ทักษะชีวิต-สุขภาวะทางเพศ ‘จำเป็น’ ต่อวัยรุ่นไทย

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน


ภาพโดย สสส.


ทักษะชีวิต-สุขภาวะทางเพศ 'จำเป็น' ต่อวัยรุ่นไทย thaihealth


เวทีประชุมเรื่อง "ทักษะชีวิตและสุขภาวะทางเพศของวัยรุ่น" เป็นอีกหัวข้อที่น่าสนใจในงานประชุมระดับชาติ สุขภาวะทางเพศ ครั้งที่ 3 ภายใต้แนวคิด "การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น : จากยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติอย่างยั่งยืน"


จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงแรงงาน และกระทรวงมหาดไทย (มท.) ร่วมกับเครือข่าย 19 องค์กร ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงแรมเซ็นทราบายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเว็นชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร โดยเวทีดังกล่าวมีวิทยากรจากหลายองค์กรร่วมบรรยาย


นายปริญญา มอญเก่า ที่ปรึกษาสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทักษะชีวิตเป็นสิ่งจำเป็นต่อสุขภาวะทางเพศของวัยรุ่น โดยพบว่าวัยรุ่นที่เริ่มทำงานเร็วและเด็กกลุ่มเสี่ยงจะมีภูมิคุ้มกันมากกว่าวัยรุ่นกลุ่มอื่นด้วยประสบการณ์และทักษะการเอาตัวรอดสำหรับสุขภาวะทางเพศในวัยรุ่น อยากให้วัยรุ่นเปลี่ยนมุมมองและแนวคิด มองเรื่องเพศให้เป็นเรื่องใกล้ตัว เพื่อเตรียมความป้องกันและพร้อมรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ หากวัยรุ่นมองเป็นเรื่องไกลตัวจะทำให้รู้สึกว่าปัญหาเรื่องเพศจะไม่เกิดขึ้นกับตัวเอง และเมื่อเกิดปัญหาขึ้นเด็กจะรับมือและจัดการกับปัญหาได้ยาก รวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครองต้องมีความเข้าใจลูกวัยรุ่น ซึ่งวัยรุ่นปัจจุบันมีความต่างจากยุคสมัยที่ผ่านมา ทั้งนี้ ยังคงมองว่าการนำประเพณีและวัฒนธรรมไทยมาปรับใช้กับสถานการณ์ปัจจุบันยังคงเป็นเรื่องดี ส่วนพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 โดยทางทฤษฎีแน่นอนย่อมเกิดความเปลี่ยนแปลง แต่ในทางปฏิบัติกลับเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะประเด็นการห้ามไล่เด็กตั้งครรภ์ออกจากสถานศึกษา


ทักษะชีวิต-สุขภาวะทางเพศ 'จำเป็น' ต่อวัยรุ่นไทย thaihealth


นายรุสลัน ไซซิง รองอุปนายกส่วนภูมิภาค สภานิสิตนักศึกษาไทยมุสลิม นักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า เด็กในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แตกต่างกับเด็กในพื้นที่อื่น เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความพิเศษของอัตลักษณ์ ภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม ระหว่างชาวไทยพุทธและไทยมุสลิม กลุ่มวัยรุ่นชาวไทยพุทธยังมีความคล้ายคลึงกับพื้นที่อื่น แต่วัยรุ่นไทยมุสลิมค่อนข้างแตกต่าง โดยเด็กจะได้รับการปลูกฝังทักษะชีวิตตั้งแต่วัยเด็กผ่านโรงเรียนสอนศาสนาและศึกษาต่อระดับมัธยมในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามที่เรียนควบคู่กับหลักสูตรสามัญทั่วไป ทำให้การสุขภาวะวัยรุ่นในพื้นที่ดำเนินตามสภาพบริบททางสังคม เนื่องจากลักษณะพื้นที่มีความพิเศษ บทเรียนในรายวิชาสุขศึกษาตามหลักสูตรขั้นพื้นฐาน โดย ศธ.ไม่สอดคล้องกับบริบททางสังคมของเด็กในพื้นที่ 3 จังหวัด ตลอดจนเนื้อหาใน พ.ร.บ.แก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นฯ เช่น ความเข้าใจในการขลิบอวัยวะเพศชาย การสวมถุงยางอนามัย เป็นต้น


"จึงอยากเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประยุกต์และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานพื้นที่ เช่น สำนักจุฬาราชมนตรี สำนักงานอิสลามกลางประจำจังหวัด เป็นต้น เพื่อคำนึงถึงความแตกต่างด้านพหุวัฒนธรรม ขณะที่ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมของวัยรุ่นในพื้นที่ต้องเป็นแนวทางการป้องกันมากกว่าการแก้ไข" นายรุสลันกล่าว และว่า ส่วนประเด็นการสวมถุงยางอนามัยเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในพื้นที่เกี่ยวข้องกับหลักศาสนา แม้มีข้อระเบียบหรือข้อบัญญัติระบุว่าการสวมถุงเป็นการแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ แต่สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดนั้น กลับไม่เห็นด้วยในการใช้ถุงยางกรณีที่ยังไม่มีคู่สมรสหรือเป็นสามีภรรยากัน เนื่องจากมีความเห็นว่าเป็นการยุยง ส่งเสริม และสนับสนุนให้วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์มากขึ้น แต่กรณีที่มีคู่แต่งงานสามารถใช้ได้ เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์และจำกัดการมีบุตร โดยที่ฝ่ายชายต้องได้รับอนุญาตจากภรรยา


ทักษะชีวิต-สุขภาวะทางเพศ 'จำเป็น' ต่อวัยรุ่นไทย thaihealth


นายพงษ์พันธ์ แก้วศิลา ประธานกลุ่มเยาวชนจิตอาสาบ้านเกิดท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า กลุ่มเยาวชนเน้นทำกิจกรรมด้านวัฒนธรรม โดยพยายามสอดแทรกเนื้อหาเพศวิถีและสุขภาพทางเพศ ซึ่งบูรณาการร่วมกับวัดและโรงเรียนในการขยายการเรียนรู้ผ่านเครือข่ายเด็กในกลุ่มเยาวชน ส่วนทักษะชีวิตวัยรุ่นในพื้นที่ภาคอีสานแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกัน โดยเห็นว่าเด็กจำเป็นต้องมีทักษะชีวิต ที่ผ่านมา สภาเด็กฯ ได้สนับสนุนโครงการด้านสุขภาวะเรื่องเพศ มี สสส.เป็นผู้สนับสนุน พร้อมให้พ่อแม่และผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมโครงการ เพื่อให้เด็กรู้สึกว่าเรื่องเพศไม่ใช่เรื่องน่าอาย สามารถพูดคุยกับคนในครอบครัวได้ เช่น การใช้ถุงยางอนามัย การมีประจำเดือน การมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น โดยพ่อแม่ต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้ร่วมพูดคุยและคอยรับฟัง รวมทั้งขยายเครือข่ายเด็กบูรณาการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการจัดตั้งคณะกรรมการคุ้มครองเด็กในชุมชน


นายพงษ์พันธ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีโครงการเอดส์และอนามัยเจริญพันธุ์ในทุกพื้นที่อำเภอของ จ.กาฬสินธุ์ โครงการไม่ดื่ม ไม่เสพ ไม่พร้อม และเตรียมขยายผลโครงการสุขภาพเรื่องเพศเชิงบวก เพื่อสร้างสุขภาวะทางเพศของวัยรุ่นในพื้นที่ โดยโครงการมีผลสำเร็จในการสร้างความตระหนักรู้ ร้อยละ 50-60


ทักษะชีวิต-สุขภาวะทางเพศ 'จำเป็น' ต่อวัยรุ่นไทย thaihealth


น.ส.ศรัญญา กาตะโล ผู้ประสานงานสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย ปัจจุบันทำงานร่วมกับกลุ่มเด็กและเยาวชน 19 ชาติพันธุ์ทั่วประเทศ กล่าวว่า ทักษะชีวิตเรื่องเพศมีความสำคัญมากต่อกลุ่มชาติพันธุ์ โดยแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์เป็นพหุวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายและบริบทสังคมต่างกัน ทำให้การสร้างความตระหนักรู้ในวัยรุ่นจำเป็นต้องใช้เวลา เช่น ปัญหาการตั้งครรภ์ การป้องกันทำให้มีลูกหลายคน ฯลฯ โดยสาเหตุหลักของปัญหาเรื่องเพศของวัยรุ่นในกลุ่มชาติพันธุ์ยังเกี่ยวข้องกับประเพณีวัฒนธรรม การเข้าถึงการศึกษาและปัญหาคนไร้สัญชาติ ทำให้ไม่สามารถเข้ารับบริการหน่วยงานรัฐ สำหรับประเพณีการบังคับแต่งงานของกลุ่มชาติพันธุ์ปัจจุบันไม่พบในไทย แต่ยังคงพบในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งที่ผ่านมาสมาคมฯ ร่วมขับเคลื่อนงานด้านสุขภาวะผ่านเครือข่ายเด็ก โดยให้การสนับสนุนเด็กระดมคิดโครงการ แผนงานหรือกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมนำมาสู่การปฏิบัติจริง


"วัยรุ่นควรมีบทบาทอย่างไรในการจัดการเรื่องสุขภาวะทางเพศ เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่เข้าถึงคนทุกกลุ่มได้ง่าย แต่การเข้าถึงเนื้อหาที่ถูกต้องจะต้องมีวิธีการเรียนรู้ โดยการสร้างให้เด็กมีความรู้ เท่าถึงสื่อ" น.ส.ศรัญญากล่าว


ทักษะชีวิต-สุขภาวะทางเพศ 'จำเป็น' ต่อวัยรุ่นไทย thaihealth


นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานคณะกรรมการ สสส.คนที่ 2 กล่าวว่า ข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุมจะนำไปประมวลผล สังเคราะห์ และนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปปรับปรุงพัฒนานโยบายและมาตรการในภาพรวมของประเทศให้มีความเหมาะสม โดย สสส.ยังคงมีบทบาทในการสนับสนุนและทำงานร่วมกับหน่วยงานหลัก รวมถึงองค์กรและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมการบูรณาการทำงานทุกระดับ สนับสนุนการจัดการความรู้เพื่อนำไปเสนอแนะในการยกระดับการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ.2560-2569 ให้สามารถบรรลุเป้าหมายลดอัตราตั้งครรภ์ในวัยรุ่นลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2569


ขณะนี้ อัตราการคลอดของแม่วัยรุ่นอายุ 15-19 ปี มีแนวโน้มลดลง จากเคยมีอัตราสูงสุดถึง 53.4 ต่อ 1,000 ในปี 2554-2555 ล่าสุดลดลงเหลือ 39 ต่อ 1,000 ในปี 2560 ซึ่งกรณีท้องไม่พร้อมในวัยรุ่นยังเป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไข

Shares:
QR Code :
QR Code