ต้อกระจกในเด็กเสี่ยงตาบอด
จักษุแพทย์เตือน ต้อกระจกในเด็กอาจทำให้ตาบอดตลอดชีวิต พบผู้ป่วยตาต้อใน รพ.เด็กวันละ 4 ราย แนะเร่งตรวจตาหาความผิดปกติตั้งแต่แรกเกิด ช่วยให้แพทย์รักษาทัน
ผศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาต้อกระจกในเด็กแรกเกิด เด็กเล็ก ถือว่าน่าเป็นห่วง เนื่องจากขณะนี้พบว่า บางวันมีเด็กเล็กเป็นต้อกระจกประมาณ 3-4 รายเข้ามาตรวจวัดสายตาในสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี แม้จะไม่ได้พบทุกวัย แต่ถือว่าพ่อแม่ควรตระหนักในเรื่องนี้ เพราะหากเป็นต้อกระจกแล้วไม่ได้รับการสลายเลนส์สายตาที่เสียออกเพื่อใส่เลนส์เทียมโดยเร็ว โอกาสที่จะตาบอดตลอดชีวิตก็ยิ่งสูง
“ผู้ใหญ่หลายคนที่มีปัญหาพิการทางสายตานั้น เป็นเพราะเป็นต้อกระจกตั้งแต่วัยเด็ก แต่ด้วยเทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางแพทย์ในปัจจุบันกุมารแพทย์จะแนะนำให้ตรวจวัดสายตาและวินิจฉัยความผิดปกติของเด็กตั้งแต่คลอดได้ราว 1เดือน โดยการสังเกตอาการ คือ หากเด็กป่วยต้อกระจกจะพบว่ามีจุดสีขาวที่ตาดำ แล้วเด็กจะรู้สึกระคายมัวๆ ทำให้ตาดำสั่นในจำนวนครั้งที่ถี่ขึ้น หากผู้ปกครองเห็นความผิดปกติควรพบจักษุแพทย์โดยเร็ว เพื่อจะได้นัดวันเวลาในการรักษาให้ทัน” รศ.นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว
รศ.นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวอีกว่า การป่วยตาต้อกระจกในเด็ก เกิดจาก 2 สาเหตุหลัก คือ 1.มารดาป่วยเป็นโรคหัดเยอรมันซึ่งไม่ค่อยพบในปัจจุบัน เพราะกระทรวงสาธารณสุขมีการสนับสนุนวัคซีนป้องกันมานาแล้ว และ 2.กรรมพันธุ์ คือ ญาติหรือพี่น้อง เคยเป็นตาต้อกระจกมาก่อนแล้วถ่ายทอดสู่ทารก หากตรวจพบแล้วแพทย์จะสลายต้อแล้วเอาเลนส์เสียออกจากนั้นติดตามอาการจนเด็กอายุประมาณ 2 ขวบจะใส่เลนส์เทียมทดแทนอวัยวะดั้งเดิมที่ขุ่นเป็นต้อ ซึ่งไม่ต้องเป็นภาระในการถอดล้างหรือทำความสะอาด และสามารถใช้ได้ตลอดชีวิตของผู้ป่วย แต่ในการติดตามอาการจำเป็นต้องดูแลต่อเนื่อง เพราะบางรายมีปัญหาสายตาสั้นเพิ่ม แพทย์จะแนะนำวิธีการรักษาแบบผู้ใหญ่ตามขั้นตอน
ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ฯ กล่าวด้วยว่า การรักษาปัญหาสายตาสั้น เบื้องต้นจักษุแพทย์จะแนะนำให้สวมแว่นก่อน เว้นแต่บางรายมีความจำเป็นในการประกอบอาชีพ เช่น นักกีฬา ก็ควรใส่คอนแทคเลนส์ และวิธีสุดท้ายคือ เลสิค หมายถึง วิธีการรักษาสายตาสั้นด้วยเลเซอร์ แต่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีห้ามทำวิธีนี้ เพราะไม่สามารถปรับแก้ได้มากนัก และคนวัยดังกล่าวสายตายังไม่คงที่ ยังมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นอีก รวมถึงผู้สูงอายุที่เป็นโรคต้อกระจกและผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน และโรคแพ้ภูมิตัวเอง (เอสแอลอี) เพราะบางครั้งแผลจากโรคก็ทำให้เกิดความผิดปกติ เช่น เป็นแผลเป็นโต บวมมาบังแก้วตาดำอีก ผู้ป่วยอาการก็จะแย่ลง จึงควรปรึกษาจักษุแพทย์ก่อนดีที่สุด
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก