมทำให้ชุมชนข้างเคียงที่ทราบข่าวอยากได้บุคลากรแบบนี้บ้างและมีการมาดูงานในพื้นที่ของเราอีกด้วย"


จากความสำเร็จในโครงการนำร่องปีแรก ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าโครงการจ้างงานคนพิการเพื่อทำงานสาธารณะในชุมชน เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการจ้างงานผู้พิการสำหรับบริษัทหรือองค์กรต่างๆ ที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมช่วยลดความเหลื่อมล้ำผู้พิการได้ อีกทั้งยังถือว่าองค์กร เป็นผู้มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรในการส่งเสริมผู้พิการได้แสดงศักยภาพในการทำงานที่มีประโยชน์ให้กับชุมชน สังคม ในนามตัวแทนขององค์กร


นอกจากนี้ โครงการจ้างงานคนพิการเพื่อทำงานสาธารณะในชุมชนยังตอบโจทย์การจ้างงานผู้พิการตามที่กฎหมายกำหนดตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ที่กำหนดให้สถานประกอบการต้องจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 ในอัตราส่วน 100 คน ต่อ 1 คน ซึ่งหากสถานประกอบการใดไม่สามารถจ้างคนพิการได้ต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการตามมาตรา 34 แทน แต่ปัญหาจากการที่ผู้พิการส่วนใหญ่ยังขาดคุณสมบัติทั้งด้านวุฒิการศึกษาและทักษะการทำงานในองค์กร และตำแหน่งงานส่วนใหญ่มักอยู่แต่ในเมืองทำให้ผู้พิการไม่สะดวกที่จะทำงานไกลบ้านหมดโอกาส


ดร.อุบล กล่าวว่าวิธีนี้สามารถช่วยคนพิการได้โดยตรงเต็มที่ได้ดีกว่าการนำส่งเงินเข้ากองทุนคนพิการ สามารถลงที่ผู้พิการได้โดยตรง พร้อมกล่าวว่าการสร้างงานให้คนพิการยังเปลี่ยนแนวคิดชุมชนที่มองไม่เห็นคุณค่าคนพิการ กลายเป็นคนที่มีค่าและภูมิใจในตัวเอง ที่สำคัญยังลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ลดจำนวนคนที่พึ่งพิงในสังคมให้กลายมาเป็นคนช่วยเหลือตัวเองได้


 


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Shares:
QR Code :
QR Code