ถอดรหัส ‘นาโยง’ บูรณาการลดอุบัติเหตุ
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
แฟ้มภาพ
ถอดรหัสจาก' นาโยง' 'บูรณาการ'ลดอุบัติเหตุ ปกป้องชีวิต-รักษาทรัพย์สิน
เทศบาลตำบลนาโยงเหนือ อ.นาโยง จ.ตรัง เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดกลางอีกแห่งหนึ่งในพื้นที่อำเภอนาโยง จ.ตรัง มีพื้นที่ประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 4 ชุมชน ประกอบด้วย ชุมชนท่าควาย หนองเหรียง หนองไทร และชุมชนวัดพุทธสิหิงค์ โดยมี การุณย์ ลิ่มไทย ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลนาโยงเหนือ มีการพัฒนาความเจริญในทุกด้านตามภาระหน้าที่ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพื้นที่เทศบาลตำบลนาโยงเหนือ อ.นาโยง จ.ตรัง แห่งนี้มีลักษณะพื้นที่ที่มีการคมนาคมสัญจรเส้นทางผ่านไปยังจังหวัดใกล้เคียง ทั้งจังหวัดสตูล พัทลุง และผ่านเข้าสู่เขตอำเภอเมืองตรัง ส่งผลให้ที่ผ่านมาการประสบอุบัติเหตุบนท้องถนนมีอัตราที่สูง ผู้บริหารเทศบาลจึงดำเนินการ บูรณาการทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกัน รวมถึงภาคประชาชนในพื้นที่ รวมถึงการให้ความสำคัญของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงในการจัดการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง จนกระทั่งเทศบาลตำบลนาโยงเหนือได้เป็นพื้นที่เทศบาลนำร่องด้านการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุบนท้องถนนไปแล้ว
เมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมคณะเดินทางลงพื้นที่เทศบาลตำบลนาโยงเหนือ อ.นาโยง จ.ตรัง เพื่อติดตามการดำเนินงานขับเคลื่อนการป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนนของ สสส. และภาคีเครือข่ายลดอุบัติเหตุ โดยตั้งวงเสวนาจาก ผู้ร่วมกิจกรรมระหว่างคณะกรรมการ สสส.และหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดตรัง เปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง
ในฐานะนายกเทศมนตรีตำบลนาโยงเหนือ ให้ความเห็นว่า จากการที่สถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลนาโยงเหนือ ที่ผ่านมามีอัตราสูงเป็นลำดับ ทางเทศบาลจึงศึกษา และพบว่าปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุมาจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่ ปัจจัยด้านรถหรือยานพาหนะ ปัจจัยด้านถนนและสิ่งแวดล้อม และปัจจัยด้านการบริหารจัดการ ทางเทศบาลตำบลนาโยงเหนือจึงจัดทำโครงการรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนขึ้น ด้วยการขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชนจัดทำหามาตรการป้องกัน กระทั่งประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ
"จากสถิติอุบัติเหตุในเขตเทศบาลตำบลนาโยงเหนือ ก่อนดำเนินการ มกราคม-ธันวาคม 2558 พบว่าเกิดอุบัติเหตุ 35 ครั้ง บาดเจ็บ 35 ราย ไม่มีเสียชีวิต หลังจากที่จัดทำโครงการ ปรากฏว่าตั้งแต่มกราคมปัจจุบัน 2559 เกิดเหตุ 17 ครั้ง บาดเจ็บ 5 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต
รวมถึงการรณรงค์สวมหมวกนิรภัย จากเดิมมีผู้สวมหมวก 31.22% หลังดำเนินการมีอัตราเพิ่มขึ้น เป็น 48.67% ขณะนี้ทางเทศบาลยังได้มีการจัดทำโครงการถนนสีขาว ด้วยการดำเนินการติดตั้งกระจกโค้ง 18 จุด ลูกระนาดยางสีเทอร์โมพลาสติด 8 จุด ป้ายจราจร 36 จุด ติดตั้งไฟส่องสว่างในเขตชุมชนบริเวณทางแยกทุกแยก ปรับปรุงภูมิทัศน์ตกแต่งสิ่งกีดขวางที่บดบังทัศนวิสัยในการขับขี่
"พร้อมทั้งทำความสะอาดฉีดล้างถนนและไหล่ทางเพื่อกำจัดสิ่งสกปรกและฝุ่นละออง กิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันและลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ดีในระดับหนึ่ง" การุณย์กล่าว
ทางด้าน สกุล ดำรงเกียรติกุล นายอำเภอนาโยง กล่าวว่า ในส่วนของอำเภอนาโยงมีการจัดตั้งคณะกรรมการป้องกันและลดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยมีภาคราชการ เอกชน รวมถึงภาคประชาชน ผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ ดำเนินการร่วมกัน มีการดำเนินการขับเคลื่อนมาโดยตลอด มุ่งเน้นการปลูกจิตสำนึกให้ผู้ขับขี่ในการใช้รถใช้ถนน อีกทั้งทางเทศบาลตำบลนาโยงเหนือ ร่วมกับอำเภอนาโยงจัดทำโครงการรณรงค์ให้ผู้ขับขี่สวมหมวกนิรภัย 100% ซึ่งเป็นเทศบาลนำร่องในการขับขี่รถจักรยานยนต์ การตั้งด่านจุดตรวจจุดสกัดของทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีการประชุมปรึกษาหารือกันโดยตลอด มีการวิเคราะห์ถึงสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุอีกด้วย
ขณะที่ ฤทัย กังเส้ง นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตรัง กล่าวว่า ทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตรังดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายความปลอดภัยบนท้องถนน ด้วยการประสานความร่วมมือภาคีทุกเครือข่าย มีการประชุม จัดเก็บข้อมูล อบรมให้ความรู้ ความเข้าใจ สร้างการมีส่วนร่วม รวมถึงการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จนนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ตรงจุด สามารถขยายเครือข่าย และบูรณาการการทำงานมากขึ้น เกิดบทเรียนองค์ความรู้นำไปปรับและนำไปสู่การขยายผล
อรชร อัฐทวีลาภ หัวหน้าคณะทำงานสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัด (สอจร.) ภาคใต้ ให้ความเห็นว่าการดำเนินการป้องกันและแก้ไขลดปัญหาอุบัติเหตุ นำยุทธศาสตร์มังกร 5 หัวมาปรับใช้ ประกอบด้วย มาตรการองค์กร นโยบาย พัฒนาระบบข้อมูล พัฒนาภาคีเครือข่าย รวมถึงสื่อสารสาธารณะ ด้วยการควบคุม กำกับดูแล โดย สอจร.ภาคใต้ ด้วยการสนับสนุนการบริหารจัดการภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม ซึ่งขณะนี้ผลการดำเนินการมีความก้าวหน้าจากความร่วมมือของทุกภาคีเครือข่าย ที่คาดหวังว่าจะสามารถป้องกันและลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคตได้เป็นอย่างดี
สำหรับ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แสดงความเห็นว่า ที่ผ่านมาการรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนนโดยภาพรวมจะมีการดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่ระดับประเทศ ลงไปในระดับจังหวัด ชุมชน ตำบล หมู่บ้าน ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือสร้างความเข้มแข็ง จะทำให้ผลกระทบจากอุบัติเหตุลดลง การแก้ปัญหาจะดำเนินการโดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งคงไม่ได้ อีกทั้งจะต้องดำเนินกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ และจะต้องมีการสร้างเครือข่ายให้เกิดการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน
"ตัวอย่างในพื้นที่เทศบาลตำบลนาโยงเหนือ อ.นาโยง จ.ตรัง ซึ่งถนนที่สัญจรเป็นเส้นทางระหว่างจังหวัด ไปยังจังหวัดสตูล พัทลุง โดยมีเส้นทางเขาพับผ้า ที่เป็นจุดเสี่ยง ซึ่งผู้ขับขี่ถนนมาจากร้อยพ่อพันแม่ ดังนั้นในพื้นที่จะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด บูรณาการทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบปฏิบัติหน้าที่ด้วยกัน จะต้องมีการสำรวจพื้นที่ถนนทั้งในทางกายภาพ รวมถึงจุดเสี่ยง จุดอันตราย เพื่อจะได้เป็นการป้องกัน และลดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไป
"อย่างไรก็ตามจากการติดตามการปฏิบัติหน้าที่ของเครือข่าย สสส.ในพื้นที่เทศบาลตำบลนาโยงเหนือ ปรากฏว่า ประสบผลสำเร็จอย่างน่าพอใจ เป็นเทศบาลตำบลนำร่องในเรื่องนี้ได้ โดยเฉพาะโครงการรณรงค์ให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัย 100% โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี" ดร.สุปรีดาแจงให้ฟัง
ด้าน พล.ร.อ.ณรงค์ให้ความเห็นว่า จากการดำเนินงานมาในช่วงระยะ 2 ปี สถิติลดลงเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บลดลงไปกว่าครึ่ง เนื่องจากชุมชนเองให้ความร่วมมือในเรื่องของการลดจุดเสี่ยงทางกายภาพ มีการรณรงค์เรื่องการรักษาระเบียบวินัยการจราจร การสวมหมวกนิรภัย ซึ่งในช่วงแรกทราบว่ามีปัญหาอยู่บ้าง แต่หลังจากนั้นประชาชนให้ความร่วมมืออย่างดี ซึ่งในพื้นที่เทศบาลตำบลนาโยงเหนือ อ.นาโยง จะเป็นแบบอย่างให้กับชุมชนอื่นต่อไป
อย่างไรก็ตามโดยภาพรวมของประเทศแล้ว จำนวนผู้ประสบอุบัติเหตุมีสถิติเกิดเป็นอันดับ 2 ของโลกนั้น ซึ่งทางรัฐบาลตั้งเป้าหมายว่าจะลดลงให้ได้ภายใน 10 ปี จนถึงขณะนี้เหลือเวลาเพียง 4-5 ปีนั้น เรื่องดังกล่าวนั้นมีคณะกรรมการดูแลเรื่องนี้โดยตรง มีคณะกรรมการระดับชาติ ซึ่งตนเองไม่ได้มีส่วนร่วมในคณะกรรมการชุดนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนน ก็มีคณะกรรมการดูแลอยู่
ผมเข้ามาเกี่ยวข้องเนื่องจากเป็นประธานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการที่จะแก้ปัญหาอุบัติภัยบนท้องถนน หากจะให้บอกรายละเอียดของการแก้ปัญหาในเรื่องนี้จะต้องได้ไม่เต็มที่ แต่ในนามของ สสส.ได้ขอความ ร่วมมือจากชุมชนให้ความช่วยเหลือ ถ้าทุกชุมชนมีความเข้มแข็งในอันที่จะช่วยกันป้องกันและลดอุบัติเหตุ บนท้องถนนได้ ที่สุดแล้วในภาพรวมก็จะสามารถลดลงได้
"ในส่วนของภาพรวมระดับประเทศที่มีการดำเนินอยู่ในขณะนี้นั้น ผมมั่นใจว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องทำได้ ส่วนจะลดด้วยวิธีการไหนนั้น ก็ต้องยึดหลักปัจจัยในหลายด้านมาบูรณาการด้วยกัน ประการแรก ต้องดูว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนเกิดจากสาเหตุอะไร ไม่ว่าจะเป็นลักษณะทางกายภาพบนท้องถนน จุดเสี่ยง รวมถึงในเรื่องของความมีวินัยกฎหมายจราจร รวมถึงลักษณะของรถที่ขับขี่นั้นมีความสมบูรณ์ มีการตรวจสอบสภาพรถหรือไม่อย่างไร ดังนั้นหากทุกปัจจัยได้รับการแก้ไข โดยใช้ความร่วมมือ การบังคับใช้กฎหมาย ก็ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เข้มงวด จำนวนอุบัติเหตุบนท้องถนนก็จะลดลง" พล.ร.อ.ณรงค์กล่าว
การเดินทางลงพื้นที่ของ พล.ร.อ.ณรงค์ และคณะครั้งนี้ เป็นการแต่งเติมพลังให้กับบรรดาภาคีเครือข่ายที่กำลังดำเนินการการป้องกันลดปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนให้ลดลง ให้มีกำลังใจขับเคลื่อนกิจกรรมจนบรรลุวัตถุประสงค์ เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือการลดความสูญเสีย ทั้งด้านชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน รวมถึงงบประมาณของแผ่นดินด้วย