ถอดบทเรียน ความสำเร็จบุหรี่ไฟฟ้า จากบราซิลส่งต่อถึงไทย

ข้อมูลจาก : งานเสวนาวิชาการเรื่อง “ทำอย่างไร บราซิลจึงสามารถคงกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้า ท่ามกลางการแทรกแซงของบริษัทบุหรี่”

ภาพโดย พงศ์ศุลี จีระวัฒนรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

                    หลังจากผู้เชี่ยวชาญยาสูบบราซิลสนับสนุนให้ไทย “แบน” บุหรี่ไฟฟ้า ตามรอยบราซิล ที่ทำได้ทั้งแง่ของการออกกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้าทุกชนิด และลดจำนวนนักสูบหน้าใหม่ ที่เชื่อว่าไทยน่าจะทำได้ไม่ยาก เพราะสัดส่วนประชากรบราซิลมากกว่าไทยด้วยซ้ำ แต่ความสำเร็จใช่ว่าจะเกิดขึ้นในเวลาไม่นาน เพราะบราซิลใช้เวลาถึง 14 ปี จึงมีวันนี้

                    ในการเสวนาวิชาการเรื่อง “ทำอย่างไร บราซิลจึงสามารถคงกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้า ท่ามกลางการแทรกแซงของบริษัทบุหรี่” ดร.อังเดร ลูอิส โอลิเวร่า ดา ซิลวา ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมยาสูบจากสำนักงานเฝ้าระวังสุขภาพแห่งชาติบราซิล (ANVISA) ให้ข้อมูลแลกเปลี่ยนประสบการณ์การขับเคลื่อนกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้า และการรณรงค์เรื่องบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศบราซิล ว่า เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา  ทางบราซิลเพิ่งออกกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้าฉบับใหม่ RDC 855/2024 จากฉบับเดิมที่เคยบังคับใช้ในปี 2009 โดยนิยามของบุหรี่ไฟฟ้าครอบคลุมบุหรี่ไฟฟ้าทุกประเภท ทั้งแบบเติมน้ำยา (บุหรี่ไฟฟ้าทั่วไป พอต) แบบแห้ง (heat not burn) และแบบไฮบริด (ใช้ได้ทั้งเติมน้ำยา และใบยาสูบ) รวมทั้งอุปกรณ์การสูบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นน้ำยาที่สกัดจากใบยาสูบหรือสังเคราะห์ และห้ามผลิต นำเข้า จำหน่าย ครอบคลุมการจัดเก็บ การขนส่ง การโฆษณาทุกรูปแบบ รวมออนไลน์ และการสูบในที่สาธารณะ

                    “หลักฐานทางการแพทย์ยืนยันชัดเจนว่า ฤทธิ์การเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าสูงกว่าบุหรี่ธรรมดา บุหรี่ไฟฟ้าบางรุ่นสูบได้ถึง 10,000 พัฟ (คำ) มีปริมาณสารนิโคตินสูงเทียบเท่าบุหรี่ธรรมดาถึง 1,000 มวน ปัจจุบันมีบุหรี่ไฟฟ้าบางชนิดสูบได้มากถึง 25,000 พัฟ (คำ) นอกจากนี้ยังพบว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายต่อปอด หัวใจ ไม่ต่างจากบุหรี่ธรรมดา และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และเป็นสาเหตุให้คนเสพติดทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดาแบบควบคู่” ดร.ซิลวา กล่าว

                    ส่วนข้อมูลด้านเด็กและเยาวชนเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ดร.ซิลวา กล่าวว่า การโฆษณาที่ระบุว่า การใช้บุหรี่ไฟฟ้าช่วยทำให้ผู้ใหญ่เลิกสูบบุหรี่ธรรมดาได้นั้น เป็นการให้ข้อมูลที่ผลลัพธ์ไม่มีความคุ้มค่า เพราะต้องแลกมาด้วยอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนถึง 80 คน ที่จะทำให้ผู้ใหญ่ 1 คนเลิกบุหรี่ และไม่มีข้อมูลที่จะช่วยให้เด็กเลิกบุหรี่ไฟฟ้าได้ หากมีการลองสูบแล้ว นอกจากนี้ยังพบว่า บุหรี่ไฟฟ้ายังดึงดูดเด็กและเยาวชนให้เข้ามาสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้าแบบพอต ส่วนวิธีการรณรงค์ป้องกันการสูบบุหรี่ในเยาวชน ยังเห็นว่าการให้ข้อมูลที่ตรงไปตรงมา ไม่บิดเบือน จากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ จะช่วยให้เกิดความตระหนัก ร่วมกับข้อมูลจาก NGO หน่วยงานภาครัฐ และพลังเยาวชนจะช่วยลดการสูบบุหรี่ไฟฟ้าลง

                    “การปราบปรามการนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า และแหล่งจำหน่ายทางออนไลน์นั้น ทาง  ANVISA มีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทั้งเข้าประสานกับแหล่งหรือบริษัทที่เป็นสถานที่พักสินค้าตั้งแต่ต้นทาง ทำให้ง่ายแก่การสกัดกั้น และยังมีอำนาจในการสั่งปิดเว็บไซด์ได้ทันที โดยปิดไปแล้วถึง 2,000 เว็บไซด์” ดร.ซิลวา กล่าว

                    ทั้งนี้ ดร.ซิลวา ยังให้ข้อแนะนำประเทศไทยว่า ในการต่อสู้กับบุหรี่ไฟฟ้า ต้องใช้ข้อมูลและหลักฐานที่แท้จริงทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ มาช่วยลบล้างข้อมูลที่บิดเบือน ที่เกิดจากแรงสนับสนุนของธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้า และต้องทำกิจกรรมรณรงค์กับสังคมร่วมกับพัฒนาการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องด้วย

                    ด้าน รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า บริบทของประเทศบราซิลและประเทศไทยมีความใกล้เคียงกัน ในการดำเนินการห้ามนำเข้า ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า แต่พบว่าอัตราการสูบบุหรี่ธรรมดาของบราซิลกลับลดลงต่อเนื่อง และเมื่อมีกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้าสำทับเข้าไปอีก ส่งผลให้อัตราการสูบบุหรี่ของบราซิลลดเหลือ 9.1% (ปี 2564) จากเดิม 14.1% (ปี 2552) ส่วนอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนของบราซิลก็อยู่ในระดับต่ำเพียง 2.8%

                    “จุดต่างของบราซิลและไทย คือบังคับใช้กฎหมาย และการออกกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าเบ็ดเสร็จในจุดเดียว ซึ่งไทยต้องพัฒนา แต่ก็เข้าใจถึงโครงสร้างหน่วยงานราชการที่แตกต่างกัน แต่โครงการของการรณรงค์คล้ายคลึงกัน ตั้งแต่นักวิชาการ บุคลากรทางการแพทย์ เอ็นจีโอ แต่อาจยังเข้าถึงข้อมูลไม่มากนัก จึงต้องให้ข้อมูลกับกลุ่มเหล่านี้มากขึ้น เพื่อส่งต่อข้อมูลผ่านสื่อดิจิทัลให้ตรงกับลักษณะการบริโภคของสื่อในเยาวชน” รศ.ดร.พญ.เริงฤดี

                    ส่วนมาตรการและกลไกการบังคับกฎหมายเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าของไทย รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวว่า ปัจจุบันมีกฎหมายอยู่ 4 ฉบับ 1. ประกาศกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2557 ที่กำหนดในเรื่องของการห้ามนำเข้า 2. คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 กำหนดห้ามขาย และห้ามให้บริการ 3. พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 ห้ามนำเข้า และห้ามครอบครอง 4. พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ห้ามสูบในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งทั้งหมดนี้มีโทษปรับและโทษจำคุก และขณะนี้มีความพยายามที่จะทำกฎหมายใหม่ จากคณะกรรมาธิการฯ ในสภาผู้แทนราษฎร

                    “พบว่าบริษัทบุหรี่ไฟฟ้า มีความพยายามแทรกแซงในคณะกรรมการธิการฯ ชุดนี้ ทำให้กฎหมายบุหรี่ไฟฟ้าอ่อนลง ซึ่งเรื่องนี้ยังพอแก้ไขได้ แต่ต้องอาศัยพลังมวลชนออกมาขับเคลื่อนรณรงค์ สร้างความตระหนัก ทำให้การออกกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายมีความเข้มแข็ง จริงจัง เพราะในบราซิลก็เจอปัญหาคล้ายกับไทยเช่นนี้ แต่นักการเมืองเข้าใจ เชื่อในข้อมูลของนักวิชาการ และบุคลากรทางการแพทย์ การออกกฎหมายจึงสำเร็จ” รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าว

                    ในการให้ข้อมูลบุหรี่ไฟฟ้ากับเยาวชน รศ.ดร.พญ.เริงฤดี มองว่า ปัจจุบันยังไม่มีความแน่ชัดว่า เยาวชนทุกวันนี้ ได้รับข้อมูลและเข้าถึงข้อมูลเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าหรือไม่ เพราะไม่สามารถระบุได้จากคำค้นหา หรือช่องทางเฉพาะว่า เยาวชนรับทราบข้อมูลนี้ ฉะนั้นการรณรงค์ให้ข้อมูลยังคงต้องทำอย่างเข้มข้นต่อไป และจะหาช่องทางที่สามารถยืนยันชัดเจนว่า เยาวชนได้รับทราบข้อมูลบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว

                    ขณะที่ตัวแทนเยาวชนคนรุ่นใหม่ นศพ. พิสิษฐ์ ชิงสกล สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย ในฐานะประธานฝ่ายรณรงค์เพื่อสุขภาพให้มุมมองต่อเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ว่า ข้อมูลบุหรี่ไฟฟ้าที่เป็นอยู่ขณะนี้อาจไม่ถูกทางกับการบริโภคสื่อของเยาวชน ข้อมูลการแพทย์ที่อัดแน่นมากจนเกินไป ไม่ได้ถูกย่อย หรือสอดแทรกมุกตลกขำขัน ทำให้ไม่เกิดภาพจดจำ ฉะนั้นในฐานะที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ และคนรุ่นใหม่ เห็นว่าต้องปรับการนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นสื่อรูปแบบใดก็ตาม

                    “ถ้อยคำที่สื่อสารกับคนรุ่นใหม่ ต้องง่าย สั้น ขำขัน เพื่อเกิดให้จดจำ และช่องทางการสื่อสาร ต้องเลือกใช้ที่เยาวชนเข้าถึงได้ง่าย เช่น ติ๊กต๊อก เฟซบุ๊ก ขณะเดียวกันการเลือกใช้อินฟูเอนเซอร์ หรือ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ออกมาให้ข้อมูลก็ควรมีช่วงวัยที่ไม่แตกต่างกันมาก เพื่อสื่อสารที่เข้าใจตรงกัน มองเห็นถึงปัญหา และภัยคุมคามของบุหรี่ไฟฟ้าไปในทางเดียวกัน” นศพ. พิสิษฐ์ กล่าว

                    หลายประเทศตื่นตัวถึงภัยคุกคามบุหรี่ไฟฟ้าที่ใช้ข้ออ้างสารพัดว่าดีงามทันสมัย รูปแบบพอตที่น่ารัก พกพาง่าย ชวนใจละลาย ต้องลอง มิหนำซ้ำยังมีการแทรกแซงของบริษัทบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้การออกกฎหมายควบคุมเกิดช่องโหว่ ฉะนั้นแนวทางการสกัดกั้นบุหรี่ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มไม่เพิ่มจำนวนนักสูบหน้าใหม่ คือ การให้ข้อมูลที่ถูกต้อง สร้างความตระหนักรู้และเข้าถึงข้อมูลตรงต่อผู้บริโภค

 

Shares:
QR Code :
QR Code