ถึงพี่จะสูงวัยแต่…ไม่สายที่จะ Start Up
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพโดย สสส.
หากใครเคยได้ยินข่าวของคุณยาย มาซาโกะ วากามิยะ ชาวญี่ปุ่น วัย 84 ปี ที่ลุกขึ้นมาเป็นโปรแกรมเมอร์และนักพัฒนาแอพลิเคชันเกมชื่อ Hinadan เกมที่เธอได้แรงบันดาลใจ จากการที่พบว่าไม่มีเกมดีๆ สำหรับผู้สูงอายุ จึงคิดพัฒนาขึ้นเองเมื่อตอนที่อายุเธอก้าวพ้น เลข 80 มาหมาด ๆ ว่ากันว่าแอพพลิเคชัน ของเธอมียอดดาวน์โหลดไปแล้วเกิน 5 หมื่นครั้ง
หรือหากเคยได้ยินหลายกระแสข่าวผู้สูงอายุที่เริ่มผันตัวมาเป็นทั้งเจ้าของธุรกิจหรือสตาร์ทอัพในช่วงก้าวสู่บั้นปลายชีวิตก็จงอย่าแปลกใจ เพราะนี่อาจกำลังเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่อีกซีกโลกอย่างในอเมริกาและตะวันตก ก็เริ่มได้เห็นเถ้าแก่ ส.ว.4.0 มากขึ้น
ไม่แน่ว่าเมื่อถึงวันที่โลกก้าวเข้าสู่ Aging Society สมบูรณ์แบบ ทัศนคติของสังคมที่มีต่อผู้สูงวัยอาจต้องเปลี่ยนไป อย่างสิ้นเชิง จากที่มองว่าผู้สูงวัยคือ "ภาระ" อาจกลับกลายเป็น Active Aging ที่ลุกมาสร้างเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับประเทศได้มหาศาลในอนาคตก็เป็นได้
ส่องสูงวัยไทย – ญี่ปุ่นพลังใหม่ในโลกยุคดิจิทัล
เรื่องราวและแนวคิดดังกล่าวกำลังเป็นหมุดหมายสำคัญที่ทำให้งานเสวนา "สังคมสูงวัยไทย – ญี่ปุ่น : สูงวัยอย่าง มีพลังในโลกยุคดิจิทัล (Digital and Active Ageing in Japan and Thailand) เกิดขึ้น
งานนี้จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนกรสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย สมาคมญี่ปุ่นแห่งประเทศไทย และ SASAKAWA PEACE FOUNDATION ที่มาร่วมตั้งเวทีถกถึงแนวทางเชิงนโยบาย ปัญหาและข้อจำกัดต่าง ๆ ต่อมาตรการในการเตรียมพร้อมรับมือสังคมสูงวัยในไทย โดยมีกรณีศึกษาจากประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนและร่วมสร้างพลังบวกเครือข่ายผู้สูงอายุทั้งไทย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ในภาควิชาการ ภาคสื่อและนักสร้างสรรค์
ผู้ที่ฉายภาพของสังคมสูงวัยญี่ปุ่นแบบเจาะลึกคือ ดร.คิอิชิโร่ โออิซูมิ ผู้อำนวยการของสมาคมเอเชียศึกษา และสมาคม ไทยศึกษาแห่งประเทศญี่ปุ่น กล่าวถึง "ความเหมือนและความต่างของนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ในการเตรียมพร้อมสำหรับสังคมสูงวัยในญี่ปุ่นและไทย" ว่า ขณะนี้ไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือญี่ปุ่นต่างก็เข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งญี่ปุ่นเองล่วงหน้าประเทศไทยไปก่อนหลายปี แต่พบว่าทั้งสองประเทศมีแนวโน้มในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นค่านิยมการแต่งงานที่เปลี่ยนไป
ดร.คิอิชิโร่ ยังเผยข้อมูลน่าสนใจว่า ผู้ชายญี่ปุ่นรุ่นใหม่ถึง 60% ตอบว่าสามารถมีแฟนเป็น AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ค่านิยม ดังกล่าว ทำให้อัตราการเด็กเกิดน้อยได้ ขณะที่คนสูงวัยอายุขัยเฉลี่ยยาวนานขึ้น โดยญี่ปุ่นอายุขัยเฉลี่ยราว 80 ปี คนไทยราว 70 ปี
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยนิยามให้ผู้สูงอายุต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป ทำให้มีสัดส่วนผู้สูงอายุเร็วขึ้น ดังนั้นจึงอยากให้ ปรับเปลี่ยนแนวคิดเป็นสูงวัยที่มีความกระปรี้กระเปร่า (Active Ageing) ส่วนประชากรหนุ่มสาวคนไทยเองมองว่ายังมีเวลาเตรียมตัว
สำหรับการเตรียมการรองรับหรือแก้ปัญหาสังคมผู้สูงวัยนั้น ดร.คิอิชิโร่ยอมรับว่า ญี่ปุ่นเองก็กำลังประสบปัญหาเช่นกัน แต่อยากให้นำบางส่วนปรับใช้ เช่นตัวอย่างในภาคประชาสังคม มีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ดูแลผู้สูงอายุ เป็นการให้บริการดูแลผู้สูงอายุผ่านแอปพลิเคชัน อำนวยความสะดวกในการส่งผู้ดูแล อยู่เป็นเพื่อน ซื้อของ เป็นต้น
ด้าน โยจิโร่ โคชิ ผู้ก่อตั้งและ ประธานบริษัท TalentEX จำกัด เล่าถึงการหางานของผู้สูงวัยในญี่ปุ่นผ่านเสวนาหัวข้อ "บทบาทคนรุ่นใหม่ในการสร้างนวัตกรรมทางสังคมและธุรกิจ เพื่อผู้สูงวัย ในโลกยุคดิจิทัล" ว่า ปัจจุบันผู้สูงอายุหางานผ่านเว็บไซต์หางานออนไลน์มากขึ้น เพราะผู้สูงอายุในญี่ปุ่นนิยมใช้งานสมาร์ทโฟนค่อนข้างสูง ซึ่งจะได้รับการจ้างงานจริงจังจากบริษัทห้างร้านหลายแห่ง และผู้สูงวัยญี่ปุ่นจะไม่ได้ถูกจำกัดแต่การทำงานเฉพาะด้าน Healthcare หากแต่ยังสามารถทำงานด้านอื่น ๆ ได้หลากหลาย แม้แต่การเป็นสตาร์ทอัพ โดยได้ยกตัวอย่างคุณยาย มาซาโกะ App Developer ชื่อดัง และ คุณยายชาวญี่ปุ่นอีกรายวัย 85 ปี ที่วันนี้กลายเป็นสตาร์ทอัพธุรกิจรองเท้าเกี๊ยะ ซึ่งเธอต้องการขยายธุรกิจทำรองเท้าเกี๊ยะญี่ปุ่นสู่ตลาดใหม่ ๆ จึงร่วมงานกันกับคนรุ่นใหม่ในรูปแบบ Co-working space ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดี
Never too Old to Start Up!
หันกลับมามองว่าที่ Start Up สูงวัยแบบไทย ภัทราวดี มีชูธน ผู้ก่อตั้งและประธานคณะกรรมการบริหารโรงเรียนภัทราวดี หัวหิน อีกหนึ่งต้นแบบสูงวัยที่มีพลังในโลกยุคดิจิทัล ได้มาแชร์แนวคิดเชิงบวกที่ช่วยเติมเต็มพลังชีวิตหลังวัย 60 ว่า สำหรับตนเองมองชีวิตสูงวัยเป็นช่วงชีวิต Start Up ที่กำลังก้าวข้ามเข้าสู่การเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว
"ไม่เคยคิดว่าตัวเองแก่ เวลาใครถามอายุเท่าไหร่ก็จะบอก 71 อย่างภูมิใจ แต่วันนี้ดิฉันยังสามารถหัดเล่นสเก็ตบอร์ด ยังปีนรั้วไปสอนเด็กเร่ร่อนในสวนสาธารณะ ก็ยังทำงานกับเด็ก ๆ ข้างถนนเละเด็ก ๆ ไฮโซ ดิฉันยังทำงานหลายอย่าง เพราะคิดว่าสิ่งที่ได้รับมาแต่เด็กมหาศาลมาก เราจึงต้องแชร์สิ่งที่เรามีให้คนอื่นโดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ ทุกวันนี้เวลาพบเด็กเร่ร่อนอยู่ตรงไหนเราไปหาเขาเอาสเก็ตบอร์ดไปแจก พาครูไปหาไปสอนเขา"
ครูเล็กเอ่ยว่า ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงคือจะมองว่า Start Up ของตัวเอง ที่นำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าและแก้ปัญหาเพื่อที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีความสุข
"ดิฉันเป็นคนใฝ่รู้ตั้งแต่เด็กจะทำให้เราไม่ตกยุค ไม่เชย ดิฉันมาเรียนคอมพิวเตอร์ตอนอายุ 30 กว่า อาศัยไปยืนดู ๆ เขาเปิดเครื่องแม็คมา โปรแกรมแรกที่ใช้คือโฟโต้ช็อป อยากฝากสำหรับคนสูงวัยที่อยากจะ Start up เริ่มจากเราต้องรู้ตัวเองว่าเราเชี่ยวชาญอะไรหรือด้านไหน อาจเล่าเรื่องเก่า ๆ หรือสอนวิชาทำการบ้าน ทำอาหาร อย่ามองเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่มองแต่เรื่องต้องยิ่งใหญ่
ส่วนความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้าน ผู้สูงอายุไทยอย่าง พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนา ผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) กับความสงสัยว่า ความฝันที่ประเทศไทยเราจะมีสตาร์ทอัพ สูงวัยแบบญี่ปุ่นบ้าง จะเป็นไปได้หรือไม่?
พญ.ลัดดา จึงให้มุมมองน่าสนใจว่า หากมองภาพใหญ่ของประเทศทุกวันนี้ไทยยังมีแต่ผู้สูงวัยที่ยังเป็นผู้รับบริการ ยังไม่อาจพบคนที่เป็นเจ้าของกิจการหรือสตาร์ทอัพได้
"เพราะการจะเป็นสตาร์ทอัพอันดับหนึ่งต้องมีเงินทุน แต่คนไทยหนึ่งในสามยากจน ที่เหลือไม่ได้ร่ำรวยมาก ถ้ามีคงต้องมีคุณสมบัติเหมือนอย่าง ครูเล็ก ภัทราวดี นี่แหละ มีทั้งฐานะการเงิน สอง มีทักษะความสามารถที่จะเป็นสตาร์ทอัพ มีความรู้ และใฝ่เรียนรู้ แต่ผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่ไม่มีทั้งสองอย่าง ที่สำคัญต้องมีแรงบันดาลใจอย่างแรงกล้า แต่ความจริงวันนี้ผู้สูงอายุไทยบางคนยังโลว์เทคโนโลยีและยังตกเป็นเหยื่อของการถูกล่อลวง เพราะผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่มีการศึกษาระดับประถม 4 หรือประถม 7 ที่สำคัญเราต้องยอมรับว่าการศึกษาบ้านเราไม่ได้ถูกสอนให้คนรู้คิด ใคร่ครวญและพิจารณาแบบญี่ปุ่น จึงตกเป็นเหยื่อง่าย แต่ถ้าอีกสิบถึงยี่สิบปีข้างหน้าประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุที่มีการศึกษาสูงขึ้นก็มีความเป็นไปได้ เราควรค้นหาคนกลุ่มนี้ให้ได้เพื่อจะเป็นไอดอลหรือแบบอย่าง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจเปลี่ยนพลังปรับทัศนคติสังคม
ด้าน ประสาน อิงคนันท์ เจ้าของรายการ "ลุยไม่รู้โรย สูงวัยดี๊ดี และ The Senior รุ่นใหญ่หัวใจไร้ขีดจำกัด" รายการที่สนับสนุนผู้สูงวัยให้มีใจ Active และลุกขึ้นมาทำให้สิ่งที่อยากทำโดยไม่ง้ออายุ เอ่ยว่า "ที่จริงมีผู้สูงอายุจำนวนมากที่ยังแอคทีฟและยังทำงาน สิ่งที่ผู้สูงอายุคือมีวิชามีองค์ความรู้ การที่ทำรายการทำให้รู้ว่าหลายอย่างผู้สูงอายุไม่ได้เป็นแบบที่เราคิด ผมยกตัวอย่าง ยายหิน จังหวัดตรัง ลุกขึ้นมาเตะตะกร้อกับลูกหลานทุกเย็น และผู้สูงวัยอีกหลายคนที่ผมเคยไปทำรายการบุคคลเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจ ไม่ใช่เฉพาะผู้สูงอายุด้วยกัน แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจให้คนทุกวัย หรือลูกหลานเองได้มองเห็นว่า ทำอย่างไรให้พ่อแม่เขาเป็นแบบนี้บ้าง แต่เรื่องที่อยากทำมากคือเรื่องทัศนคติที่ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนเฉพาะผู้สูงวัยแต่เป็นคนอื่นในสังคม เพราะเรามองเป็นเรื่องสำคัญเพราะวันหนึ่งข้างหน้าเราบอกว่าต้องเก็บภาษีคนมากขึ้น หากเราไม่ทำความเข้าใจหรือสื่อสารกันทัศนคติก็จะมีปัญหาเกิดขึ้น เราไม่อยากให้สังคมมองผู้สูงอายุด้วยมุมมองว่าต้องสงสาร แต่มองว่าเขาเป็นเพื่อนร่วมสังคมที่ต้องแชร์กัน"
อีกหนึ่งพลังที่พยายามเดินหน้า ส่งพลังผู้สูงวัยไทยให้ลุกขึ้นเป็น Active Aging ต่อเนื่อง อย่าง ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า ในปี 2564 ไทยจะมีประชากรสูงอายุถึง 1 ใน 5 และในปี 2574 จะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด อย่างไรก็ตามพบว่า ประชากรไทยก่อนวัยสูงอายุกว่าร้อยละ 40 ยังคงไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพในอนาคต ทั้งด้านสุขภาพและความมั่นคงทางรายได้
"ที่ผ่านมา สสส.พยายามสร้างความตระหนักถึงสถานการณ์สังคมสูงอายุของประเทศไทยที่จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของสังคม เช่น อัตราการเกิดที่น้อยส่งผลถึงวัยแรงงานที่จะขาดแคลนในอนาคต การแบกรับภาระการดูแลครอบครัวของคนรุ่นใหม่ แม้ภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมจะรวมกันเตรียมพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงอายุอย่างต่อเนื่องแต่บทเรียนในการเตรียมความพร้อมและพัฒนาระบบเพื่อรองรับสังคมสูงอายุในมิติต่าง ๆ ของทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีก็เป็นประเด็นน่าสนใจ มีการออกแบบนวัตกรรมที่ใช้ในการดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เช่น ธนาคารเวลา ศูนย์สวัสดิการสังคม โดยเฉพาะธนาคารเวลาที่ สสส.ได้ร่วมกับกรมกิจการ ผู้สูงอายุ (ผส.) ดำเนินการในพื้นที่นำร่องของกรุงเทพมหานคร และพื้นที่นำร่อง 42 พื้นที่ใน 28 จังหวัด เหล่านี้เป็นนวัตกรรมทางสังคมที่เป็นประโยชน์สามารถประยุกต์ใช้ตามบริบทของสังคมไทย" ภรณี กล่าวทิ้งท้าย