ทางเลือกจัดการทรัพย์สิน พิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ทางเลือกจัดการทรัพย์สิน พิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ thaihealth


แม้ว่าผู้สูงอายุจะได้รับการรับรองคุ้มครองสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และมีกฎหมายรองรับแล้วก็ตาม แต่การคุ้มครองที่มีอยู่ก็ยังมีหลายส่วนที่ยังไม่ครอบคลุม และสอดคล้องต่อการดูแลผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ ทำให้การถูกละเมิดของผู้สูงอายุยังคงเกิดขึ้นอยู่ในสังคม


คาดการณ์ได้ว่าในอนาคตน่าจะมีจำนวนผู้สูงอายุที่ถูกละเมิดสิทธิ หรือไม่ได้ความคุ้มครองสิทธิมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันศึกษาพัฒนาระบบในการคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุผ่านการแลกเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติเพื่อขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายในการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุให้มีประสิทธิภาพ


นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวใน เวทีเสวนาวิชาการ หัวข้อ "ผู้สูงอายุไทย สิทธิ และทางเลือกเพื่อการจัดการทรัพย์สิน" ว่า การ เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การปรับเปลี่ยนกฎหมาย ระเบียบ และวิธีการอยู่ร่วมกันในสังคมเป็นหนึ่งส่วนสำคัญที่ละเลยไม่ได้ สสส.เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานต่าง ๆ ที่พยายามมองหาช่องว่างของปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุไทยว่ามีด้านใดบ้าง ซึ่งนอกจากเรื่องของสุขภาพที่เป็นมิติหลักในการทำงานของ สสส. ยังพบว่า มีหลายประเด็นที่ควรได้รับการคุ้มครอง อาทิ ความรุนแรงในครอบครัว การพิทักษ์สิทธิเรื่องของทรัพย์สิน เป็นต้น


ทางเลือกจัดการทรัพย์สิน พิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ thaihealth


"เรื่องการจัดการทรัพย์สิน ถือเป็นประเด็นที่ในหลายประเทศมีการออกกฎหมายที่คุ้มครองเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่ในประเทศไทยยังเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาร่วมกันว่า การนำทรัพย์สินมาเปลี่ยนเป็นเงินเพื่อใช้เลี้ยงชีพของผู้สูงอายุเป็นทางเลือกที่ถูกต้องหรือไม่ และจะเป็นได้หรือไม่หากรัฐบาล และสถาบันทางการเงินเข้ามาร่วมออกแบบมาตรการที่มีประโยชน์ต่อการจัดการทรัพย์สินของผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันการถูกละเมิดสิทธิ สิ่งเหล่านี้เป็นที่มาของการจัดเวทีเสวนาวิชาการครั้งนี้ และมีจุดมุ่งหมายเพื่อรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในบทบาทต่าง ๆ ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการผลักดันมาตรการที่สำคัญในการป้องกันสิทธิผู้สูงอายุได้ในอนาคต" นางภรณี กล่าว


รศ.ดร.เดชา สังขวรรณ คณะสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หนึ่งทางเลือกของการจัดการทรัพย์สินของผู้สูงอายุ คือ สินเชื่อเพื่อดูแลผู้สูงอายุด้านที่อยู่อาศัยหรือ reverse mortgage เป็นหนึ่งแนวทางที่ขณะนี้สถาบันการเงินในประเทศไทยเริ่มเปิดตัวเพื่อเอื้อประโยชน์สำหรับผู้สูงอายุที่มีบ้านเป็นของตนเอง และต้องการมีรายได้เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน


ทางเลือกจัดการทรัพย์สิน พิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ thaihealth


รศ.ดร.เดชา อธิบายต่อว่า reverse mortgage คือ การทยอยขายบ้านให้กับสถาบันทางการเงิน โดยสถาบันทางการเงินจะประเมินมูลค่าบ้านพร้อมอายุเฉลี่ยของผู้กู้แล้วทยอยจ่ายเงินให้ผู้กู้เป็นรายเดือน โดยผู้กู้ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านหลังนั้นและยังสามารถอาศัยอยู่ภายในบ้านได้จนกระทั่งเสียชีวิต ซึ่งจากการศึกษาบทเรียนจากสหรัฐอเมริกา พบว่า ประชาชนเลือกสินเชื่อแบบ reverse mortgage ค่อนข้างต่ำ ทั้งที่สินเชื่อนี้น่าจะตอบโจทย์ผู้สูงอายุให้มีรายได้ดำรงชีพได้ ทำให้เป็นสิ่งที่ต้องศึกษาต่อถึงผลกระทบหรือข้อบกพร่องของสินเชื่อนี้ เพื่อเป็นเกราะป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุถูกละเมิดได้


นอกจากนี้ จากการศึกษาโดยวิธีการสนทนากลุ่ม (focus group) พบว่า ผู้สูงอายุถูกละเมิดสิทธิในหลายรูปแบบ อาทิ การทำร้ายร่างกาย ทุบตี หลอกลวงเพื่อเอาทรัพย์สิน ลูกหลานหลอกให้ค้ำประกัน ตลอดจนการถูกทอดทิ้ง และล่วงละเมิดทางเพศ เป็นต้น ซึ่งสาเหตุเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งภาวะเศรษฐกิจ ค่านิยมของสังคม การใช้สารเสพติด หรือการที่ผู้สูงอายุเจ็บป่วยสมองเสื่อม ทำให้เกิดภาวะที่ต้องพึ่งพิงลูกหลาน ตลอดจนความเข้าใจในปัญหาของผู้สูงอายุที่คนส่วนใหญ่มักมองว่าเป็นเพียงปัญหาภายในครอบครัว รวมถึงพบว่ากลไกการเฝ้าระวังคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุของไทยยังมีระบบที่ไม่ชัดเจน อีกทั้งผู้สูงอายุเองก็ไม่สามารถเข้าถึงช่องการช่วยเหลือได้อย่างสะดวก


ทางเลือกจัดการทรัพย์สิน พิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ thaihealth


รศ.ดร.เดชา บอกว่า ผู้สูงอายุยังต้องมีรายจ่ายทางด้านสุขภาพที่สูงขึ้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการทางการเงิน เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้สูงอายุมีความมั่นคงในการเพียงพอต่อดำรงชีวิตในบั้นปลายชีวิต และหากมองถึงตัวอย่างระบบกฎหมายในต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น พบว่า มีกฎหมาย "ระบบผู้พิทักษ์ผู้สูงอายุ" ซึ่งให้ความคุ้มครองผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม หรือผู้ที่มีความสามารถในการใช้วิจารณญาณเริ่มถดถอยลง โดยญาติ อัยการ หรือนายกเทศมนตรีสามารถร้องขอให้มีการแต่งตั้งผู้พิทักษ์ต่อศาลครอบครัวได้ สำหรับอำนาจหน้าที่ของผู้พิทักษ์คือ ดูแลกิจการที่เกี่ยวข้องกับชีวิต การรักษาพยาบาล การจัดการทรัพย์สินของผู้สูงอายุ โดยต้องเคารพเจตจำนงของผู้สูงอายุที่อยู่ภายใต้การดูแล ซึ่งจัดตั้งองค์กร หน่วยงานดูแลจัดการทรัพย์สินของญี่ปุ่นถือเป็นต้นแบบที่ดี ที่สามารถมาปรับใช้ในไทยได้ โดยการเชื่อมโยงเข้ากับชุมชนท้องถิ่น


"นอกจากเรื่องของกฎหมายข้อบังคับ ตลอดจนทางเลือกในการดูแลผู้สูงอายุไทยให้ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขแล้ว การสร้างความเข้าใจ และการปลูกจิตสำนึกต่อสังคมให้มองเรื่องการละเมิดในผู้สูงอายุเป็นประเด็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ปัญหา และเอาใจใส่ในระดับสังคมอีกด้วย" รศ.ดร.เดชา ฝากทิ้งท้าย

Shares:
QR Code :
QR Code