“ทต.ปริก”สร้างความเข้มแข็งสู่ชุมชน
ร่วมฝ่าวิกฤติอุทกภัย ด้วยพลังชุมชน
“ภัยพิบัติ” ทางธรรมชาติ เป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นและประสบพบเจอ เนื่องจากจะก่อให้เกิดความเสียหาย ทั้งในชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะ อุทกภัย ดินถล่ม และน้ำป่าไหลหลาก ที่ล่าสุดได้สร้างความเสียหายให้กับพี่น้องประชาชนชาวไทยในหลายพื้นที่ เหมือนอย่างเช่นที่เทศบาลตำบล (ทต.) ปริก อ.สะเดา จ.สงขลา ที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก
นายสุริยา ยีขุน นายกเทศมนตรีตำบลปริก กล่าวว่า ทต.ปริกเป็นเทศบาลที่มีขนาดเล็กก็จริง แต่ก็ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนับว่ารุนแรงมากในรอบหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งหากจะประเมินค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว จะอยู่ที่ประมาณ 33 ล้านบาท เพราะในเขตพื้นที่รับผิดชอบของ ทต.ปริกมีทั้งหมด 7 ชุมชน ถูกน้ำท่วมไปกว่า 6 ชุมชน เหลือเพียง 1 ชุมชนเท่านั้น ที่ไม่ถูกน้ำท่วม คือที่ชุมชนตลาดปริก โดยในบางจุดน้ำท่วมสูงถึง 3 เมตร ทำให้ถนนโดยรอบชุมชนถูกตัดขาด ทต.ปริกจึงถูกตัดขาดจากโลกภายนอกโดยสิ้นเชิง
“ฉะนั้น การขอรับการช่วยเหลือจากภายนอก จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่ก็เป็นความโชคดีของชาวปริกอย่างมาก เนื่องจากที่ผ่านมา ได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในเครือข่ายตำบลสุขภาวะ กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงทำให้ภายในชุมชนมีการติดต่อประสานงานกันอย่างดี ตรงจุดนี้เองจึงทำให้ทางเทศบาลใช้เป็นจุดแข็งในการดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อน เพราะการประสานงานนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมากในการเข้าไปให้การช่วยเหลือ” นายสุริยา กล่าว
นายสุริยา ได้เล่าต่ออีกว่า เทศบาลได้ตั้งจุดศูนย์กลางในการประสานงานไว้ที่ชุมชนตลาดปริก เนื่องจากเป็นเพียงชุมชนเดียวที่ไม่ถูกน้ำท่วมขัง จากนั้นก็ได้ส่งทีมกวาด (ทีมที่ส่งเข้าไปแก้ไขปัญหาในเชิงรุก) ที่ประกอบไปด้วยสมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) กรรมการชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ลงไปในพื้นที่เข้าไปช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน เพราะไฟฟ้าดับนานติดต่อกันถึง 4 วัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค. – 3.พ.ย. 53 ซึ่งนอกจากจะให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้ว ทีมกวาดยังได้ลำเลียงผู้ประสบภัยออกมาจากพื้นที่ประมาณ 300 – 400 ครัวเรือน ให้มาอาศัยอยู่ที่โรงเรียน ทต.ปริก, โรงเรียนบ้านปริก และอาคารของเทศบาลชั่วคราว และได้จัดหาข้าวปลาอาหารให้เสร็จสรรพ โดยให้พี่น้องที่มาอยู่อาศัยผลัดเวรกันประกอบอาหาร ตรงจุดนี้นับเป็นจุดแข็งอีกหนึ่งเรื่องของท้องถิ่น ที่เมื่อได้รับความเดือดร้อนแล้ว เราสามารถช่วยเหลือกันเองได้ในเบื้องต้น เพื่อบรรเทาปัญหาที่ประสบอยู่ให้เบาบางลง
นายกเทศมนตรีตำบลปริก กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ในข้อดีของการมีเครือข่ายตำบลสุขภาวะอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า เราสามารถติดต่อประสานงานกับ อปท.ที่เข้าร่วมเครือข่ายได้เป็นอย่างดี เพราะเราได้ติดต่อประสานงานกันเป็นประจำอยู่แล้ว โดย อปท.ใกล้เคียงที่สามารถส่งความช่วยเหลือเข้ามาในพื้นที่ได้ ก็ทำงานอย่างเต็มศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นการส่งข้าวปลาอาหารแห้ง เรือ ยารักษาโรค และข้าวของเครื่องใช้ที่มีความจำเป็น รวมถึงเจ้าหน้าที่กู้ภัยในบางส่วน ส่วน อปท.ที่อยู่ห่างไกล ก็คอยให้กำลังใจอยู่เสมอ อีกทั้งยังได้มีการเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาเข้ามาอภิปรายร่วมกันด้วย จะเห็นว่าเราทำงานกันเป็นทีม ช่วยเหลือกันเป็นเครือข่าย สิ่งเหล่านี้มันทำให้เราเห็นว่า พลังในการแก้ปัญหาที่สำคัญที่สุดคือ “พลังชุมชน”
“จากการที่ชุมชนสามารถช่วยเหลือตนเองได้ในเบื้องต้นนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า เราไม่ต้องการรับความช่วยเหลือจากภายนอก ทุกวันนี้ก็ได้แต่หวังว่า ทางรัฐบาลจะเข้ามาให้การช่วยเหลือ เพื่อเยียวยาพี่น้องประชาชนชาวปริกและในพื้นที่อื่นๆ ที่ประสบปัญหาเช่นกัน และเพื่อให้ชาวบ้านได้รับความช่วยเหลืออย่างครอบคลุม ทางเทศบาลจึงได้ทำการออกประเมินความเสียหาย ด้วยการแจกแบบสอบถามเพื่อทำแบบสำรวจ ให้ชาวบ้านแจ้งความเสียหายเข้ามายังเทศบาล โดยทางเทศบาลจะส่งต่อไปยังส่วนกลางอีกที” นายก ทต.ปริกกล่าว
นายกเทศมนตรีตำบลปริก บอกว่าในการเข้าไปเยียวยาตรงจุดนี้ ทางเทศบาลได้วางมาตรการในการจัดการไว้ 2 มาตรการ โดยมาตรการแรกเป็นการดำเนินงาน ที่ต้องดำเนินไปตามระบบขั้นตอนของราชการทุกประการ ซึ่งตรงจุดนี้การดำเนินการอาจจะล่าช้า เพราะในระบบของข้าราชการนั้น จะต้องผ่านการตรวจสอบหลายขั้นตอน ส่วนมาตรการที่ 2 ทางเทศบาลได้ทำการสำรวจในเชิงลึกว่า แต่ละหลังคาเรือนได้รับความเสียหายมากน้อยเพียงใด แล้วทำการคำนวณค่าความเสียหาย จากนั้นจึงได้จัดสรรงบประมาณ ที่เทศบาลมีอยู่เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านก่อนในเบื้องต้น โดยครัวเรือนที่ได้รับความเสียหายไม่เกิน 6,000 บาท เทศบาลจัดสรรให้ครัวเรือนละ 3,000 บาท ส่วนครัวเรือนที่เสียหายเกิน 6,000 บาทขึ้นไป เทศบาลจะจัดสรรงบประมาณให้ 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าความเสียหายที่ได้รับ เพราะหากจะรอจากความช่วยเหลือจากส่วนกลางคาดว่าจะไม่ทันกาล
นายสุริยา กล่าวอีกว่า ยอมรับว่าที่ผ่านมา ทางเทศบาลไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการป้องกันอุทกภัยเท่าที่ควร เพราะแผนการรับมือกับสาธารณภัย ทั้งของเทศบาลและทางจังหวัดนั้น ส่วนมากแล้วจะเน้นหนักไปในด้านการป้องกันเหตุเพลิงไหม้และอุบัติเหตุบนท้องถนนมากกว่า ซึ่งเหล่านี้ได้บรรจุลงในแผนประจำปีอยู่แล้ว จากการประสบกับอุทกภัยอย่างหนักในครั้งนี้ จึงทำให้เห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องหันมาให้ความสำคัญในเรื่องนี้ให้มากขึ้น โดยในเร็ววันนี้ จะมีการจัดเวทีสาธารณะ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ และประมวลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเราได้อะไร เสียอะไรจากเหตุการณ์นี้เพื่อบรรจุลงในแผนรับมือสาธารณภัยต่อไป อันจะนำไปสู่การรับมืออย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
“จากการบริหารงานท้องถิ่นมานาน โดยส่วนตัวแล้วมองว่า จุดหักเหที่สำคัญของชุมชนหรือท้องถิ่นนั้น เมื่อยามประสบภัยพิบัติที่สำคัญนั้นก็คือการพึ่งพาตนเอง และการช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างคนในท้องถิ่น รวมถึงแผนในการรับมือนั้น เราจะมัวแต่รอตั้งรับปัญหาอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องรู้จักคิดและตั้งรับปัญหาในเชิงรุกด้วย ฉะนั้นจะเห็นว่าการพึ่งพาตนเองในเบื้องต้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในทุกๆ เรื่อง” นายกเทศมนตรีตำบลปริก กล่าว
นายสุริยา บอกว่า ปัจจุบันสภาวะน้ำท่วมขังที่เกิดขึ้นได้กลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว ทางเทศบาลจึงร่วมกับชุมชนจัดกิจกรรมทำความสะอาดเมืองครั้งใหญ่ โดยมีเจ้าหน้าที่ของเทศบาล งานป้องกันของเทศบาล เป็นแกนนำหลักในการดำเนินการ รวมถึงการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับพี่น้องประชาชน ให้มีกำลังกลับมาต่อสู้ต่อไป โดยเน้นให้เห็นว่า อย่าไปยอมแพ้กับวิกฤติที่เคยประสบมา แต่จะต้องนำวิกฤติเหล่านั้น มาสร้างเป็นโอกาสในการเผชิญกับปัญหาต่างๆ ต่อไป
การแก้ไขปัญหาในยามวิกฤติของ ทต.ปริกนั้น นับว่าเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่มีศักยภาพในการดำเนินการจัดการกับปัญหา โดยเน้นชุมชนหรือท้องถิ่นเป็นหลักในการดำเนินการ และให้ความสำคัญในเรื่องของการติดต่อประสานงาน การพึ่งพาตนเองในอันดับต้นๆ ทำให้พื้นที่เล็กๆ อย่าง ทต.ปริกสามารถรับมือกับวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
update : 01-12-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน