ถอดบทเรียนอุบัติเหตุสงกรานต์ 62
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ถอดบทเรียน…อุบัติเหตุสงกรานต์ 2562 หลับใน-เด็กตาย-ไม่ทำพ.ร.บ. เจาะเลือดทุกรายเวิร์กต้องทำต่อ
นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) สรุปเหตุการณ์อุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาว่า แม้ตัวเลขผู้เสียชีวิตบนท้องถนนจะน้อยกว่าเทศกาลสงกรานต์ปี 61 แต่จากการเก็บข้อมูลพบผู้เดินทางกลับมีภาวะง่วงสะสม เกิดการหลับในระหว่างขับรถจากการดื่มฉลองตลอดวันหยุดยาว บางคนได้นอนเพียงวันละ 1-2 ชม. เมื่อต้องขับรถทางไกลจึงมีภาวะหลับใน เมื่อสำรวจที่เกิดเหตุพบไม่มีรอยเบรกเนื่องจากเกิดหลับใน แต่ยังไม่มีการเก็บข้อมูลที่ชัดเจนจะเป็นข้อมูลเพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาช่วงวันหยุดยาวต่อไป
พร้อมกันนี้ ทาง สคอ.ได้ประสานผู้ประกอบการโรงงานที่เป็นภาคีเครือข่ายให้เฝ้าระวังกลุ่มพนักงานที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับเครื่องจักรหรือพนักงานที่มีร่องรอยบาดแผลตามร่างกายจากอุบัติเหตุที่ผ่านมา ให้หัวหน้างานคอยสังเกตร่างกายจะอ่อนเพลีย มีภาวะง่วงสะสมระหว่างทำงาน
นายพรหมมินทร์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่ต้องกำชับจากอุบัติเหตุรถกระบะโหลดเตี้ยใช้ล้อแม็ก มือ 2 บรรทุกถังน้ำและคนเล่นสงกรานต์เนื่องจากอากาศร้อนทำให้ยางระเบิดเกิดในพื้นที่ จ.อุทัยธานี ผู้ขับขี่ละเลยคาดเข็มขัดนิรภัย กับสวมหมวกกันน็อกและเป็นที่น่าเสียใจว่ามีเด็กอายุ 5 เดือน เสียชีวิตในเทศกาลสงกรานต์เพราะไม่ได้ใช้คาร์ซีท จำเป็นต้องกำชับ รวมทั้งการที่เด็กเล็กโดยสารในรถกระบะแค็บไม่ปลอดภัย
นายพรหมมินทร์ กล่าวด้วยว่า อีกทั้งยังพบชาวต่างด้าวที่อาศัยในพื้นที่สมุทรสาคร สมุทรปราการ ใช้ จยย.มาเล่นสงกรานต์จำนวนมากแต่ไม่มี พ.ร.บ. ซึ่งตามกฎหมายหากเกิดอุบัติเหตุเจ้าของรถจะมีความผิดด้วยต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับเหยื่อหากต่างด้าวเป็นผู้กระทำผิดแม้ตามกฎหมายจะได้รับเงินปลงศพก่อน 35,000 บาท แม้ไม่มี พ.ร.บ.ก็ตาม แต่เมื่อผลสอบสวนออกมาว่าเป็นผู้กระทำผิดต้องชดใช้เงินก้อนนี้คืนพร้อมดอกเบี้ย ดังนั้นจึงพบว่าบางครั้งผู้เสียหายไม่ยอมรับเงินค่าปลงศพ เพราะคนขับเป็นญาติพี่น้องกันเมื่อได้รับไปแล้วอาจต้องนำมาคืน
อย่างไรก็ตาม เทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ได้ประชาสัมพันธ์เรื่องเมาแล้วขับเท่ากับเจตนาฆ่า ทำให้ตัวเลขของผู้เสียชีวิตลดลง (ระหว่างวันที่ 11-17 เม.ย. มีผู้เสียชีวิต 386 ราย) รวมทั้งการใช้มาตรการเจาะเลือดผู้ได้รับอุบัติเหตุทุกรายซึ่งได้ผลคาดว่าจะใช้ไปอย่างต่อเนื่อง เพราะมีงบประมาณจากกองทุนเลขสวย (ศปถ.) มาสนับสนุน แตกต่างจากปีที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถนำงบประมาณมาใช้กับเวชภัณฑ์สำหรับเจาะเลือดผู้ได้รับอุบัติเหตุ