ทันตกรรมบนมาตรฐานใหม่ในบริบท COVID-19
ที่มา : แนวหน้า
แฟ้มภาพ
จากสถานการณ์การแพร่ ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ในประเทศไทย ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน มีแนวโน้มของที่ดีขึ้นเป็นลำดับ เห็นได้จากตัวเลขการรายงานพบผู้ป่วยติด เชื้อรายใหม่ลดลง ผู้ป่วยหลายราย สามารถรักษาหายและกลับบ้านได้เป็นจำนวนมาก และคาดว่าด้วยความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่าย วิกฤติครั้งนี้จะคลี่คลายในที่สุด
และในส่วนของทันตกรรม ที่ได้รับผลกระทบไม่น้อย จากสถานการณ์นี้ เนื่องจากความกังวลจะเกิดการติดเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อได้ง่าย ทำให้คนไข้ต่างประสบปัญหาสุขภาพช่องปากและฟัน จำนวนมาก ที่ไม่สามารถจะเข้าถึงการรักษาในช่วงเวลาที่ผ่านมา ยกเว้นกรณีเร่งด่วน ฉุกเฉิน เท่านั้น ดังนั้น เมื่อสถานการณ์การระบาด COVID-19 ถูกควบคุมได้ระดับหนึ่ง จึงน่าจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ทันตแพทย์จะได้เตรียมความพร้อมรับมือเพื่อความปลอดภัยทั้งแพทย์และคนไข้นั่นเอง
ทันตแพทย์ พิทักษ์ ไชยเจริญ สมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการสาธารณสุขวุฒิสภา กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมหลัง COVID-19 คลี่คลาย ว่าที่ผ่านมาในส่วนของการรักษาด้านทันตกรรมของประชาชน ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากการ ระบาดของโคโรนาไวรัส COVID-19 ทำให้มีการแนะนำเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโดยพยายามจำกัด การรักษาเฉพาะในกรณีเร่งด่วน ฉุกเฉิน ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากความกังวลถึงความสามารถการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา ที่เกิดการติดเชื้อและ การแพร่กระจายได้ง่าย เมื่อเทียบกับ การติดเชื้อโรค SARS ซึ่งเป็น ไวรัสสายพันธุ์เดียวกัน ตระกูล ไวรัสโคโรนาเช่นกัน
แต่ COVID-19 ทำให้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกปัจจุบัน ถึงสามล้านเศษ มากกว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโรค SARS (โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง ซาร์ส) ซึ่งการระบาดเกิดขึ้นช่วงปี 2545-46 การระบาดดำเนินไปประมาณ 6 เดือน ส่งผล ให้มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 8,000 คน เสียชีวิต 774 ราย แต่ด้วยความสามารถ ความเสียสละ และ ความมุ่งมั่นของบุคลากรทางการแพทย์ ทุกท่าน ในระบบสาธารณสุขไทย ก็ทำให้ สถานการณ์การระบาดที่รุนแรง ครั้งนี้ ดีขึ้นเป็นลำดับ
ดังนั้น เมื่อสถานการณ์การระบาด COVID-19 ถูกควบคุมได้ระดับหนึ่ง จึงน่าจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ทันตแพทย์ในทุกๆหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน ทันตแพทย์ คณะทันตแพทยศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยต่างๆ กลุ่มงาน ฝ่ายทันตกรรมในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทุกๆ ขนาด โดยเฉพาะในกระทรวงสาธารณสุขที่รับภาระหนัก ในภารกิจแก้ไขวิกฤติครั้งนี้จะต้องใช้เวลาอันมีค่าในช่วงจากนี้ในการมาร่วมกัน ประชุมหารือจัดระบบ กำหนดแนวทางปฏิบัติต่างๆ ที่จำเป็น ในการเตรียมพร้อมที่จะรองรับ การเข้ารับการรักษาด้านทันตกรรม เพื่อรักษาโรคฟันและช่องปาก ของประชาชน ที่ได้รับผลกระทบ เป็นวงกว้างในการจะเข้าถึงการรักษาด้านทันตกรรมในช่วงเวลาที่ผ่านมา
ความสำคัญอย่างที่สุดเรื่องหนึ่งที่จะทำให้ การกลับมาของการรักษาทางทันตกรรมให้มีความมั่นใจ ลดความกังวลจากปัญหา COVID-19 คือ "การคัดกรองอย่างเข้มข้นและมีประสิทธิภาพ"ก่อนคนไข้จะเข้าการรักษาทุกครั้ง ในการที่จะสามารถคัดกรองผู้ป่วย ที่สงสัยติดเชื้อ COVID-19 ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจำเป็นต้องแยกแผนการรักษาออกมาจากแผนการรักษาทั่วไป
ซึ่งหากพบคนไข้ทันตกรรม ที่เป็นผู้สงสัยติดเชื้อ COVID-19 มีความจำเป็นที่จะแยกผู้ป่วย เข้าสู่ ระบบขั้นตอนการรักษาโรคติดเชื้อจาก COVID-19 ของกระทรวง สาธารณสุขก่อน ด้วยเหตุของการประกาศของกระทรวงสาธารณสุขให้ COVID-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ลำดับที่ 14 ซึ่งหากมี ความจำเป็นฉุกเฉินด้านทันตกรรม ทันตแพทย์ก็จะต้องเข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีมแพทย์ ในการรักษาในกรณีคนไข้ที่สงสัยติด เชื้อ COVID-19 ในคนไข้คนนั้นๆ ซึ่งหากมีการคัดกรองอย่างเข้มข้น และมีประสิทธิภาพ การรักษาคนไข้ทันตกรรมที่ไม่มีความเสี่ยงติด เชื้อ COVID-19 ก็จะสามารถดำเนิน ได้ตามมาตรฐานปกติ ภายใต้ การป้องกันติดเชื้อและการรักษาตามมาตรฐานและปลอดภัยนอกจากนี้ ทันตแพทย์ พิทักษ์ ไชยเจริญ กล่าวว่า จากการ พูดคุยกับทันตแพทย์หลายๆ ท่านได้แนะนำประเด็นที่น่าพิจารณา เช่น
1.การวางแผนเรื่องการจัดการด้าน สถานที่ใหม่ อาทิ การจัดสถานที่ให้มีจุดคัดกรองขั้นต้นบริเวณที่กำหนดให้เป็นทางเข้าตามมาตรฐาน ทั้งตรวจอุณหภูมิ ซักประวัติตามแบบ ซักประวัติ ผู้เสี่ยงสงสัยติดเชื้อ COVID-19, ตรวจหาอาการที่อาจเกี่ยวข้อง ซึ่งต้องจัดเตรียมบุคลากรและ วัสดุอุปกรณ์ให้พร้อม-การจัดที่รับคิว การจัดที่นั่งรอใหม่มีระยะที่เหมาะสม ฯลฯ
2.การเพิ่มการคัดกรองซ้ำ และตรวจเช็คอุณหภูมิร่างกาย อีกครั้ง โดยทันตแพทย์ที่เก้าอี้ทันตกรรม ก่อนการรักษา(Double Check)
3.เคร่งครัดเรื่องการเตรียมคนไข้ ทุกคนทั้งก่อนและหลังรักษา เช่น ต้องป้วนน้ำยาป้วนปากฆ่าเชื้อก่อนและหลังทำการรักษา
4.เคร่งครัดเรื่องการเตรียมเก้าอี้ทำฟันทุกครั้งก่อนการรักษาหลังรักษาต้องมีการทำความสะอาด ฆ่าเชื้ออย่างเหมาะสมและ มีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจทำให้ต้องมีระยะเวลาทิ้งห่าง ที่จะต้องให้คนไข้ รอนานขึ้น ระหว่างการเตรียมเก้าอี้ฟัน สำหรับคนไข้คนต่อๆ ไปรวมถึงพื้นที่ทำงานส่วนอื่นๆ กำหนดมีการทำความสะอาดเป็นระยะ
5.ทันตแพทย์ บุคลากรทางทันตกรรม ต้องมีและใส่อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้ออย่างพอเพียง และเหมาะสมตามมาตรฐานทุกครั้ง ที่ปฏิบัติงาน
6.พิจารณา ในการจัดหา ชุด PPE, อุปกรณ์ป้องกันติดเชื้อ ไว้ภายในหน่วยบริการ กรณีสงสัยพบผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อ COVID-19 ณ จุดคัดกรอง
7.ซักซ้อมการใช้งานอย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ
8.หน่วยงานทันตกรรมต่างๆ โดยเฉพาะที่มีผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการ เช่น คณะทันตแพทย์ศาสตร์ในมหาวิทยาลัย กระทรวงสาธารณสุขร่วมกันตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษา ผลกระทบของฝอยละอองที่เกิดจากการใช้เครื่องมือทันตกรรมทุกประเภท เช่น ฝอย ละอองจากการอุดฟัน ขูดหินปูน และหัตถการอื่นๆ ในทุกมิติ และศึกษาวิจัยอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ อิงหลักวิชาการ ถึงประโยชน์ กับ ผลกระทบอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เครื่องดูดฝอยละอองแรงสูงในห้องรักษาทันตกรรม จากกรวยดูดที่มีลักษณะ ทิศทางการใช้งานที่แตกต่างกันในทุกมิติ เพื่อหา ข้อสรุปที่เกิดประโยชน์สูงสุด ทางวิชาการ ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ และสามารถ นำมาเพื่อพิจารณาใช้ในการทำงานหรือไม่อย่างเหมาะสมต่อไป
ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อเป็นการพัฒนา การรักษาการจัดการด้านทันตกรรม โดยเฉพาะ การป้องกันการติดเชื้อ จากโรคต่างๆ และเป็นการสร้าง ความมั่นใจและความพร้อมของ บุคลากรทุกคนหากสถานการณ์ การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา COVID-19 ยังไม่ยุติโดยง่าย เนื่องจากเป็นการระบาดทั่วโลก และเตรียมความพร้อมรับมือหาก มีอุบัติการณ์โรคระบาดอื่นๆ ขึ้นมา