ทศวรรษฉลาดทำบุญด้วย `จิตอาสา`

"ทำบุญ" ตามความคุ้นชินของคนทั่วไป มักเข้าใจกันว่า ต้องเป็นการทำทานด้วยข้าวของเงินทอง และต้องทำกับพระสงฆ์เท่านั้น ความจริงการทำบุญตามหลักพระพุทธศาสนาไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเท่านี้ หากยังต้องรวมถึงการเสียสละเวลา ความรู้ความสามารถ ความเอื้ออาทร ให้แก่ผู้อื่น อย่างการเป็น "จิตอาสา" ก็เป็นช่องทางการทำบุญที่ดีมากอีกวิธีหนึ่ง


ทศวรรษฉลาดทำบุญด้วย 'จิตอาสา' thaihealth


แฟ้มภาพ


กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ มูลนิธิสุขภาพไทย สหทัยมูลนิธิ เครือข่ายพุทธิกา กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรม "โลก (จิต) อาสา : ทศวรรษฉลาดทำบุญ กับคุณค่าต่อสังคม" ในโอกาสครบรอบ 10 ปี ฉลาดทำบุญ อาสาสมัครสร้างสุขให้เด็กในสถานสงเคราะห์


พระไพศาล วิสาโล ประธานเครือข่ายพุทธิกา เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต กล่าวในหัวข้อเสวนา "ทศวรรษฉลาดทำบุญ กับคุณค่าที่มีต่อสังคม" ว่า เมื่อย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว คำว่า "จิตอาสา" ยังไม่มีคนรู้จัก แต่ในปัจจุบันคำนี้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย และมีผู้ที่สนใจเป็นจิตอาสาเพิ่มขึ้น ถือเป็นนิมิตดี เพราะเป็นการสร้างค่านิยมใหม่ให้กับสังคมว่า ความสุขเกิดจากการให้ การเสียสละ ไม่ได้เกิดจากการอยากมีอยากได้ อย่างที่สังคมบริโภคนิยมพยายามที่จะกระตุ้น


พระไพศาล กล่าวต่อว่า การเป็นจิตอาสาจะต้องมีจิตใจที่เข้มแข็ง มีใจที่อุทิศตน มีความมั่นใจ และมีความสุขในสิ่งที่ทำ สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวหล่อเลี้ยงให้สามารถทำสิ่งที่ดีงามอย่างยั่งยืนได้ นอกจากนี้ การเป็นจิตอาสายังสามารถที่จะก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนในเชิงนโยบายหรือกฎหมายได้ เช่น การรณรงค์ให้มีสถานที่เอื้อเฟื้อต่อคนพิการ ไม่ทำร้ายทารุณกรรมสัตว์ เป็นต้น ถือว่าเป็นการผลักดันให้สังคมมีความเป็นธรรมมากขึ้น ทั้งนี้การเคลื่อนไหวจิตอาสาในรูปแบบนี้ยังมีอยู่น้อย


"อนาคตข้างหน้าอยากจะเห็นจิตอาสาเพิ่มพูนและมีความหลากหลายมากขึ้น และทำให้คนรู้สึกว่าการทำบุญกับการเป็นจิตอาสาเป็นเรื่องเดียวกัน ปัจจุบันคนไทยเข้าวัดเยอะ แต่พอเข้าไปก็เพียงแต่ไปทำบุญ ปฏิบัติธรรม แต่ลืมนึกไปว่าการทศวรรษฉลาดทำบุญด้วย 'จิตอาสา' thaihealthปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่งที่ไม่ควรพลาดก็คือ การเป็นจิตอาสา แล้วเราจะทำอย่างไรให้การเป็นจิตอาสาเป็นส่วนหนึ่งของการทำบุญ คือ ไม่ใช่การทำบุญเฉพาะกับพระสงฆ์ที่วัด" พระไพศาล ได้ฝากแนวคิดไว้


ด้าน ร้อยตำรวจตรี วิชัย สุริยุทธ หรือ ลุงวิชัยนักปลูกต้นไม้คนต้นแบบจิตอาสาที่ปลูกต้นไม้ 2 ล้านต้น เมื่อราวสิบปีที่แล้วได้โด่งดังจากการออกไปปลูกต้นไม้ตามที่รกร้างที่ว่างสาธารณะ ทุก ๆ วัน เริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2531 ปลูกเรื่อยมานับสิบกว่าปี จนช่วยพลิกพื้นดินแห้งแล้งของ อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ ที่ขึ้นชื่อว่ากันดารและจนที่สุดในประเทศ ให้กลายเป็นอำเภอที่ร่ำรวยต้นไม้ ลุงวิชัยมุ่งมั่นปลูกต้นไม้อย่างไม่เคยย่อท้อ พร้อมก้าวผ่านกระแสคำวิจารณ์ต่าง ๆ ที่คนอื่นมองว่าทำในสิ่งที่แปลกผิดปกติไปจากคนทั่วไป โดยยึดอุดมการณ์ 3 ข้อ เป็นเป้าหมายในการดำเนินชีวิตและปฏิบัติเพื่อสังคมตลอดมา ข้อแรกคือ พึ่งตนเองอย่างมีศักดิ์ศรี โดยไม่เบียดเบียนใคร ข้อสอง มีความขยันอย่างฉลาดและปราศจากอบายมุข และข้อสาม เมื่อเห็นเพื่อนบ้านเป็นทุกข์ เป็นภารกิจที่เราต้องร่วมกันแก้ไขเพราะถ้าเรามีเพื่อนบ้านที่ดี บ้านก็ไม่จำเป็นต้องมีรั้วบ้าน แล้วเราก็จะมีความเข้มแข็ง


"การปลูกต้นไม้ไม่ได้เป็นการลงทุนมากมาย แต่เป็นการลง แรงลงใจ ถือเป็นการทำบุญที่ถูกต้องที่สุด เพราะเป็นสิ่งที่ยั่งยืน เป็นมรดกไปถึงลูกหลาน ช่วงแรกที่ปลูกต้นไม้คนอื่นก็มองว่าแปลกผิดปกติทำไปแล้วไม่น่าเกิดผล เราต้องวางทศวรรษฉลาดทำบุญด้วย 'จิตอาสา' thaihealthเฉยปล่อยวาง การทำความดีไม่ต้องเครียด ทำงานทุกอย่างมันต้องมีอุปสรรค และพิจารณาว่าสิ่งไหนที่จริง ก็เอาคำติฉินนินทานั้นมาแก้ไขพัฒนาตัวเราเอง ถือว่าเค้าเป็นครูคนหนึ่ง แต่ที่สำคัญต้องไม่ท้อแท้ในการทำความดี" ลุงวิชัย เล่า


นายชัชวาล อุดมลาภ หรือ บอล อายุ 22 ปี มหาวิทยาลัยหอการค้า จิตอาสาหน้าใหม่ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทำผ้าห่มให้น้องคลายหนาว เพื่อนำไปมอบให้กับเด็ก ๆ ในสถานสงเคราะห์ ได้เล่าว่า ก่อนหน้านั้นยังไม่เคยเป็นจิตอาสามาก่อน การมาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้เป็นเรื่องที่ดี ทำให้ได้เจอเพื่อนที่มีแนวคิดเป็นจิตอาสาเหมือนกัน ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เหมือนเป็นการสร้างแรงบันดาลใจผลักดันในการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม


การเป็น "จิตอาสา" นอกจากจะได้ทำบุญแล้ว ยังลดละความยึดมั่นถือมั่นในตน ซึ่งในบางครั้งสิ่งที่เราได้รับกลับคืนมา อาจเป็นคุณค่าทางใจอย่างมหาศาลก็ได้


 


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ

Shares:
QR Code :
QR Code