ถึงเวลาที่คนทำงานจะต้อง ‘สื่อสาร’ สร้างแรงเขยื้อนสู่สังคม
ที่มา : ข่าวประชาสัมพันธ์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ประชาไท
จะดีหรือไม่ ถ้าเรื่องราวสร้างสรรค์จากคุณจะสร้างแรงเขยื้อนในการเปลี่ยนแปลงสังคม? แม้ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาจะมีพลังจากประชาชนตัวเล็ก ๆ (Active citizen) ที่คอยมองปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมแล้วไม่ปล่อยผ่าน
แต่หากถอยมามองในมุมของคนนอกคงปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายเรื่องราวดี ๆ สามารถจุดประกาย สร้างแรงบันดาลใจ หรือเป็นบทเรียนสำคัญให้แก่สังคมได้ยังไม่ถูกสื่อสารออกไป เนื่องด้วยพื้นที่สื่อหลัก (Mass media) มีจำกัด แต่ในปัจจุบันมีพื้นที่การสื่อสารใหม่ (Social media) ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย และยังง่ายขึ้นต่อการส่งเสียงไปให้ถึงกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เกิดพลังของมวลหมู่มากในการขยับสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับใหญ่ ดังนั้นแล้วอำนาจในการสื่อสารอยู่ในมือของทุกคน ขอเพียงเริ่มลงมือทำ
จากเหตุผลข้างต้น โครงการผู้นำแห่งอนาคต คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมมือกับมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) ในการจัดกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการ "การสื่อสารสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลง ในหัวข้อเรื่องเล่าจากชุมชน (Creative Communication for Change)" ในช่วงเดือนธันวาคม 2561 – มกราคม 2562 ให้แก่ภาคีองค์กรภาคประชาสังคม (NGOs)
คุณพฤหัส พหลกุลบุตร วิทยากรจากมะขามป้อม กล่าวถึงความสำคัญที่คนทำงานเพื่อสังคมควรมีความสามารถในการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพว่า "องค์กรภาคประชาสังคมหลายองค์กรประสบปัญหาขาดคนภายนอกเข้ามาสนับสนุนการดำเนินงาน ดังนั้นแล้วการที่คนในสามารถสื่อสารได้จะเป็นการเปิดประตูให้คนภายนอกเข้ามามีส่วนร่วม เพราะในทางเดียวกันยังมีคนอีกหลายคนที่อยากจะทำงานเพื่อสังคมแต่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มจากจุดไหน อีกสิ่งที่สำคัญมาก คือ คนทำงานเหล่านี้คือคนทำงานจริง มีประสบการณ์ บทเรียน และองค์ความรู้ ดังนั้นถ้าพวกเขาสามารถสื่อสารเรื่องราวไปสู่คนวงกว้าง ให้เกิดการแลกเปลี่ยน พูดคุย และนำไปใช้ประโยชน์ การทำงานของพวกเขาจะยิ่งมีคุณค่าและเป็นประโยชน์แก่สังคม"
โดย คุณพฤหัส ได้อธิบายถึงแก่นสำคัญของการอบรมในครั้งนี้ว่า "3 ทักษะสำคัญที่ทีมนำมาถ่ายทอด คือ เทคนิคการถ่ายภาพ การเขียนอย่างสร้างสรรค์ และการสื่อสารผ่านภาพเคลื่อนไหว โดยกระบวนการเรียนรู้จะไม่ได้เน้นไปที่เทคนิคการถ่ายทำหรือการถ่ายทอดที่สมบูรณ์ ซึ่งต้องอาศัยเวลาในการศึกษา เก็บเกี่ยวประสบการณ์ และพัฒนาฝีมือ แต่โจทย์สำคัญของมะขามป้อมและโครงการฯ คือ การทำให้ผู้เข้าร่วมได้เห็นมุมมองใหม่ในการสื่อสาร จากการเปิดประสาทสัมผัสทุกส่วนให้ได้สัมผัสอย่าลึกซึ้ง คัดสรรเนื้อหามาสื่อสารอย่างลงตัว รวมถึงการได้สัมผัสประสบการณ์การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ ที่มีคุณค่าทั้งต่อผู้ถ่ายทอดและผู้รับสาร"
ผลลัพธ์หนึ่งจากการอบรมที่เกิดขึ้นอย่างน่าสนใจ จากกระบวนการการสื่อสารในรูปแบบนี้ คือ "การเห็นมุมมองใหม่หรือการตีความใหม่ (Reinterpretation)" โดย คุณกัญญาวีร์ อ่อนสลุง เยาวชนเมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือก จากสถาบันไทยเบิ้งโคกสลุงเพื่อการพัฒนา จ.ลพบุรี ได้สะท้อนว่า "ตอนทำกิจกรรมได้ลงพื้นที่ไปสัมผัสเรื่องราวที่คุ้นเคย แต่เมื่อเปิดรับทุกสิ่งโดยไม่มีกรอบความคิด ทำให้ภาพที่เราเห็นเปลี่ยนแปลงไป เราเริ่มมีความรู้สึกต่อภาพที่เคยเห็นจนชินตา เข้าไปพูดคุย ไปถ่ายทำ แม้ก่อนหน้านี้จะไม่เคยนึกถึงมาก่อน"
อีกหนึ่งผลลัพธ์คือการตระหนักถึงการสามารถใช้ช่องทางการสื่อสารให้เกิดประโยชน์ด้วยตนเองได้ โดย คุณพรรณิภา โสตถิพันธุ์ ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม ได้สะท้อนว่า "ก่อนหน้านี้เรารู้ว่ายุคนี้เป็นยุคที่เครื่องมือสื่อสารอยู่ในมือทุกคน แต่ยังไม่รู้ว่าจะใช้อย่างไรดี พอได้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ทำให้ได้รู้จักและเข้าใจวิธีการสื่อสารที่เป็นการผสานระหว่าง ความรู้สึก การคิด และการลงมือทำ ซึ่งทำให้เราเริ่มมีความมั่นใจว่าจะสามารถสื่อสารการทำงานได้"
สำหรับการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว คุณพฤหัส ชี้ว่า "ผู้เข้าร่วมควรพัฒนาการสื่อสารต่อผ่านการศึกษาและสั่งสมประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย คือ การสร้างพื้นที่ในการสื่อสารเพื่อให้เกิดการพูดคุย เรียนรู้ และสร้างปัญญาร่วมกัน (Collective leadership) โดยพื้นที่ทางการสื่อสารควรให้ความสำคัญทั้งแบบผ่านสื่อและแบบได้พบปะพูดคุย เช่น การพูดคุยในวงเล็ก หรือการพูดคุยในวงใหญ่ผ่านพื้นที่จัดสรร เพื่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม"