ถอดบทเรียนโควิด-19 สร้างระบบอาหารยั่งยืน

ที่มา : ข่าวสด


ถอดบทเรียนโควิด-19 สร้างระบบอาหารยั่งยืน thaihealth


แฟ้มภาพ


วิกฤตที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น ภัยธรรมชาติน้ำท่วมครั้งใหญ่ของไทยในปี 2554 , วิกฤตการณ์ฝุ่น PM 2.5 และล่าสุดคือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทุกปัญหาข้างต้นล้วนส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและคุณภาพชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมือง ซึ่งแนวทางหนึ่งของการสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างปลอดภัยอย่างง่ายๆ คือ การปลูกผักในบ้านเพราะอาหารเป็นตัวเชื่อมให้คนมีสุขภาวะที่ดี


มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) โดยการสนับสนุนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงจัดเทศกาลสวนผักคนเมือง ครั้งที่ 6 : City Farm Festival #6 "เมือง Move on ไม่ทิ้งความมั่นคงทางอาหารไว้ข้างหลัง" ที่รวบรวมภาคีเครือข่ายการอาหารปลอดภัยและจุดประกายความมั่นคงทางอาหารอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งจัดเวทีถอดบทเรียนวิกฤตโควิด-19 สร้าง "เมือง movement สู่ระบบอาหารที่ยั่งยืน" โดยมีตัวอย่างการพลิกพื้นที่รกร้างให้กลายเป็นพื้นที่ สีเขียวและแหล่งอาหารของชุมชนในยามวิกฤต


ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ประธานกรรมการกำกับทิศทางแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า ในปี 2564 องค์การสหประชาชาติประกาศให้เป็นปีส่งเสริมการกินผักและผลไม้สากล หรือ "International Year of Fruits and Vegetables, 2021" โดยเน้นสร้างความตระหนัก และพัฒนานโยบายที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าทางโภชนาการและสุขภาพจากการกินผักและผลไม้ ลดปริมาณผักและผลไม้เหลือทิ้ง รวมทั้งการแบ่งปัน แนวทางการกินผักผลไม้ร่วมกัน และในฐานะที่เมืองไทยเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ ตนคาดหวังว่าไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศแถวหน้าในการเป็นเมืองแห่งการส่งเสริมการกินผักและ ผลไม้ ทั้งนี้ สสส. จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริม


ถอดบทเรียนโควิด-19 สร้างระบบอาหารยั่งยืน thaihealth

         


การกินผักและผลไม้ปลอดภัยอย่างเพียงพอ พร้อมผลักดันเป็น เป้าหมายระดับชาติเพื่อนำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางอาหาร และเศรษฐกิจของประเทศ  นางสุภา ใยเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) กล่าวว่า โครงการสวนผักคนเมือง 10 ปีที่ผ่านมา ตระหนักถึงปัญหาคนเมือง โดยเฉพาะความมั่นคงทางอาหาร สุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงพยายามยกระดับการพึ่งพาตนเองของคนเมือง เริ่มจากปรับชุดความคิดให้รู้จักปลูกผักแบบไม่ใช้สารเคมี สร้างความตระหนักถึงบทบาทของเกษตรในเมืองในฐานะที่มีส่วนช่วยพัฒนาระบบอาหารและวิถีชีวิตทางเลือก ที่เกื้อกูลธรรมชาติ ผ่านกลไกลการตลาดที่เชื่อมโยงสู่ผู้บริโภค ในรูปแบบ City Farm Market สร้างสังคมการอยู่ร่วมกันระหว่างคนเมืองกับชนบทและทรัพยากรธรรมชาติด้วยการปลูกผัก


"เมื่อเริ่มปลูกผักนอกจากสร้างพื้นที่อาหารแล้ว คนเมืองยังได้สัมผัสพื้นดิน รู้คุณค่าและที่มาของอาหาร เรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัว เชื่อมระหว่างคนเมืองกับชนบทได้ ทำให้คนเข้าใจ เข้าถึง วิถีเกษตรกรรมธรรมชาติ และเชื่อมโยงคนหลายกลุ่มเข้าด้วยกัน เพื่อเปลี่ยนแปลงและเดินหน้าเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารของเมืองให้เกิดขึ้นได้" นางสุภา กล่าว


ถอดบทเรียนโควิด-19 สร้างระบบอาหารยั่งยืน thaihealth

          


การแปลงพื้นที่รกร้าง 3 ไร่ให้กลายเป็นความมั่นคงทางอาหารให้กับผู้มีรายได้น้อยในแรงงานภาคบริการที่ตกงานจำนวนมากในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ของจังหวัดเชียงใหม่ เป็นอีกหนึ่งกรณีที่น่าสนใจของการสร้างความมั่นคงทางอาหารของ คนเมือง นายศุภวุฒิ บุญมหาธนากร คณะผู้ก่อการสวนผักคนเมืองเชียงใหม่ กล่าวว่า ทางกลุ่มได้ร่วมกันนำเสนอไอเดียขอใช้พื้นที่รกร้างของรัฐจำนวน 2.5 ไร่ เพื่อใช้ประโยชน์ โดยได้ความร่วมมือจากภาคประชาชน มาช่วยปรับพื้นที่ ให้เมล็ดพันธุ์ผักและกล้าไม้ เกิดเครือข่ายและใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียกระจายข่าวให้คนในท้องที่ทราบถึงกิจกรรม มาช่วยกันลงแรง มีกลุ่มต่างๆ เข้ามาใช้ประโยชน์จากพื้นที่ ทั้งกลุ่มครอบครัว ชุมชนโดยรอบ โดยในระยะเวลา 3 เดือน ประชาชนตื่นตัวและได้รับความร่วมมือจำนวนมาก 4 เดือน มีผลผลิตกระจายสู่ตลาด และสร้างรายได้ให้กับครอบครัวที่ดูแลแปลงผัก ตลอดจนทำให้ชุมชนมีอาหารปลอดภัยไว้รับประทาน


อย่างไรก็ตาม โจทย์สำคัญที่ต้องทำควบคู่ไปกับการสร้างระบบอาหารยั่งยืน คือการทำให้พื้นที่ชุมชนแออัดไม่ถูกมองในแง่ลบ ผศ.ดร.สักรินทร์ แซ่ภู่ อาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จึงอธิบายถึงจุดเริ่มต้นของ "โครงการสวนแบ่งปัน" ที่ใช้วิกฤตโควิด-19 ปรับพื้นที่รกร้างโดยเฉพาะพื้นที่ริมทางรถไฟในย่านเมืองขอนแก่นให้เป็นพื้นที่ปลูกผัก ซึ่งโครงการไม่ได้มอง เพียงความมั่นคงทางอาหาร แต่ต้องเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิต ของผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด โดยใช้ "การปลูกผัก" เป็นเครื่องมือ ที่ทำให้คนในชุมชนมาช่วยกันดูแลพื้นที่ด้านนอกตัวเมืองขอนแก่นด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียว


ขณะที่เครือข่ายภาคเหนือและภาคอีสานสร้างสวนผักเพื่อแก้ไขวิกฤตขาดแคลนอาหารของผู้ด้อยโอกาส ทางภาคใต้เดินหน้า สู่ระบบอาหารยั่งยืน ด้วยสวนผักคนเมืองหาดใหญ่ Open platform green smile "นายชาคริต โภชะเรือง" มูลนิธิ ชุมชนสงขลา กล่าวว่า สำหรับในพื้นที่คนที่ปลูกผักได้ดีไม่ใช่เกษตรกร แต่เป็นคนเมืองที่สนใจ อดีตผู้ป่วย และคนวัยเกษียณ ดังนั้น จึงสร้างเป็นเครือข่ายขึ้นมาใหม่ สร้างหลักสูตร ขยายกิจกรรมและต่อยอดกับตลาด โดยจับมือกับโรงพยาบาลหาดใหญ่ พัฒนาแพลตฟอร์มให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีความสนใจด้านสุขภาพ โดยการดำเนินการหนึ่งปีที่ผ่านมา ช่วยให้โรงพยาบาลหาดใหญ่ลดต้นทุนด้านอาหารไปได้ 4 ล้านบาท


"ในช่วงโควิด ตลาดต่างๆ ปิดหมด ในสงขลาจึงเกิดตลาดเคลื่อนที่ โดยนำผลผลิตทางการเกษตรไปจำหน่ายในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นตลาดหลัก และยังคงสร้างห้องเรียนสวนผักคนเมืองผ่านแอปพลิเคชัน Zoom เชื่อมโยงระหว่างเครือข่าย" นายชาคริต กล่าว


ถึงเวลาแล้วที่พวกเราจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง การเพิ่มพื้นที่ผลิตอาหารของเมือง อย่างน้อยเริ่มจากการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองเช่นการมีแปลงผักในบ้าน


ถอดบทเรียนโควิด-19 สร้างระบบอาหารยั่งยืน thaihealth

Shares:
QR Code :
QR Code