ทันตแพทยสภาออกแนวปฏิบัติการรักษาผู้ป่วยที่มีประวัติตับแข็ง
ที่มา : คมชัดลึก
แฟ้มภาพ
ทันตแพทยสภา-ราชวิทยาลัยทันตแพทย์-วิทยาลัยอายุรแพทย์ จัดทำแนวทางปฏิบัติประเมินผู้ป่วยที่มีประวัติตับแข็งในการรักษาทางทันตกรรมป้องกันภาวะแทรกซ้อนระหว่างรักษา
ทพ.ดร.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล อดีตกรรมการทันตแพทยสภาวาระที่ 8 เปิดเผยว่า เมื่อเดือน มี.ค. 2562 ที่ผ่านมา ทางทันตแพทยสภา ราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทย และ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ร่วมมือกันจัดทำ "แนวทางปฏิบัติในการประเมินผู้ป่วยที่มีประวัติตับแข็งในการรักษาทางทันตกรรม" ขึ้นมา
ทพ.ดร.ธงชัย กล่าวว่า ที่มาของการจัดทำแนวปฏิบัติดังกล่าวเนื่องจากมีผู้ป่วยที่มีประวัติตับแข็งมารับบริการถอนฟันแล้วเลือดไหลไม่หยุดมาขอรับขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 1 เชียงใหม่ และทาง สปสช.ก็จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นไปเรียบร้อยแล้ว แต่เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยอื่นๆ จึงได้มีการสร้างกลไกป้องกันขึ้นมา โดยตัวแทนจาก 3 หน่วยงานข้างต้นได้ร่วมประชุมหารือในเชิงวิชาการและจัดทำเป็นแนวทางปฏิบัติดังกล่าว
ทั้งนี้ แนวทางปฏิบัติในการประเมินผู้ป่วยที่มีประวัติตับแข็งในการรักษาทางทันตกรรม จะแนะนำขั้นตอนการประเมินความเสี่ยงของผู้ป่วยโรคตับแข็งว่าต้องตรวจอะไรบ้าง ตั้งแต่การซักประวัติ การส่งตรวจแลป โดยจะมีค่าคะแนนความเสี่ยงรายการต่างๆ เพื่อพิจารณาก่อนการรักษา เช่น ค่าคะแนนความเสี่ยงเท่านี้ควรถอนฟันได้ไม่เกินกี่ซี่ หรือถ้าค่าความเสี่ยงบางรายการดูแย่ก็อาจชะลอการทำหัตการในช่องปากออกไปก่อนเพื่อรอให้ค่าตับดีขึ้น หรือในระหว่างการทำหัตการหากเกิดกรณีเลือดไหลไม่หยุดจะต้องปฏิบัติอย่างไร ใช้ยาตัวไหน รวมถึงแนวทางการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยหลังการรักษาฟัน ซึ่งทันตแพทย์สามารถนำบางส่วนในแนวปฏิบัติฯนี้ไปแนะนำแก่ผู้ป่วยได้
"แนวปฏิบัติฯนี้ได้รับการเห็นชอบจากณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขของ สปสช. แล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงของการประชาสัมพันธ์ โดยทาง สปสช.จะแจ้งฝ่ายทันตกรรมของโรงพยาบาลต่างๆ และทางทันตแพทยสภาจะได้แจ้งให้ทันตแพทย์ทราบ รวมถึงการอัพโหลดขึ้นเว็บไซต์ ซึ่งการมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนจะช่วยให้ทันตแพทย์มีแนวทางการรักษาไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและสร้างความปลอดภัยแก่ผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น" ทพ.ดร.ธงชัย กล่าว.