ถุงอนามัยสตรีทางเลือกหญิงไทย
ปัจจุบันดูเหมือนการรณรงค์เกี่ยวกับการป้องกันโรคทางเพศสัมพันธ์จะค่อยๆ เงียบไป ขณะที่อัตราการเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีของคนไทยยังคงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงซึ่งเป็นเพศที่มีความเสี่ยงสูงเพราะไม่สามารถป้องกันตนเองได้เหมือนผู้ชาย และส่วนมากผู้ชายมักจะเป็นฝ่ายปฏิเสธการป้องกัน จึงทำให้เกิดปัญหาการติดเชื้อเอชไอวีได้ง่าย
กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ สำนักงานศึกษานโยบายสาธารณสุข สวัสดิการและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เครือข่ายสุขภาพและโอกาส มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) และแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันจัดงานประชุมระดมสมอง เรื่อง “ทิศทางของนโยบายการให้บริการด้านถุงอนามัยผู้หญิงในประเทศไทย” ที่โรงแรมเดอะ รอยัล ริเวอร์
เพื่อให้ “ถุงอนามัยผู้หญิง” เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการตั้งท้องไม่พร้อม ไม่ว่าจะเป็นคู่รักต่างเพศชายรักเพศเดียวกัน และคู่รักที่อยู่ร่วมกับเชื้อ (เอชไอวี) โดยปัจจุบันประเทศไทยเริ่มมีการเผยแพร่ให้คนรู้จักและนำไปใช้บ้างแล้ว แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก เพราะไม่มีวางจำหน่ายทั่วไป และมีราคาค่อนข้างสูง
น.พ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติกล่าวถึงการบริการด้านถุงอนามัยสำหรับผู้หญิงไทยว่า มีความเป็นไปได้สูงเพราะมีกลุ่มประชากรที่ต้องการใช้เทคโนโลยีนี้มีมานานแล้วเพียงแต่ประเทศไทยยังไม่ใช้กันแพร่หลาย ปัญหาแรกคือยังขาดการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการใช้ถุงอนามัยแบบต่อเนื่อง ทำให้ฝ่ายนโยบายเข้าใจผิดว่าประชาชนไม่ต้องการใช้อุปกรณ์นี้ ปัญหาที่สองคือที่ผ่านมายังไม่มีใครแสดงตัวชัดเจนว่าจะเป็นเจ้าภาพในการผลักดันให้เกิด
“ถุงอนามัยผู้หญิงเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ จึงต้องผ่านกลไกและขั้นตอนพอสมควร รวมทั้งมีปัญหาด้านราคาซึ่งแพงกว่าถุงยางอนามัยชาย เป็นข้อท้าทายที่ต้องผลักดันมาก ถ้าประเทศไทยสามารถผ่านอุปสรรคสำคัญหลักๆ นี้ไปได้และมีผลการศึกษาวิจัยถึงความต้องการใช้รวมไปถึงความพึงพอใจและประโยชน์ต่างๆ ในการใช้ถุงอนามัยผู้หญิง จะทำให้ประชาชนใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าได้มากขึ้น” น.พ.ทวีทรัพย์ กล่าว
ด้าน ดร.กนกวรรณ ธราวรรณ สำนักงานศึกษานโยบายสาธารณสุข สวัสดิการและสังคม นักวิจัยผู้รับผิดชอบโครงการวิจัยทางเลือกเชิงนโยบายด้านถุงอนามัยผู้หญิงกล่าวถึงผลการวิจัยว่าในคู่สามีภรรยามักไม่ใช้ถุงยางอนามัย เนื่องจากได้เลือกใช้วิธีคุมกำเนิดแบบอื่นแล้ว แต่หากจะเลือกใช้ถุงอนามัยผู้หญิงก็เพราะถุงอนามัยผู้หญิงสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้หลายครั้ง ส่วนกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี หากไม่ใช้ถุงอนามัยก็เพราะต้องการมีบุตร
แต่ถ้ามองจากแง่มุมการใช้เพื่อป้องกันการติดโรคทางเพศสัมพันธ์แล้ว ผู้ติดเชื้อระบุว่า ใช้ถุงอนามัยผู้หญิงจะรู้สึกดีกว่าใช้ถุงยางอนามัย ในกลุ่มชายรักชายมักไม่ใช้ถุงยางอนามัยเพราะคู่นอนไม่ชอบใช้ แต่ถ้าหากถุงอนามัยผู้หญิงหาซื้อได้ง่าย ชายรักชายจะใช้ถุงอนามัยผู้หญิงเป็นทางเลือกในการป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
ดร.กนกวรรณ กล่าวต่อว่า การทำวิจัยนี้ผู้ให้สัมภาษณ์ทุกคนจากทุกกลุ่มประชากรต่างเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า ควรจะมีถุงอนามัยผู้หญิงในประเทศไทย โดยจัดวางในสถานที่ที่สะดวกกับทุกคน เช่น ผู้ติดเชื้อสะดวกให้จัดวางที่โรงพยาบาล พนักงานบริการสะดวกให้จัดวางในที่ทำงานของตนเช่น ตามผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานบันเทิงทั่วไป และประชาสัมพันธ์ให้รับรู้เกี่ยวกับถุงอนามัยผู้หญิงในสื่อทั่วไปในชีวิตประจำวัน
น.ส.ทฤษฎี สว่างยิ่ง ผู้จัดการเครือข่ายสุขภาพและโอกาส กล่าวว่า เมื่อนำถุงอนามัยมาเผยแพร่ให้เกิดการใช้ช่วงแรกๆ คนทั่วไปจะเข้าใจว่าถุงอนามัยผู้หญิงจะเป็นคู่ตรงข้ามกับถุงยางอนามัยผู้ชายและทำมาให้ผู้หญิงใช้ การทำงานจึงพยายามไม่ระบุว่าถุงอนามัยใช้เฉพาะกับผู้หญิง แต่เหมาะสมกับทุกคนที่มีเพศสัมพันธ์ คือใช้ได้ทั้งชายและหญิงและเพศอื่นๆ ด้วย แต่เนื่องจากการทำงานช่วงแรกยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึง รวมไปถึงความซับซ้อนในแง่การใช้ตัวผลิตภัณฑ์ซึ่งเกี่ยวข้องกับทัศนคติในเรื่องเพศของสังคม ตัวอย่างเช่นวิธีใช้ถุงอนามัยสำหรับผู้หญิงคือต้องสอดเข้าไปในช่องคลอด แต่ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่คุ้นชินกับอุปกรณ์สุขภาพที่ต้องสอดช่องคลอด
น.ส.ทฤษฎี กล่าวด้วยว่าในการทำงานจึงกลับมาทบทวนกันว่าจะทำอย่างไรให้ผู้หญิงก้าว ข้ามความรู้สึกนี้เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้เรื่องถุงอนามัยให้เกิดขึ้น เมื่อได้มาทำงานร่วมกับแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ จึงจัดทำหลักสูตรอบรมเรื่องสุขภาวะทางเพศควบคู่ไปกับถุงอนามัยอย่างเป็นระบบมากขึ้น นอกจากกลุ่มประชากรที่เป็นผู้หญิงได้เข้ามาอบรมเพื่อให้เกิดการใช้ถุงอนามัยแล้วยังมีกลุ่มผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี กลุ่มผู้หญิงขายบริการ กลุ่มชายรักชายและกลุ่มสาวประเภทสองเข้าร่วมด้วย
ถุงอนามัยผู้หญิงไม่เพียงแต่เป็นเครื่องมือในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมเพียงเท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างสุขภาวะทางเพศที่ดีต่อตนเองและคู่ให้เกิดขึ้นได้อีกด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด