ต้องร่วม ‘ลงทุน’ ลด ‘อุบัติเหตุจราจร’ จริงจังแล้ว

ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ต้องร่วม 'ลงทุน' ลด 'อุบัติเหตุจราจร' จริงจังแล้ว thaihealth


คนไทยส่วนหนึ่งมักมีความเชื่อเมื่อเกิดอุบัติเหตุทางถนนว่าเป็นเรื่องของความซวย ดวงไม่ดี เป็นมุมมองทาง "เวรกรรม" แต่จากการสำรวจโดยสำนักวิจัยซูเปอร์โพล มูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ ล่าสุดเมื่อวันที่ 5-14 ต.ค.2560 พบว่าการเกิดอุบัติเหตุทางถนนมี "คนไทย" ที่เชื่อว่าเป็นเรื่องของ"วิทยาศาสตร์" มากกว่าเรื่อง "เวรกรรม" แล้ว


นายนพดล กรรณิกา ผอ.สำนักวิจัยซูเปอร์โพล ระบุว่าจากเดิมปี 2552 สำนักวิจัยซูเปอร์โพลเคยสำรวจพบว่า คนไทยมากกว่าร้อยละ 90 มองว่าการเกิดอุบัติเหตุทางถนนเป็นเรื่องของเวรกรรม แต่ปี 2560 นี้ กลับพบว่า ร้อยละ 91.4 เชื่อว่าการเกิดอุบัติเหตุทางถนนเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์โดยร้อยละ 32.1 ที่เชื่อว่าเป็นเรื่องของเวรกรรมซึ่งหมายความว่าคนเกือบทั้งหมดเชื่อว่าเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์แล้วแต่บางคนก็มองว่าเป็นเรื่องของทั้งวิทยาศาสตร์ และเวรกรรมในคนคนเดียวกัน


เมื่อมีมุมมองว่าอุบัติเหตุทางถนนเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์คนไทยจึงตอบว่าเป็นเรื่องของสภาพถนน ตัวบุคคล ตัวรถ และสิ่งแวดล้อมแทน ซึ่งหากอยู่ในสภาพที่ไม่ดี ไม่พร้อมใช้งาน ก็ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนได้ เช่น ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อคนขับไม่มีวินัยจราจร หรืออยู่ในสภาพไม่พร้อม เช่น เมาแล้วขับง่วงแล้วขับ หรือไม่มีการตรวจเช็กสภาพรถ และสิ่งแวดล้อม เช่นแสงไฟที่ไม่เพียงพอ มีป้ายขนาดใหญ่บดบัง เป็นต้น


การแก้ปัญหาเรื่องเหล่านี้ ในงานสัมมนาระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 13 ซึ่งกำหนดประเด็น "ลงทุนเพื่อความปลอดภัยอย่างยั่งยืน" จึงมีการมาถกหาคำตอบกันว่า ต้องลงทุนอะไรอย่างไร ด้านไหน จึงจะสามารถช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืนได้


ต้องร่วม 'ลงทุน' ลด 'อุบัติเหตุจราจร' จริงจังแล้ว thaihealth


นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ภายใต้การสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การสัมมนาระดับชาติเรื่องความปลอดภัยทางถนน จะจัดขึ้นทุก 2 ปี โดยปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 13 ใช้ชื่องานว่า การลงทุนเพื่อความปลอดภัยอย่างยั่งยืน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-7 ธ.ค. 2560 ที่ศูนย์นิทรรศการไบเทค บางนา โดยมีการแบ่งเวทีย่อยเป็นประเด็นที่น่าสนใจถึง 7 ประเด็น คือ 1.การลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางถนนที่ยั่งยืน 2.ประชารัฐเพื่อสังคมกับความปลอดภัยทางถนน 3.ลงทุนเพื่อสังคมร่วมใจป้องกันภัยทางถนน 4.มิติใหม่บังคับใช้กฎหมาย Road Safety 4.0 5.รถพยาบาลปลอดภัย 6.มิติทางสังคมกับการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย และ 7.ระบบใบขับขี่กับความปลอดภัยทางถนน


นอกจากนี้ ยังมีการปาฐกถาพิเศษลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางถนนที่ยั่งยืน โดย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมบรรยายพิเศษ Invest For Sustainable Road Safety โดย Mr.Michael C Woodford ประธานมูลนิธิ Safer Roads Foundation และปาฐกถาสสส.สนับสนุนความปลอดภัยทางถนนอย่างไร โดย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส.ด้วย ซึ่งการสัมมนาในครั้งนี้เพื่อให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้บริหาร นักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงานได้รับทราบ องค์ความรู้ ทิศทางนโยบาย อุปสรรคปัญหาและร่วมเสนอนโยบายเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืนต้องมีการลงทุนอะไรบ้าง


ด้าน นายกอบชัย บุญอรณะ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทยเสนอมุมมองว่า การลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืน หรือเพื่อป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุนั้นไม่ใช่แค่เรื่องของการลงทุนในงบประมาณอย่างเดียว แต่ต้องทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญ โดยเฉพาะ 5 ด้านหรือ 5 เสาหลักดังต่อไปนี้ จึงจะสามารถช่วยลดอุบัติเหตุทางถนนลงได้ คือ 1.ต้องมีการลงทุน โครงสร้างถนน วิศวกรรมจราจรอยู่ในมาตรฐานมีความปลอดภัยหรือไม่ การลงทุนเรื่องของถนนจึงมองว่าควรเป็นเรื่องของวิศวกรรม ต่อมา 2. เป็นยานพาหนะปลอดภัย โดยเฉพาะรถโดยสารสาธารณะ รถรับจ้างทัศนศึกษาของโรงเรียนซึ่งการลงทุนก็มีหลายเรื่อง เช่น การติดจีพีเอส เพื่อมอนิเตอร์ความเร็วของรถ เป็นต้น


ข้อ 3.ผู้ใช้รถใช้ถนน ต้องมีวินัยจราจร การบังคับใช้กฎหมายจึงต้องเข้มข้นมากขึ้น แต่จำนวนเจ้าหน้าที่รัฐดูแลเรื่องนี้มีน้อยเมื่อเทียบกับสัดส่วนผู้ใช้รถใช้ถนน การลงทุนในด้านนี้จึงควรเป็นการลงทุนในด้านอุปกรณ์หรือเครื่องไม้เครื่องมือในการช่วยเจ้าหน้าที่ทำงาน 4.การช่วยเหลือรักษาหลังเกิดอุบัติเหตุระบบการแพทย์ฉุกเฉินต้องมีการลงทุนในเรื่องของการเข้าถึงพื้นที่ให้เร็วมากขึ้น รวมไปถึงการฝึกสอนประชาชนทั่วไปในเรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้น สุดท้าย 5.ด้านการบริหารจัดการ ต้องขับเคลื่อนทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น


การลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืนเบื้องต้นก็ 5 ด้านนี่แหละ

Shares:
QR Code :
QR Code