ถอดบทเรียนน้ำท่วมแนะ 4 เคล็ดลับเตรียมพร้อมสู้ภัยพิบัติ

ถอดบทเรียนน้ำท่วมแนะ 4 เคล็ดลับเตรียมพร้อมสู้ภัยพิบัติ

ชุมชนเข้มแข็ง จ.ชัยนาทจับมือ สสส.ระดมความเห็นถอดบทเรียนน้ำท่วม ปั้น 2 โครงการพร้อมรับมือสู้ภัยพิบัติในอนาคต แนะ 4 เคล็ดลับสร้างคลังอาหารปรับวิถีชีวิตเกษตรกร “ปลูกพืชทนน้ำท่วม-พืชโตเร็วเก็บง่าย-แปรรูปพืชเก็บนาน-ปลูกพืชในกระถาง” ต่อยอดตั้งสหกรณ์ฯ เอากำไรมาพัฒนาท้องถิ่น พร้อมสร้างทีมกู้ภัยในพื้นที่ให้ชาวบ้านพึ่งพาตนเองเมื่อเกิดภัยพิบัติ ก่อนรอความช่วยเหลือจากโลกภายนอก

นายธวัชชัย เอี่ยมจิตร์ นายธวัชชัย เอี่ยมจิตร์ กำนันตำบลธรรมามูล อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท เปิดเผยว่า จากวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ประเทศไทยรอบปี 2554 ที่ผ่านมา ได้สร้างความเสียหายให้กับบ้านเมืองอย่างมาก จึงร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการระดมความเห็นชาวบ้านในพื้นที่ถอดบทเรียนมหาอุทกภัย เพื่อให้ทราบปัญหาที่เกิดขึ้นและการหาแนวทางแก้ไขหากเกิดภัยพิบัติอีกในอนาคต โดยได้มีการสรุปต่อยอดเป็น 2 โครงการ โครงการแรกคือ โครงการคลังอาหาร เปลี่ยนวิถีชีวิตการเกษตร ดำเนินการ 4 วิธี ได้แก่ 1.คัดเลือกสายพันธุ์ที่ปลูกให้ทนทานต่อน้ำท่วมขัง 2.ปลูกพืชผักอายุสั้นเก็บเกี่ยวได้ก่อนถึงฤดูน้ำหลาก 3.ปลูกพืชผักสวนครัวและแปรรูปถนอมอาหารไว้รับประทานนานๆ เช่น ทำพริกแห้ง มะขามเปียก เป็นต้น และ 4.ปลูกผักสวนครัวในกระถางตั้งไว้ชานบ้าน เมื่อน้ำท่วมก็นำมาวางบนเครื่องจักสานที่ผลิตได้ในชุมชนเป็นแพลอยน้ำ อย่างไรก็ตามหากน้ำไม่ท่วมก็นำลงดินปลูก เป็นการพึ่งพาตัวเอง ไม่เพียงแต่รอความช่วยเหลือจากส่วนกลาง หรือรอการช่วยเหลือจากการบริจาคถุงยังชีพ

ถอดบทเรียนน้ำท่วมแนะ 4 เคล็ดลับเตรียมพร้อมสู้ภัยพิบัติ“เมื่อชาวบ้านพึ่งพาตนเองได้ มีผลผลิตทั้งข้าว ปศุสัตว์ บ่อปลา จึงจัดตั้งสหกรณ์ซื้อขายแลกเปลี่ยนผลผลิตที่ศูนย์การเรียนรู้พันธุ์ข้าวชุมชนบ้านดักคะนน นอกจากกำไรจาdการซื้อขายไม่ไปอยู่ที่พ่อค้าคนกลางแล้ว แต่สหกรณ์ยังสามารถนำกำไรมาพัฒนาชุมชน นอกจากนี้ยึดหลักให้ชาวบ้านเป็นสมาชิกโดยความสมัครใจเพื่อให้การดำเนินงานมีความมั่นคง” นายธวัชชัย กล่าว

นายธวัชชัย กล่าวอีกว่า โครงการที่ 2 คือ ศูนย์แก้ไขปัญหาภัยพิบัติภาคประชาชน จ.ชัยนาท โดยมีการดำเนินการอบรมแกนนำชุมชนในตำบลทั้ง 10 หมู่บ้าน ให้เป็นแกนนำเรื่องภัยพิบัติ โดยเริ่มจากการให้ความรู้และความเข้าใจพื้นที่ว่าพื้นที่ใดเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย พื้นที่ใดปลอดภัย รวมถึงการช่วยเหลือ โดยแต่ละทีมจะมีเจ้าหน้าที่ด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่คนขับเรือ ทีมสาธารณสุข ทีมประสานงาน ฯลฯ เข้าช่วยเหลือพร้อมกัน ป้องกันความสับสน ซ้ำซ้อน ซึ่งถือเป็นการพลิกวิกฤติความสูญเสียเป็นโอกาสในการปรับตัวให้สามารถรับมือภัยพิบัติได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

Shares:
QR Code :
QR Code