ถนนเด็กเดิน หนูรักนางเลิ้ง

ที่ชุมชนนางเลิ้ง กทม. กลุ่มเด็กและเยาวชนชุมชนนางเลิ้งภายใต้ชื่อกลุ่ม “อีเลิ้ง” และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันจัดงานถนนเด็กเดินนางเลิ้ง ตอน “มัน เล็ก มาก”

มันเล็กมาก

เพื่อเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนในชุมชนแสดงความสามารถและถ่ายทอดศิลปวัฒน ธรรมพื้นถิ่นของตนเองให้เป็นที่รู้จัก เกิดการแลกเปลี่ยนกันระหว่างชุมชน ด้วยกระบวนการดึงเอาศิลปวัฒนธรรมมาใส่ความคิดสร้างสรรค์ ใส่ประเด็นเนื้อหาสาระที่จะสร้างการมีส่วนร่วม และสร้างการพัฒนาเปลี่ยนแปลง ดึงคน 3 วัยในชุมชนมาทำ งานร่วมกัน โดยมีเด็กและเยาวชนเป็นผู้ได้รับประโยชน์สูงสุด

นายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ สสส. กล่าวว่า ถนนเด็กเดินนางเลิ้ง ตอน “มัน เล็ก มาก” ครั้งนี้เป็นกิจกรรมและกระบวนการที่ออกแบบโดยเยาวชน สอดคล้องกับทิศทางที่ สสส. และแผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกฯ ต้องการสนับสนุนเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเยาวชนในชุมชน

ที่นี่จึงเป็นหนึ่งในพื้นที่ชุมชนต้นแบบที่จะมีการพัฒนาอีกไม่น้อยกว่า 15 พื้นที่ทั่วประเทศ

ทุกชุมชนนั้นมีบริบท สภาพปัญหา และอัตลักษณ์ในเรื่องศิลปวัฒนธรรมปัญหาปัจจัยเสี่ยงของชุมชนแตกต่างกันออกไป อาทิ กลุ่มเด็กด้อยโอกาสในแบบต่างๆ และกลุ่มเด็กชาติพันธุ์

ครั้งนี้นอกจากเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงพลัง เปิดความคิดสร้างสรรค์แล้ว ยังสร้างภูมิคุ้มกัน สร้างการรู้เท่าทัน และทำให้เด็กมีพัฒนาการการเปลี่ยนแปลงที่มุ่งเห็นความสำเร็จ และสร้างการยอมรับให้ประจักษ์แก่สังคมในวงกว้างมากขึ้น

น.ส.นวรัตน์ แววพลอยงาม แกนนำเยาวชนชุมชนนางเลิ้ง กล่าวว่า ถนนเด็กเดินนางเลิ้ง ตอน “มัน เล็ก มาก” เกิดจากกลุ่มคนเล็กๆ ที่เป็นเด็กในสลัมแล้วเข้ามาทำงานร่วมกันบนพื้นที่เล็กๆ กว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่รายล้อมไปด้วยปัญหาสังคม อาทิ ปัญหายาเสพติด การพนัน การติดเหล้า-บุหรี่ ความก้าวร้าว การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร และโรคเอดส์ การทำงานบนพื้นฐานของปัญหาจึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทำให้การนำเอา “ศิลปวัฒนธรรมที่มีในชุมชน” มากล่อมเกลาให้คนในชุมชนมีค่าขึ้น

ถนนเด็กเดินนางเลิ้งจึงเกิดเป็นถนนสายศิลปะที่พูดถึงเรื่องดีๆ ของวัฒนธรรมพื้นถิ่น อย่างบ้านเต้นรำสามัคคีลีลาศ ละครชาตรี บ้านลำตัด บ้านกลองยาว บ้านศิลปะ หลวงปู่ธูป สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดแคนางเลิ้ง หรือวัดสุนทรธรรมทาน ศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน การทำหัวโขน การตัดชุดละคร การทำหัวโต (ใช้ในงานบวชขณะแห่นาค) พวงมโหตร การทอผ้า รวมไปถึงอาหารเลิศรสอีกนานาชนิด

“สิ่งที่น่าจับตามองภายในงานนี้นอกจากการเขียนสาส์นถึงเทวดา (message to the skys) จากเด็กและเยาวชนที่อยากบอกความในใจของตนเองต่อสังคมแล้ว ยังมีการแสดงละครชาตรี การแสดงละครใบ้ ภาพยนตร์สารคดีโดยเยาวชนชุมชนนางเลิ้ง เรื่อง ไอ้ก็อตตายแน่ เรื่องกล้วยแขก และเรื่อง slum kids อีกทั้งยังเสริมกิจกรรมอีกมากมายจากโครงการสื่อพื้นบ้านเพื่อสุขภาวะเยาวชน โครงการดนตรีสร้างสุข โครงการละครสำหรับเยาวชน ซึ่งเป็นโครงการในกลุ่มงานสื่อศิลปวัฒนธรรมเชิงบูรณาการ สสส. ที่มาเติมเต็มให้ถนนสายศิลปะสายนี้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะมากกว่าแค่การสัญจรหรือจอดรถ ในอนาคตตั้งใจจะจัดงานลักษณะนี้อีกปีละ 4 ครั้ง โดยครั้งต่อไปจะมีประมาณปลายเดือน เม.ย.-พ.ค. ตามด้วยเดือนก.ย.-ต.ค. และเดือนธ.ค.” น.ส.นวรัตน์กล่าว

แกนนำเยาวชนชุมชนนางเลิ้ง กล่าวต่ออีกว่า ถ้ามีเพียงแค่เด็กลงมือทำเพียงฝ่ายเดียวงานนี้คงไม่เกิดขึ้น ผู้ใหญ่ถือเป็นหัวใจสำคัญในการถ่ายทอดความรู้สิ่งที่เป็นรากเหง้าของชุมชนสู่เด็ก เมื่อได้ซึมซับทั้งจากศิลปินและศิลปะ เด็กจะถูกกล่อมเกลาและสืบทอดได้อย่างถูกต้องถูกทาง

ด้าน นางสุวัน แววพลอยงาม ประธานชุมชนวัดสุนทรธรรมทาน (แค นางเลิ้ง) กล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้เด็กได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการได้ปฏิสัมพันธ์ช่วยกันคิด-ทำ จนเด็กรู้จักคุณค่าของตัวเอง หันมารักตัวเอง เข้าใจโลก และรักชุมชนมากขึ้น คนในครอบครัวเดียวกันเริ่มคุยกันบ่อยขึ้น ทำให้ปัญหาได้รับการแก้ไขตรงจุด ช่วยลดปัญหาที่เคยเกิดลงได้

“กิจกรรมที่เด็กลงมือทำครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเพราะมีการสืบทอดมาจากผู้ใหญ่รุ่นก่อนๆ ทำให้เด็กมีแนวทางที่ดี เมื่อต้องลงมือทำเองเด็กจะมองเห็นปัญหาและแนว ทางในการแก้ไขปัญหานั้นๆ ได้ด้วยตัวเอง

“เชื่อว่าประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อปัญหาให้เด็กได้ เมื่อต้องปะทะกับอุปสรรค เด็กจะสามารถแก้ไขและก้าวผ่านมันไปได้” นางสุวันกล่าวทิ้งท้าย

ที่มา: เว็บไซต์ข่าวสด

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ