ถึงเวลาที่ไทยต้องปรับคุณภาพบริการเลิกบุหรี่


สูบเพราะชอบหรือสูบเพราะติด แต่อย่างน้อยคนไทยกว่า 12ล้านรายที่กำลังสูบบุหรี่อยู่ในขณะนี้ก็มีความพยายามเลิกสูบแล้วเกินกว่าครึ่ง ดังนั้นเพื่อการรณรงค์ให้สังคมไทยปลอดภัยจากควันบุหรี่ บุคลากรที่เกี่ยวข้องควรมีส่วนในการสนับสนุนนักสูบที่ต้องการเลิก ซึ่งหากทำสำเร็จ พวกเขาก็จะกลายเป็นตัวอย่างของพลังทางสังคมที่จะช่วยรณรงค์ลดนักสูบหน้าใหม่ได้”


ผศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา อาจารย์ประจำหน่วยโรคทางเดินหายใจและเวชบำบัดวิกฤต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) อธิบายถึงความจำเป็นในการผลักดันให้สังคมไทยมีบริการเลิกสูบบุหรี่ที่มีมาตรฐาน ในงานประชุมวิชาการ “บุหรี่กับสุขภาพ” ครั้งที่ 10 จัดโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการยาสูบ มหาวิทยาลัยมหิดล (ศจย.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน


ขณะที่ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวเสริมว่า จากการสำรวจของโครงการสำรวจการสูบบุหรี่ของวัยผู้ใหญ่ระดับโลก(Global Adult Tobacco Survey : GATS ปี 2552 พบว่า ในจำนวนผู้สูบบุหรี่ของไทยทั้งหมดที่มีความสนใจที่จะเลิกใช้ยาสูบของคนไทยนั้นร้อยละ 7.3 หรือ 912,500 รายมีแผนที่จะเลิกภายในหนึ่งเดือน ร้อยละ 16.1 หรือ 2,012,500 ราย มีแผนที่ จะเลิกภายใน1ปี และหากแบ่งตามวิธีการเลิกสูบพบว่าผู้สูบกว่า 6 ล้านคนมีเคยพยายามเลิกสูบขณะที่ผู้สูบกว่า 4ล้านคนมีเข้าพบบุคลากรด้านสาธารณสุข (สธ.) โดยเข้าพบพร้อมกับการตรวจรักษาโรคต่างๆ และผู้สูบกว่า 2ล้านคนได้รับการซักถามประวัติการสูบบุหรี่และ1.3ล้านคนได้รับคำแนะนำให้เลิก เมื่อมองในภาพรวมพบว่า 1 ใน 10 ของผู้ใช้ยาสูบไทยได้รับการแนะนำให้เลิกสูบโดยบุคลากรสธ.


ความไว้ใจของประชาชนที่มีต่อบุคลากรสธ.น่าจะเป็นบันไดขั้นแรกของการกระตุ้นให้คนไทยอยากเลิกสูบบุหรี่มากขึ้น ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง ควรมีระบบบังคับให้ซักประวัติ แต่ถ้าเป็นบริการของเครือข่ายต่างๆ ที่รับปรึกษาวิธีการเลิกบุหรี่อาทิ ควิทไลน์ 1600หรือ เป็นบริการคลินิกฟ้าใส ฯลฯ หลักการ 5 A ยังสำคัญเสมอได้แก่ ASK ให้ถามผู้ป่วยทุกคน เรื่อง สูบบุหรี่ASSESS ประเมินความต้องการเลิกบุหรี่ของผู้สูบบุหรี่ (จำแนกผู้ป่วย) ADVISE แนะนำผู้สูบบุหรี่ทุกคน ให้เลิกบุหรี่ ASSIST ช่วยเหลือผู้สูบบุหรี่ให้เลิกบุหรี่ ARRANGE (The follow up) การติดตามการเลิกสูบบุหรี่ของผู้ป่วยซึ่งหลักการนี้จะช่วยให้การรักษาผู้ติดบุหรี่เป็นไปอย่างมีระบบ


“การให้บริการเลิกบุหรี่เป็นกระบวนการรักษาเดียวกันกับที่ผู้ป่วยมารับการรักษาโรคอื่นแต่สูบบุหรี่แพทย์ย้ำว่าต้องเลิก และชี้ให้เห็นโทษให้ได้ ขณะที่พยาบาลเองก็ต้องทำหน้าที่รับช่วงต่อ คือ ย้ำเรื่องพิษภัยของบุหรี่ให้ผู้สูบเข้าใจยิ่งขึ้น รวมทั้งสอบถามจำนวนมวนบุหรี่ที่ผู้ป่วยสูบในแต่ละวัน รวมทั้งสอบถามอาการเวลาอดบุหรี่ เพื่อประเมินผลการตรวจรักษาด้วยหากทำได้การเข้าถึงบริการเลิกสูบก็จะดีขึ้นด้วย”ศ.นพ.ประกิต อธิบาย


และเป็นที่ทราบกันดีว่า สังคมไทยเป็นระบบพึ่งพา ดังนั้นบริการทุกอย่างต้องอาศัยการทำงานเป็นทีม เพื่อให้เกิดความมั่นคงในระบบโดย รศ.ดร.จินตนา ยูนิพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ ยกตัวอย่างระบบบริการผ่านสายด่วนควิทไลน์1600ว่า ระบบดังกล่าวเน้นที่การสร้างทีมผู้ให้คำปรึกษา 26คน คือ บุคลากรวิชาชีพสุขภาพ (พยาบาลวิชาชีพ นักจิตวิทยา ทางคลินิก และนักสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ทางการแพทย์) ที่มีประสบการณ์การให้บริการในระบบบริการสุขภาพอย่างน้อย1ปีผ่านการฝึกอบรมภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ตามมาตรฐานสากล ที่มีการตรวจสอบสมรรถนะการให้คำปรึกษาทั้งด้านความรู้และทักษะการให้คำปรึกษา


ในส่วนหน้าที่หลักๆ ต้องเริ่มตั้งแต่การการสร้างแรงจูงใจอย่างต่อเนื่องแก่ผู้ติดบุหรี่รวมทั้งปรับเปลี่ยนการคิด ของผู้สูบให้เน้นการคิดเชิงบวก และมีความมุ่งมั่นในการเลิกเด็ดขาด ที่สำคัญต้องสร้างความมั่นใจแก่ผู้ที่ต้องการเลิกด้วยถ้อยคำที่แสดงถึงความเข้าใจปัญหาทุกอย่างที่ผู้สูบปรึกษา ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องอย่าลืมสร้างความมั่นใจแก่ตัวเองด้วย ว่า ตนมีความสามารถพอที่จะเชิญชวนให้ผู้ติดบุหรี่เลิกได้ หมายความว่า เจ้าหน้าที่ต้องเป็นผู้มองโลกในแง่ดีด้วยเช่นกัน


“อย่าลืมว่า ผลระยะยาว คือ การช่วยให้ประชาชนเลิกบุหรี่ให้ได้และต้องไม่กลับมาสูบซ้ำ ดังนั้นการสร้างมิตรภาพและความไว้ใจที่ดี ถือเป็นหัวใจสำคัญในการบริการ” ศ.ดร.จินตนา ทิ้งท้าย


 


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

Shares:
QR Code :
QR Code