ทักษะอาชีพ และการมีงานทำ

เวทีเศรษฐกิจโลก world economic forum (wef) รายงานขีดความสามารถในการแข่งขันด้านคุณภาพการศึกษา ปี 2556-2557 ในกลุ่ม 10 ประเทศอาเซียน ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 8 ของอาเซียน สร้างความสั่นไหวต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผลการจัดลำดับการศึกษาของ wef เป็นอย่างมาก ซึ่งอาจจะเร็วเกินไปกับการด่วนสรุปผลดังกล่าว เพราะขณะนี้ กระทรวงศึกษาธิการกำลังอยู่ระหว่างการปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานจาก 8 กลุ่มสาระ เป็น 6 กลุ่มความรู้ที่เน้นทักษะอาชีพ เพื่อหวังให้เด็กนอกจากมีความรู้แล้ว ยังมีทักษะในการดำรงชีวิตด้วย นี่คือโจทย์การศึกษาใหม่ที่ต้องการปรับให้เหมาะสมกับความต้องการของเด็ก และการศึกษาในศตวรรษที่ 21

เฉกเช่นเดียวกับหน่วยงานทางการศึกษาอย่าง สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ที่ทำการศึกษาวิเคราะห์ผลการจัดการศึกษาของประเทศ แล้วพบว่า เด็กที่เรียนจบระดับอุดมศึกษามีเพียง 10% เท่านั้นที่ได้งานทำตามสาขาที่จบ และมีจำนวนเด็กที่ตกงานในแต่ละปีสูงถึง 200,000 คน ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาด้านวิชาการ สสค. ได้เผยถึงผลการจัดลำดับคุณภาพการศึกษาของ wef ที่ออกมาว่า ในความจริงแล้วก็น่าจะเป็นเหมือนกันทั่วโลก หลายประเทศยอมจำนน เพราะไปต่อไม่ไหวที่จะปฏิรูปการศึกษาขนานใหญ่ โดยความคิดและทิศทางไปในทางเดียวกัน คือ ภาครัฐไม่จัดการศึกษาตัวคนเดียว แต่หันไปดึงภาคเอกชน ชุมชน ท้องถิ่นเข้ามาช่วยจัดการศึกษา

เหมือนกับครั้งนี้ ที่ สสค. ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงไปให้การสนับสนุนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เชียงใหม่ เขต 2 กล้ารุกขึ้นมาเป็นขุนพลในพื้นที่ปิดตำรา เปิดหลักสูตร สู่การมีงานทำ เพราะบริบทของพื้นที่ไม่เอื้ออำนวย ดังนั้น การจัดการเรียนการสอนโดยเน้นวิชาการอย่างเดียว จึงไม่ประสบความสำเร็จ จึงเป็นที่มาของ 9 โรงเรียนที่ได้บรรจุหลักสูตรทักษะอาชีพ เข้าไปในการเรียนการสอนแล้ว จาก 30 โรงเรียนนำร่อง ใน 157 โรงเรียนทั่วทั้งเขตพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีการปรับเขตพื้นที่การศึกษาให้เป็น “สหกรณ์ศูนย์การแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์ฝีมือนักเรียน” เพื่อเป็นตัวกลางเชื่อมโยงสินค้าและบริการจากนักเรียนเชื่อมต่อภาคธุรกิจ

“โจทย์ใหม่ที่ท้าทาย หากจะงัดตนเองขึ้นมาจากลำดับ 8 ในอาเซียน คงต้องเน้นเรื่องทักษะชีวิต และการมีงานทำ เข้าสู่โลกของการทำงานจริงๆ แต่หลายคนคิดว่าจะเป็นการทำให้โรงเรียนไปแย่งการจัดการศึกษาของอาชีวะ ซึ่งไม่ใช่และมันตรงกันข้าม เพราะเราจะทำให้เด็กเรียนอาชีวะศึกษามากขึ้น เมื่อเด็กรู้ว่าเท่ห์กว่าเยอะที่จบออกมาแล้วมีงานทำ ดีกว่าเส้นทางที่จะมุ่งหน้าเข้าสู่มหาวิทยาลัย ซึ่งมีเด็ก 40% จบการศึกษา แต่มีเพียง 10% เท่านั้นได้งานที่มีคุณค่าตามสาขาที่จบ และมีเด็กตกงานอีกปีละ 200,000 คน  ค้านกับความต้องการของภาคเอกชน อุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานจำนวนมาก ดังนั้นจึงเป็นที่มาว่าทำไมภาครัฐจึงหยุดจัดการศึกษาเพียงตัวคนเดียว แต่หันมาให้อำนาจแก่พื้นที่ ด้วยการสร้างขุนพลน้อยๆ คือ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียน โดยดึงภาคเอกชน ท้องถิ่น ชุมชนขึ้นมาช่วยกันจัดการศึกษา ซึ่งเป็นการจัดการในระดับพื้นที่ เพราะต่อไปนี้เชื่อว่าประชาชนคนไทยไม่อยากฟังความต่ำต้อยในการจัดการศึกษาของไทยอีกแล้ว เมื่อเรามีการริเริ่มที่ดีแล้ว จึงอยากให้ตีแผ่ให้กว้างมากขึ้น”

ดร.อมรวิชช์ กล่าวอีกว่า การจัดการศึกษาที่ดีไม่ใช่เรื่องลึกลับ อธิบายอย่างง่ายและเข้าใจ คือเหมือนการวิ่งผลัด 4 คูณ100 เมตร เช่น ไม้ผลัดแรกการจัดการศึกษาปฐมวัย แรกเกิดถึง 3 ปี พบว่าพัฒนาการสมองและการเรียนรู้ของเด็กล่าช้าสูงถึง31 % เพราะปัญหาแม่วัยรุ่น เด็กถูกทิ้งให้อยู่กับ ปู่ย่า ตายาย ส่งผลให้การพูด การเดินช้าลง เห็นชัดว่าไม้ผลัดแรกยังทำได้ไม่ดี ไม่ผลัดที่ 2 การศึกษาขั้นพื้นฐาน 9 ปี ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาแบบกรอบเดียว วัดผลสัมฤทธิ์ด้วยตัวชี้วัดที่ไม่สอดคล้องกับบริบทการเรียน และมุ่งให้เด็กสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่พื้นฐานแค่การอ่านออก เขียนได้ เด็กยังทำไม่ได้ทำให้เด็กจำนวน 35% หลุดออกจากระบบการศึกษา ดังนั้น การจัดศึกษาที่ดีไม่ใช่เรื่องฟลุ๊ก ต้องตอบโจทย์ชีวิตของเด็กและโลกของงานให้ได้

ด้านสินอาจ ลำพูนพงศ์ ผู้อำนวยการ สพป.เชียงใหม่ เขต 2 กล่าวว่า การรุกขึ้นมาปรับหลักสูตรให้เอื้อต่อการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านอาชีพ เนื่องจากโรงเรียนในสังกัดของ สพป.เชียงใหม่ เขต 2 อยู่ในพื้นที่สูงมีเด็กชนเผ่าจำนวนมาก การจัดการเรียนการสอนโดยเน้นวิชาการอย่างเดียว ไม่ประสบความสำเร็จ และเป็นการสูญเปล่าของการจัดการเรียนการสอน ถ้าเด็กออกจากระบบการศึกษาไปแล้ว แต่ไม่มีอะไรติดไม้ติดมือออกไปเลย ดังนั้น เป็นหน้าที่ของเขตพื้นที่การศึกษาโดยตรงที่ต้องส่งเสริมและจัดการให้เป็นระบบ โดยร่วมมือกับชุมชน ท้องถิ่น เครือข่ายภาคธุรกิจช่วยกันคิด พัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้โดยการปฏิบัติจริง ซึ่งเห็นชัดเจนว่าเด็กพอใจ เรียนอย่างมีความสุข โดยเฉพาะกลุ่มที่ไปต่อไม่ได้ เมื่อมาเรียนในสิ่งที่ใกล้ตัวก็หันมาให้ความสนใจมากขึ้น เพราะการเรียนโดยการลงมือปฏิบัติเป็นตัวช่วยในการเรียนรู้ที่ถูกหลักการ เป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ทั้งการชั่ง ตวง วัด เศษส่วน ทำให้เด็กเข้าใจได้ดีขึ้นมากกว่าการสอนบนกระดาน จึงเป็นการสะท้อนผลดีไปสู่การเรียนในสาระวิชาปกติ เพียงครูจับหลักวิธีการสอนได้ถูกทาง ความสำเร็จที่เกิดขึ้นพบว่าอัตราการเรียนต่อจาก 0 % กลายเป็น  100 %

ณรงค์ อภัยใจ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเมืองกื้ด หนึ่งในโรงเรียนนำร่องที่ใช้ “อาชีพ” เป็นตัวดึงเด็กกลับเข้าห้อง และสร้างรายได้ระหว่างเรียนมากว่า 5 ปีสะท้อนว่า การสร้างเครือข่ายเพื่อการสอนทักษะอาชีพให้แก่เด็กเป็นสิ่งสำคัญมาก ตั้งแต่เครือข่ายระหว่างโรงเรียนกับโรงเรียน สถานประกอบการ วิทยาลัยอาชีวศึกษาในท้องถิ่น โดยเฉพาะการปลดล๊อกกติกา หรือกฎกระทรวงบางประการที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดกิจกรรมด้านทักษะอาชีพในโรงเรียน เพื่อฝึกทักษะได้อย่างครบวงจร เหมือนสถานประกอบการเต็มรูปแบบได้ ทั้งการบริหารจัดการ งบประมาณ และรูปแบบการประเมินที่ควรวัดคนมากกว่าวัดผล

อย่างไรก็ดี ดร.รังสรรค์ วิบูลย์อุปถัมภ์ หัวหน้าฝ่ายการศึกษาองค์กรยูนิเซฟ ประเทศไทย ยังเสริมว่า การศึกษาเพื่อการสร้างทักษะวิชาชีพนั้น ต้องไม่ละเลย “ความสำคัญของวิชาสามัญ” ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการเรียนรู้ เพราะการสร้างทักษะให้เกิดกับผู้เรียนมีหลายระดับ ทั้งทักษะพื้นฐาน ทักษะการประยุกต์ และทักษะวิชาชีพ เพราะหากฐานรากไม่แข็งแรงแล้ว ก็ยากจะให้เด็กเยาวชนสามารถคิดต่อยอดเองได้

ขณะที่ คุณหญิง กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ในฐานะประธาน เผยว่า เป็นความสุขใจที่สะท้อนให้เห็นภาพความสุขของเด็กๆ ผ่านกระบวนการปฏิบัติ การเรียนวิชาชีพในโรงเรียน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการสอนวิชาชีพในโรงเรียนนั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ความสำคัญอยู่ที่กระบวน วิธีการสอน ซึ่งการที่เขตพื้นที่การศึกษาได้สร้างเครือข่ายผู้นำการเรียนรู้สู่ทักษะชีวิต และโลกของงาน ด้วยการเชิญผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความเห็น บูรณาการเรียนการสอนร่วมกัน เพื่อให้เด็กเกิดทักษะ ช่วยกันพัฒนาการศึกษาของชาติ เพื่อช่วยกันเลื่อนระดับการศึกษาให้สูงขึ้น อีกทั้ง เห็นความกระตือรือร้น ความตั้งใจที่จะสานต่อของคนในพื้นที่ ซึ่งการทำงานมีความก้าวหน้า แต่ถ้าจะก้าวไปไกลว่านี้ ทุกคนก็ต้องร่วมกันผลักดัน โดยมีโจทย์ที่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบ แต่อยากจะฝากไว้กับการศึกษาไทย เช่น ประเด็นกรณีศึกษาเรื่องไอโฟนที่ออกมาใหม่ในแต่ละรุ่น หากถามเด็กเวียดนาม เขาจะอยากรู้ทันทีว่าโรงงานที่ผลิตจะมาตั้งในประเทศของเขาหรือไม่ ส่วนเด็กสิงคโปร์ถามว่าเขาจะมีโอกาสเขียนแอพพลิเคชั่นตัวใหม่หรือไม่ ส่วนเด็กไทยถามว่าจะผลิตออกมาเมื่อไร จะได้ไปซื้อ สะท้อนอะไรบางอย่างที่ขาดหายไปจากการเรียนการสอน ทำอย่างไรที่จะทำให้เด็กไทยคิดใหม่ได้

เมื่อโจทย์การศึกษาเปลี่ยนไป ทุกฝ่ายจำเป็นต้องหันกลับมาช่วยสร้างจุดต่างที่ตรงใจผู้เรียนและตอบโจทย์ชีวิตของคนในท้องถิ่น

 

 

 ที่มา : สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) 

Shares:
QR Code :
QR Code