ถ้าไม่รณรงค์จะมีคนสูบบุหรี่มากกว่านี้
ถ้าไม่รณรงค์จะมีคนสูบบุหรี่มากกว่านี้
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยว่า วันงดสูบบุหรี่โลกที่เพิ่งผ่านไป คำถามที่สื่อมวลชนถามกันมากที่สุดคือ ทำไมรณรงค์กันมาตั้งนมนานแล้ว จำนวนคนสูบบุหรี่จึงยังมากอยู่ วัยรุ่นและผู้หญิงก็เห็นสูบกันมากขึ้น หนังสือพิมพ์บางฉบับก็จั่วหัวข่าวว่า “รณรงค์ไม่สูบบุหรี่ล้มเหลว รัฐสูญเงินเปล่า” ที่เกิดความเข้าใจกันเช่นนี้ เพราะเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน จำนวนคนไทยที่สูบบุหรี่มีประมาณ 11-12 ล้านคน การสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2552 ก็มีคนไทยที่สูบบุหรี่ประมาณ 12 ล้านคน จึงดูเหมือนกับว่ารณรงค์มายี่สิบปีแล้ว จำนวนคนสูบบุหรี่ยังเท่าเดิม แสดงว่าทำงานไม่ได้ผล
แต่ในความเป็นจริง หากไม่มีการรณรงค์หรือว่ารณรงค์แล้วไม่ได้ผล จำนวนคนไทยที่สูบบุหรี่ในขณะนี้จะมีถึง 16-17 ล้านคน ตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น หากอัตราหรือเปอร์เซ็นต์ การสูบไม่ลดลง แต่ที่จำนวนคนสูบไม่เพิ่มขึ้น ทั้งที่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ก็เพราะอัตราในเพศชายที่สูบ 60 เปอร์เซ็นต์ เมื่อยี่สิบปีก่อนลดลงมาเหลือ 40 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่เพศหญิงลดลงจาก 5 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 3 เปอร์เซ็นต์ ที่หลายฝ่ายคิดว่าเรารณรงค์กันมากนั้น ที่จริงไม่มากเลยคนทำงานรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ก็มีแค่หยิบมือเดียว รวมทั้งประเทศไทยเราใช้งบประมาณน้อยมาก ในการสนับสนุนการรณรงค์ให้คนสูบบุหรี่น้อยลง กระทรวงสาธารณสุข และ สสส.ใช้เงินรวมกันแล้วทั้งหมดไม่ถึงสองร้อยล้านบาทต่อปี เฉลี่ยแล้วคือ 3 บาท ต่อหัวประชากรต่อปี สามบาทก็เท่ากับค่าซื้อบุหรี่เพียงหนึ่งถึงสองมวนเท่านั้น เทียบกับสหรัฐอเมริกา ที่ศูนย์ควบคุมโรคกลางของเขาแนะนำให้รัฐต่าง ๆ ใช้งบประมาณ 12.34 ดอลลาร์ต่อหัวประชากรต่อปี นั่นคือเขาใช้งบประมาณ 376 บาทต่อหัวประชากรต่อปี เมื่อสี่สิบเจ็ดปีก่อนที่รัฐบาลอเมริกาเริ่มรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ เขามีผู้สูบบุหรี่ห้าสิบล้านคน จากประชากรหนึ่งร้อยห้าสิบล้านคน
ณ วันนี้ อเมริกามีผู้สูบบุหรี่สี่สิบหกล้านคน จากประชากรสามร้อยล้านคน ประชากรของเขาเพิ่มขึ้นเท่าตัว แต่จำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลงสี่ล้านคน เป็นผลจากการที่อัตราการสูบของเขาลดลงครึ่งหนึ่ง ในช่วงเวลาสี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา ความจริงการรณรงค์ควบคุมการสูบบุหรี่จะไม่ยากเท่านี้ หากไม่ใช่เพราะปัจจัยสามข้อ คือการที่บุหรี่เป็นสิ่งเสพติดที่มีอำนาจการเสพติดเทียบเท่าเฮโรอีน คนไทยที่ติดบุหรี่ที่ผ่านมาจะมีสามในสิบคนเท่านั้นที่เลิกสูบได้ ที่เหลือติดจนตายสอง ความพยายามทุ่มเทกลยุทธ์ทางการตลาดของบริษัทบุหรี่ในการหาลูกค้าใหม่ที่เป็นเยาวชน มาทดแทนผู้สูบที่เลิกสูบหรือเสียชีวิต เช่น ใช้พริตตี้ส่งเสริมการขาย ทุ่มงบประมาณทำ “กิจกรรมเพื่อสังคม” เพื่อลดทอนกระแสการควบคุมยาสูบ เพื่อปิดปากบุคคลหรือองค์กรที่รับเงินเขา
และสาม คือการที่บริษัทบุหรี่รวมทั้งโรงงานยาสูบไทยพยายามขัดขวางทุกมาตรการควบคุมยาสูบที่เสนอโดยกระทรวงสาธารณสุข เช่นการคัดค้านการขึ้นภาษี คัดค้านการพิมพ์คำเตือนขนาดใหญ่ขึ้น คัดค้านการห้ามใช้สารปรุงแต่งที่ล่อให้คนสูบ เช่น เมนทอลสำหรับประเทศไทย นอกจากการสนับสนุนด้านงบประมาณในการควบคุมยาสูบที่น้อยแล้ว การบังคับใช้กฎหมายควบคุมการตลาดของบริษัทบุหรี่ และกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ก็ทำกันแบบไทย ๆ เราจึงยังมีคนไทยที่สูบบุหรี่ 12 ล้านคน และจะมีเท่านี้ไปอีกนาน หากเรายังทำงานกันแบบที่ทำอยู่
ที่มา : มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่