ถอดรหัสเรียนรู้ จากเด็กด้อยโอกาส สู่เด็กได้โอกาส
รร.บ้านห้วยไร่สามัคคี ต้นแบบการสอนนอกกรอบเพื่อสร้างอาชีพแก่นักเรียน เพื่อตีโจทย์ “การเรียนรู้เพื่อชีวิตจริงในสังคม” ด้วยการนำข้อมูลความรู้จากกรณีศึกษา มาสังเคราะห์เป็นแนว มาตรการ หรือข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อนำไปใช้ปฏิบัติ
เวที “ปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อคนทั้งมวล” โดยการผนึกกำลังของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เพื่อตีโจทย์ “การเรียนรู้เพื่อชีวิตจริงในสังคม” ด้วยการนำข้อมูลความรู้จากกรณีศึกษาตัวอย่างมาสังเคราะห์เป็นแนว มาตรการ หรือข้อเสนอเชิงนโยบาย โดยร่วมกับองค์กรเครือข่ายทุกภาคส่วนในสังคม
โจทย์แรกของเวทีแลกเปลี่ยนเพื่อปฏิรูปการเรียนรู้ คือ “การศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อสัมมาชีพ” ผ่านกรณีศึกษา “โรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี” อำเภอแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย หนึ่งในกรณีศึกษาโรงเรียนนอกกรอบที่จัดการเรียนการสอนด้วยการสร้างอาชีพให้กับนักเรียน
นายศุภโชค ปิยะสวัสดิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี สะท้อนว่า ผมไม่อยากให้เด็กจบ 4.00 แล้วทำอะไรไม่เป็นสักอย่างในเมื่อเขาจบแล้วไม่ได้ไปเรียนต่อ
“เนื่องจากนักเรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กชาวเขา และมีปัญหาการแข่งขันด้านการเรียน จบมาก็ไม่ได้เรียนต่อ จึงเกิดแนวคิดบรรจุหลักสูตรวิชาชีพเข้าไป โดยได้แนวคิดจากโครงการพัฒนาดอยตุงของสมเด็จย่า และเชิญผู้รู้ด้านอาชีพมาช่วยสอน จนปัจจุบันได้เกิดการสอน 5 หลักสูตร ทั้งสายสามัญ เกษตรกรรม คหกรรม อุตสาหกรรม และคอมพิวเตอร์ธุรกิจจีน เพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้ของนักเรียนที่จบไปแล้วสามารถประกอบอาชีพและอยู่รอดได้ในสังคม” ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนบ้านเมืองกึ้ด อำเภอแม่แตง จ.เชียงใหม่ ที่ประสบผลสำเร็จในการจัดการเรียนการสอน เพื่อสร้างสัมมาชีพ มาร่วมแลกเปลี่ยนในเวทีปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อคนทั้งมวล ในวันที่ 9 ก.พ. ณ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
ร่วมถอดรหัส“การศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อสัมมาชีพ” โดยติดตามการรายงานสดได้ทาง twitter สสค. @qlfthailand และที่ facebookhttp://www.facebook.com/qlfthailand ระหว่าง เวลา 13.30-16.30 น. วันที่ 9 ก.พ.นี้
ที่มา: สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน