ถอดบทเรียนอำเภอสร้างสุข วางอนาคตระบบบริการสุขภาพ
เวที ‘ระบบบริการสุขภาพ: อนาคต และความท้าทาย’ เพื่อศึกษาการวางระบบสุขภาพระดับอำเภอ ให้การทำงานเป็นไปอย่างมีเอกภาพ โดยมุ่งหวังให้เป็น ‘อำเภอสร้างสุข’ อย่างยั่งยืน
ชูโมเดล ‘อำเภอสร้างสุข’ ด้านบริการสุขภาพ นพ.กิตติพงศ์ อุบลสะอาด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้กล่าวแนวคิดในการเป็น ‘อำเภอสร้างสุข’ ว่า เกิดขึ้นจากวิถีชีวิตและการบริโภคในปัจจุบันเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานเรื้อรังและมะเร็ง จึงสร้างระบบจัดการสุขภาพในรูปแบบที่เอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง และปรับพฤติกรรมชาวบ้านให้มีสุขภาวะที่ดี โดยยึดโยงการทำงาน 3 ฝ่าย ได้แก่ ชุมชน องค์กรปกครองท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล รวมถึงสร้างนักจัดการสุขภาพระดับชุมชน เพื่อมาศึกษาวิถีชีวิตชาวบ้าน ทำให้แก้ปัญหาได้ตรงจุด ทั้งนี้ จะเริ่มจากปัญหาเล็กๆ และใกล้ตัว แล้วขยายผลการแก้ปัญหา ในภาพกว้างขึ้น
ขณะที่ นพ.จรัส สิงห์แก้ว ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เนื่องจากในพื้นที่มีปัญหาหมอกควันตลอดปี ส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนในชุมชน ที่เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอดจำนวนมาก แต่ขาดการให้ความรู้และการดูแลตนเองที่ถูกต้องมาโดยตลอด ด้วยเกรงว่าราคาที่ดินในพื้นที่จะตก แนวทางการทำงานจึงอาศัยทีมแพทย์แผนไทยที่อาศัยคลุกคลีอยู่ในพื้นที่ มาช่วยดูแลผู้ป่วยถึงบ้านทำให้การรักษาพยาบาลและตรวจอาการทำได้ทั่วถึงมากขึ้น อีกทั้งสามารถช่วยรักษาสภาพจิตใจของผู้ป่วยได้ด้วย
นักสร้างสุขภาพชุมชน ฟันเฟืองขับเคลื่อนระดับพื้นที่ นางปาริชาติ แก้วทองประคำ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลยาบี อ.หนองจิก ปัตตานี กล่าวว่า พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่พหุวัฒนธรรมและมีความไม่สงบในพื้นที่ ทำให้การจัดระบบ บริการสุขภาพต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นพิเศษ จึงต้องเรียนรู้วิถีชีวิต เข้าหาผู้นำศาสนาเพื่อใช้ศาสนานำสาธารณสุข ทำให้ข้ามข้อห้ามบางประการในการรักษา เช่น การตรวจมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมในกลุ่มสตรีมุสลิมได้
ด้านนายเกษม เผียดสูงเนิน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกุดตาเพชร อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี ได้กล่าวถึงเคล็ดลับที่ทำให้โรงพยาบาลสามารถลดอัตราเสี่ยงโรคมะเร็งปากมดลูกโดยรณรงค์ตรวจภายในปีละ 1 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งตรวจได้ถึง 500 คนว่า ได้ใช้วิธีส่งหนังสือและเยี่ยมบ้านเพื่อเชิญตรวจด้วยตนเอง โดยอาศัยความผูกพัน ศรัทธา ห่วงใยดูแลสุขภาพเสมือนญาติ อีกทั้งได้วางแนวทางให้คนในชุมชนเข้มแข็งและดูแลกันเองได้ มากกว่าการพึ่งพาแพทย์เพียงอย่างเดียว
ที่มา : จดหมายข่าว “มหามวลมิตร” เวทีครบรอบ สสส. 12 ปี ฉบับที่ 1