ถ่ายทอดพลังการอ่านมหัศจรรย์กับชีวิต

ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐ


ภาพประกอบจากเว็บไซต์ oohho.com


ถ่ายทอดพลังการอ่านมหัศจรรย์กับชีวิต thaihealth


ผู้มีประสบการณ์ถ่ายทอดพลังการอ่าน ก่อให้เกิดมหัศจรรย์กับชีวิต


ปลูกฝังนิสัยรักการอ่านแก่เด็กๆ ควรเริ่มตั้งแต่ปฐมวัย และเพื่อจุดประกายพ่อแม่ให้เห็นพลังของการอ่านหนังสือ ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กๆด้วย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายส่งเสริมการอ่าน 28 แห่ง จัดงาน “งานมหกรรมการอ่านแห่งชาติ : มหัศจรรย์การอ่านเพื่อเด็กปฐมวัย” โดยหนึ่งกิจกรรมในงานคือ “Reading’s talk #1 มหัศจรรย์แห่งการอ่าน : พบคนดลใจร่วมสร้างมหัศจรรย์แห่งการอ่าน” ซึ่งมีบุคลากรทางการแพทย์ ครู และผู้ที่มีประสบการณ์ตรงจากการใช้หนังสือและการอ่าน ได้มาเล่าประสบการณ์พลังการอ่านที่ก่อให้เกิดความมหัศจรรย์กับชีวิต


ถ่ายทอดพลังการอ่านมหัศจรรย์กับชีวิต thaihealth


ครูอ๋วน-จันทร์เพ็ญ สินสอน ผู้จัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก “บ้านเรียนพระคุณ” จ.สุรินทร์ กล่าวว่า ทางศูนย์ฯ มีเด็กในความดูแลประมาณ 50 คน อายุตั้งแต่ 1 ขวบถึง 5 ขวบ ปัญหาที่พบคือ เด็กติดเครื่องมือสื่อสาร มีโลกของตัวเอง เราคิดว่า ห้องเรียนที่แท้จริงคือการที่เด็กได้สัมผัสกับสิ่งที่เป็นวิถีชีวิตของเขา จึงใช้กิจกรรมให้เด็กได้เล่น ได้ร้องเพลง ได้ฟังการอ่านหนังสือจากครู ฯลฯ ในศูนย์จึงไม่มีทีวีและไม่ให้เด็กใช้โทรศัพท์ พร้อมกับร่วมมือกับผู้ปกครอง ทำให้ไม่เกินหนึ่งปี พวกเขามีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะมีตัวอย่างการพัฒนาการ โดยใช้หนังสือนิทานกับเด็กคนหนึ่งอายุจะสามขวบแล้ว แต่ยังพูดไม่ได้ ซึ่งนิทานได้เปลี่ยนแปลงชีวิตเขาจนถึงขั้นที่เขาหลงใหลในตัวอักษร และสามารถอ่านได้ เป็นต้น การอ่านทำให้เด็กมีจินตนาการ ถ้าเด็กได้อ่านและเด็กได้ไปเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง จินตนาการเหล่านั้นก็จะเด่นชัดในความรู้สึกของเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่มีผู้ใหญ่อ่านหนังสือให้ฟัง สมองของเขาจะทำงานเชื่อมโยงความมีเหตุผลได้ดี เด็กจะรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา สิ่งที่สำคัญก็คือ จะรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น


ถ่ายทอดพลังการอ่านมหัศจรรย์กับชีวิต thaihealth


ส่วน หมอโฮม—ขนิษฐา ทิวาศิริ ทันตาภิบาลผู้สร้างเสริมสุขภาพด้วยการอ่านแห่ง อ.ปง จ.พะเยา เล่าว่า หน้าที่หลักอีกอย่างหนึ่งคือดูแลส่วนเด็กเล็กในอำเภอปง จ.พะเยา จำนวน 29 แห่ง แต่อุปสรรคสำคัญในการทำงานกับเด็กมาตลอดคือ เด็กจะกลัวหมอฟัน จึงใช้หนังสือนิทานเป็นเครื่องมือ เพื่อลดช่องว่างระหว่างตัวเราและเด็กลงในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเรื่องสุขภาพ เช่น เด็กไม่ชอบแปรงฟัน ก็จะใช้หนังสือนิทานเรื่อง “คุณปองฟันหลอ” หรือเด็กไม่ชอบกินผัก ก็ใช้หนังสือเรื่อง “หนูนิดไม่กินผัก” ฯลฯ และหนังสือที่เหมาะสมกับวัยของเขา ซึ่งเวลาที่ฟังครูเล่านิทานเขาจะดูมีความสุขมาก จึงใช้วิธีนี้ทดลองเริ่มจาก 3-4 ศูนย์ จนกระทั่งครบ29 แห่ง หนังสือจึงเป็นความมหัศจรรย์ของทุกสิ่งทุกอย่างที่อยากจะปรับเปลี่ยนเด็กให้มีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี จึงอยากฝากไว้ว่า หนังสือจะราคาแพงแค่ไหนก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าไม่หยิบขึ้นมาอ่าน โดยเฉพาะกับเด็กๆ ซึ่งเป็นอนาคตของชาติ

Shares:
QR Code :
QR Code