ถอดบทเรียนผู้สูงอายุ ขับเคลื่อนจากท้องถิ่น-สู่นโยบาย
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
ภาพประกอบจากเว็บไซต์สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
สาธารณสุขนครพนมเปิดเวที ถอดบทเรียน 'ผู้สูงอายุ' ขับเคลื่อนจากท้องถิ่น-สู่นโยบาย
ที่ห้องประชุมฟ้าทอตะวัน ชั้น 2 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครพนม มหาวิทยาลัยนครพนม นพ.จิณณพิภัทร ชูปัญญา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม เป็นประธานเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Sharing) ถอดบทเรียนการขับเคลื่อนประเด็นผู้สูงอายุจากท้องถิ่นสู่นโยบาย ซึ่งจัดโดยคณะทำงานกลไกขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะจังหวัดนครพนม โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะ (สสส.)
สำหรับเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Sharing) บทเรียนการขับเคลื่อนประเด็นผู้สูงอายุจากท้องถิ่นสู่นโยบายครั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันถอดบทเรียนการดำเนินงานพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยชุมชนท้องถิ่น จากพื้นที่ต้นแบบจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) พิมาน อ.นาแก จ.นครพนม อบต.นาคูณใหญ่ อ.นาหว้า จ.นครพนม อบต.วังตามัว อ.เมืองนครพนม และ อบต.นาเลียง อ.นาแก จ.นครพนม
นอกจากนี้ในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ยังได้ร่วมกันพิจารณา (ร่าง) ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อขับเคลื่อนประเด็นการดูแลผู้สูงอายุในระดับนโยบาย อาทิ ด้านการศึกษาและสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต จะมีการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมอาสาสมัครชุมชนในผู้ดูแลผู้สูงอายุ การพัฒนาหลักสูตรเตรียมความพร้อมเข้าสู่วัยสูงอายุที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้สูงอายุในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน)
ด้านเศรษฐกิจ ผลักดันให้มีศูนย์รองรับผลิตภัณฑ์สำหรับจำหน่ายและสาธิตสินค้าผู้สูงอายุของจังหวัด ด้านสุขภาพ จัดตั้งศูนย์ดูแลกลางวัน (Day Care) หรือศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ สำหรับผู้สูงอายุในระดับอำเภอ อย่างน้อยอำเภอละ 1 แห่ง
ด้านการพัฒนาอาชีพ สนับสนุนให้หน่วยงานองค์กรในจังหวัดมีการจ้างงานผู้สูงอายุ โดยพิจารณาตามศักยภาพและความสามารถ ออกข้อบัญญัติงบประมาณตำบลสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุ และพัฒนาสื่อและช่องทางสื่อสารข้อมูล สิทธิประโยชน์สำหรับการดูแลผู้สูงอายุในแต่ละตำบล
ด้านการบริหารจัดการเพื่อการพัฒนางานด้านสูงอายุ มีการจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงานขับเคลื่อนประเด็นการดูแลผู้สูงอายุ โดยชุมชนในระดับจังหวัด จัดตั้งกองทุทนการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในระดับจังหวัด และนำใช้สนับสนุนการดำเนินงานในระดับตำบล สนับสนุนการจัดทำแผนเพื่อพัฒนาผู้สูงอายุในระดับจังหวัด
ส่วนด้านการวิจัยและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านผู้สูงอายุ จัดทำระบบฐานข้อมูลผู้สูงอายุและผู้ดูแลและใช้ข้อมูลสำหรับดูแลผู้สูงอายุ ในระดับจังหวัด และวิจัยและประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบายการดูแลผู้สูงอายุ