ถอดรหัส ‘วิชาชีวิต’ ทักษะแรกที่เด็กยุคนี้ต้องเรียนรู้
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ถอดรหัส 'วิชาชีวิต' ทักษะแรกที่เด็กยุคนี้ต้องเรียนรู้ อะไรคือราคาที่ต้องจ่ายของ พวกเขา?
"ซี" (นามสมมติ) สาวน้อยวัย 17 ปี ที่ชีวิตต้องพลิกผัน เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เผลอมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร และ โดยไม่ได้ป้องกัน จนต้องเจอปัญหาท้องไม่พร้อม
มรสุมลูกต่อมาคือคำครหาจากรอบข้าง และการปฏิบัติจากโรงเรียนที่เหมือนเป็นการกระหน่ำซ้ำเติมให้ยิ่งแย่ ซีไม่ปล่อยตัวเองให้จมอยู่กับความทุกข์และปัญหา โดยช่วงที่ท้องอยู่ได้ปรึกษากับมูลนิธิแพธทูเฮลท์ ได้รับคำปรึกษาที่ดีว่า ขอเพียงเข้มแข็งรับมือกับสังคมในโรงเรียนให้ได้ แม้จะ ตั้งท้องก็สามารถไปเรียนตามปกติ เธอจึงยืนหยัดอย่างเข้มแข็ง ควบคู่กับการใช้ชีวิตร่วมกับแฟนและช่วยกันทำงานเลี้ยงลูก
"ตอนแรกที่เจอปัญหานี้ก็ท้อนะ คิดกังวลเครียดเพราะคิดถึงสายตาคนอื่นที่มอง รู้สึกเหมือนโดนสังคมตีตรา แต่พอมาคิดวันนี้เรามองย้อนกลับไป ก็ เออเนอะ เราผ่านมันมาได้นี่ ก็ต้องสู้ต่อ"
ท้ายสุดเธอฝากโรงเรียนหรือคนรอบข้างว่าเวลาเด็กมีปัญหาไม่ควรซ้ำเติมใน วันที่ผิดพลาด แต่อยากให้ร่วมกันหาทางออกมากกว่าพยายามปกปิดหรือ ขจัดคนที่ก้าวพลาดออกไปจากโรงเรียน หรือพื้นที่
ด้าน "ฟรอยด์" อดีตวัยรุ่นที่ เล่นเกมส์หนัก เข้าขั้นเล่นข้ามวันข้ามคืน เขาเคยทำสถิติสูงสุดของคือเล่น 3 วันติด! ฟรอยด์ย้อนถึงประสบการณ์อดีตช่วงนั้นว่า
"ตอนที่ติดหนักมาก เริ่มไม่อยากเข้าสังคม เพราะพอออกไป สังคมก็ตีตรา มองเราว่าเป็นเด็กติดเกมส์ ก็เลยไม่อยากเจอใคร ไม่อยากไปโรงเรียน"
ประกอบกับแอนตี้ระบบโรงเรียน ฟรอยด์ก็เลยโดดเรียนมาเล่นเกมส์ หนักขึ้นจนถึงขั้นเลิกเรียน ความฝันของ ฟรอยด์ก่อนหน้าคืออยากเป็นนักเล่นเกมส์อาชีพ (Caster) ซึ่งต่อมาความสุขกับ เกมส์ชีวิตของฟรอยด์เริ่มเปลี่ยนไป
"มีช่วงหนึ่งรู้สึกเบื่อๆ ไม่มีอะไรทำ เพื่อนคนหนึ่งก็ชวนให้เราไปดูคนทำศิลปะบนกำแพง ผมค้นพบว่ามันจุดประกายอะไรในตัวเราสักอย่าง เลยลองทำดูบ้าง ค้นพบว่าเราอยากทำตรงนี้จริงๆ ยิ่งได้ผลตอบรับดี คนรอบข้างมองเราเปลี่ยนไปว่ากลายเป็นเด็ก สร้างสรรค์ ทำสิ่งเป็นประโยชน์ก็เลยยิ่งชอบ"
ส่วน "บี" (นามสมมติ) อีกหนึ่งหนุ่ม อายุ 19 ปี เขามีอดีตที่เคยก้าวพลาดจนทำให้ต้องมาอยู่ในสถานพินิจ ในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก เหตุเพราะติดการพนันจนลามไปถึงต้องปล้น!
เขาเล่าว่า ตั้งแต่โตมาใช้ชีวิตอยู่กับสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยการพนัน เพราะ พ่อเปิดบ่อน ส่วนตนเริ่มเล่นพนันตั้งแต่อายุ 10 ขวบ รวมทั้งติดสารเสพติดตามมา
"ตอนนั้นคิดว่าการพนันไม่ใช่เรื่องผิดสำหรับผม แต่พอเล่นไปแล้วติดหนี้ เยอะมาก ไม่มีเงินจ่าย เงินเริ่มขาดมือ เลยชวนกันกับพี่ชายไปปล้นร้าน เซเว่นอีเลฟเว่น ตอนหลังเริ่มไปปล้นเอง จนกระทั่งมาถูกตำรวจจับ"
เขานิ่งไปอึดใจ ก่อนเล่าต่อถึงวันที่ อยู่ในคุกแล้วมีพ่อแม่เดินถือกล่องข้าว มาเยี่ยมด้วยสีหน้าเป็นทุกข์
"ผมน้ำตาคลอเบ้า มานึกว่า ทำไมเราเห็นแก่ตัว คิดถึงแต่ตัวเอง ไม่เคยแคร์ พวกเขาเลย จนเรามาถึงจุดนี้"
สำหรับ "บี" การได้เข้ามาใช้ชีวิต ที่บ้านกาญฯ ยิ่งทำให้รู้จักคำว่าวิชาชีวิต ได้สติคิดบวกมากขึ้น มองสังคมมองปัญหาต่างๆอย่างเข้าใจ หากพ้นโทษก็อยากขอโอกาสจากสังคมให้คนที่ก้าวพลาดที่พร้อมจะปรับตัวเปลี่ยนเป็นคนใหม่ ให้ได้ ให้มีพื้นที่ยืนอย่างภาคภูมิใจในสังคม
"เราได้คิด ยิ่งพอเห็นพ่อกับแม่ ก็เลยรู้สึกว่าวันนี้ต้องเปลี่ยนแปลงจุดบกพร่อง ตัวเอง เพื่อคนข้างหลัง"
วิชาชีวิต ทางรอดเด็กและเยาวชน
3 เรื่องราวด้านบนดังกล่าวเป็นเพียง 3 ประสบการณ์ที่ถูกถ่ายทอดโดย 3 วัยรุ่น ที่เคยหลุดกรอบจนเกือบเอาตัวไม่รอด โดยพวกเขามาร่วมเล่าเป็นอุทาหรณ์แก่เพื่อนเยาวชนวัยเดียวกัน ในกิจกรรม "วิชาชีวิต…ทางรอดเด็กและเยาวชน" เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ ประจำปี 2561
ซึ่งจัดขึ้นวันก่อนหน้าวันเยาวชนแห่งชาติ ที่ผ่านมา โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ ภาคีเครือข่าย อาทิ เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก นักศึกษาคณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา โดยหวังจะเป็นกิจกรรมเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็กและเยาวชน ทั้งในระบบการศึกษา นอกระบบการศึกษา รวมถึงเด็กเยาวชนที่เคยก้าวพลาดในชีวิต เพื่อให้สังคมได้เข้าใจและให้โอกาส รวมถึงเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนที่เคยก้าวพลาด มาร่วมเปิดประสบการณ์วิชาชีวิต ณ ลานกิจกรรม เกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่สำคัญทุกฝ่ายหวังกระตุ้นทุกภาคส่วนให้หันมามองปัญหาเด็กอย่างเข้าใจและ ให้โอกาส ทั้งเห็นเป็นเรื่องสำคัญ
"เราไม่ต้องการวาทกรรมหรูหราจากผู้ใหญ่ แต่เราต้องการนโยบายที่ชัดเจน และปักหมุดเป้าหมายการมีวิชาการใช้ชีวิตสำหรับเด็กและวัยรุ่น เพื่อที่เขาจะได้ไม่ต้องติดคุก หรือไม่ต้องเสี่ยงตกไปอยู่ ไปอยู่ในเส้นทางชีวิตซึ่งมีราคาแพงที่ต้องจ่าย" ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก หรือ "ป้ามล" ของเด็กๆ บ้านกาญจนาฯ เผยความในใจจากประสบการณ์ที่เธอทำงานกับกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ต้องประสบปัญหาที่ยากรับมือ เพราะขาดภูมิคุ้มกันชีวิต
"รู้ไหม ว่าการติดคุก 1 ปี เท่ากับ คนติดคุกทั้งครอบครัว เพราะทุกคนต้อง เจ็บปวด ดังนั้นปัญหานี้มันต้องแก้ไข แต่จะให้เด็กลุกมาทำเองหมดก็คงไม่ได้ ผู้ใหญ่ต้องฟังเสียงเขา เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบาย สร้างพื้นที่ กำหนดพื้นที่ ให้เขาได้มีพื้นที่ของตัวเองบ้าง"
ล่าสุดมีข้อมูลที่น่ากังวลโดยพบว่า เด็กและเยาวชนไทยเล่นพนันมากถึง 3.6 ล้านคน มีนักดื่มหน้าใหม่ 250,000 คนต่อปี ขณะเดียวกัน เด็กไทยอายุ 15-24 ปี ติดบุหรี่แล้วกว่า 1,500,000 คน โดยมีเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ก่อคดีเข้าสู่สถานพินิจฯ 30,000 คนต่อปี เกือบครึ่งเป็นคดียาเสพติด
ป้ามล เล่าว่า ความตั้งใจวันนี้คือนำประสบการณ์ของเด็กที่เคยอยู่ "ปลายน้ำ" มาก่อน พยายามนำมาถอดรหัสเพื่อนำสิ่งที่ได้ย้อนกลับไปยัง "ต้นน้ำ" เพื่อป้องกัน ไม่ให้ใครหลุดมาอยู่ปลายน้ำต่อไปอีก
"คำบอกเล่าของเด็กๆ เหล่านี้ คือการถอดรหัสที่เราจะพยายามนำเสนอให้เกิดขึ้นในหลักสูตรของโรงเรียน …มีเด็กบ้านกาญจนาฯ คนหนึ่ง เคยเขียนบทความให้เราอ่าน จากอดีตเด็กเรียนเก่งเรียนดีชีวิตเขาพลิกผันเคยกลายเป็นปล้นฆ่า เขาบอกเราว่าเขาไม่รู้ว่าอะไรทำให้เขามาถึงจุดนี้ ที่สำคัญเขาบอกว่า การเรียนวิชาอย่างเรื่อง พายอาร์ กำลังสอง มันกลับใช้ไม่ได้ในชีวิตจริง นอกห้องเรียน"
ทางรอดของพ่อแม่
ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) เอ่ยว่า การเปิดพื้นที่ในวันนี้ โดยนำเด็กและเยาวชนที่อยู่ปลาย Curve เคยผ่านประสบการณ์ต่างๆ มาถอดรหัส เป็นวิชาชีวิต เพื่อนำมาดูกัน ถก อภิปรายอย่างเปิดกว้าง มีการนำศิลปะและกิจกรรมต่างๆ มาใช้ในเวที และนำไปสู่บทวิเคราะห์ ข้อสรุปที่ว่าทำอย่างไรถึงจะสังเคราะห์ วิชาชีวิตสำหรับเด็กวัยรุ่นคนอื่นๆ ในสังคมได้
"สำหรับผู้ใหญ่ ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า ปัจจุบันโลกเราแต่ละเจนเนอเรชันหดสั้นลงและแต่ละเจนเนอเรชันก็มีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันสิ้นเชิงและเปลี่ยนไปเร็วมาก ดังนั้นผู้ใหญ่ควรพยายามเรียนรู้เข้าใจ สิ่งแวดล้อมใหม่ของเด็ก
ที่สำคัญเมื่อเข้าใจแล้วต้องเท่าทัน ในวิธีการช่วยเหลือหรือดูแลเขา เช่น การเสริมทักษะที่เด็กรุ่นนี้ต้องมี เพื่อที่จะช่วยให้เขาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างเข้มแข็ง เลิกมาตรการเก่า เช่น การสั่ง การห้าม อย่าทำโน่นนี่ ซึ่งจริงๆ แล้ว เด็กทุกรุ่นมีความเป็นกบฎทั้งนั้น แต่รุ่นนี้อาจรุนแรงขึ้น เขามีวิธีหนีไปอยู่ในโลกที่พ้นหูพ้นตาพ่อแม่มากขึ้น เช่นโลกเสมือน โลกออนไลน์ มีการเชื่อมโยงกับโลกนอกสายตาพ่อแม่มากมาย ดังนั้นถึงเราจะห้ามหรือควบคุมเขาก็ไม่อยู่ ทางรอดเดียวของพ่อแม่คือเข้าใจพฤติกรรมเหล่านี้ของเขามากขึ้น สอนให้เขาเท่าทันสื่อ และขณะเดียวกันตัวพ่อแม่เองก็ต้อง เรียนรู้เท่าทันสื่อเหล่านี้เช่นกัน" ผู้จัดการ สสส.กล่าว
สำหรับการนำเสนอแนวคิดเรื่อง "วิชาชีวิต หรือ ทักษะชีวิต" ครั้งนี้ หวังอย่างยิ่งที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะด้านการศึกษา จะได้ตระหนักถึงปัญหานำไปสู่การพัฒนาต่อยอดให้เกิดการเรียนรู้ที่ยั่งยืนต่อไป