ต้นแบบผลิตผักไฮโดรฯ ปลอดภัย
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากกแฟ้มภาพ
ผลวิจัยยกผักไฮโดรฯ ไม่มีสารตกค้างมากกว่าการปลูกด้วยวิธีการอื่นแนะผู้บริโภครับประทานอาหารหลากหลายควบคู่รู้หลักการเลือกซื้อ
ผลิตผักแบบไฮโดรโพนิกส์ เป็นรูปแบบผลิตผักชนิดหนึ่งซึ่งมีการทำเป็นการค้าอย่างแพร่หลายในปัจจุบันและมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพราะวิธีการผลิตผักแบบไฮโดรโพรนิกส์นี้ช่วยให้สามารถผลิตผักได้ตลอดทั้งปี สร้างรายได้ที่ดีและต่อเนื่องให้กับผู้ปลูก
อย่างไรก็ตามการปลูกผักในลักษณะนี้ติดต่อกันเป็นเวลานานย่อมสุ่มเสี่ยง ต่อการเกิดการสะสมทั้งโรคและ แมลงศัตรูพืช การใช้สารเคมีสังเคราะห์เพื่อการกำจัดศัตรูพืชอย่างไม่ถูกวิธี ทำให้ เกิดอันตรายต่อผู้ใช้และส่งผลให้เกิดสารพิษตกค้างในผู้ผลิตได้ จึงเกิดคำถามที่ว่า "การบริโภคผักไฮโดรโพนิกส์ นั้นปลอดภัยหรือไม่"
เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ศูนย์นวัตกรรมวิทยาการอาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร และสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาซีรีส์เรื่อง อาหารปลอดภัย ครั้งที่ 5 "ผักไฮโดร โปนิกส์ปลอดภัย สบายใจเมื่อรับทาน" เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้ผลิตและ ผู้บริโภค
ผศ.ดร.กนิษพร วังใน อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวกับ ประเด็นปริมาณไนเตรทที่พบในผัก ไฮโดรโปนิกส์ ค่อนข้างอ่อนไหวและ สร้างความกังวลใจให้กับผู้บริโภค มิใช่น้อย อย่างไรก็ตามสารไนเตรทเป็นสารที่พบได้ทั่วไปในธรรมชาติทั้งผักที่ปลูกในดินและผักที่ปลูกด้วยสารละลายธาตุอาหารที่เรียกกันอย่างแพร่หลายว่า ผักไฮโดรโปนิกส์ ซึ่งสหภาพยุโรปได้ออกประกาศกฎระเบียบค่าสูงสุดของไนเตรท (ML) ของผักไฮโดรโปนิกส์ที่ปลูกในโรงเรือนให้ไม่เกิน 4,000 หรือ 5,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (ขึ้นกับฤดูกาล) ซึ่งโดยปกติหากร่างกายได้รับไนเตรทจากผักนั้น ไนเตรทส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 70 จะถูกขับออกทางปัสสาวะ จากงานวิจัยที่ผ่านมายังไม่มีข้อมูลยืนยันได้ว่าการบริโภคผักที่มีไนเตรทจะก่อให้เกิดโรคมะเร็งหรือพิษต่อสารพันธุกรรมในมนุษย์แต่อย่างใด แต่ในกรณีที่ร่างกายได้รับในปริมาณที่สูงมากหรือได้รับต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ อาจก่อให้เกิดการชะงักของการเจริญ เติบโต ซึ่งคณะผู้เชี่ยวชาญของโคเด็กซ์ (JECFA) ได้กำหนดค่าปริมาณสูงสุดที่ยอมรับได้ต่อวัน (Acceptable Daily Intake) ของสารไนเตรทไว้ที่ 3.7 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
"กล่าวคือหากมีน้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม ไม่ควรได้รับเกิน 222 มิลลิกรัม/วัน ซึ่งหากผู้บริโภครับประทานผักผลไม้ให้ได้ 400 กรัม ตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำ โดยรับประทานผักไฮโดรโปนิกส์ร่วมกับผักชนิดอื่นๆ 200 กรัม และรับประทานผลไม้อีก 200 กรัม ให้ครบ 400 กรัมแล้วนั้น ผู้บริโภคจะได้รับไนเตรทเข้าสู่ร่างกายในปริมาณ 150 มิลลิกรัม ซึ่งต่ำกว่าค่าความปลอดภัยที่กำหนด"
รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ทองเกตุ ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเษตรศาสตร์ กำแพงแสน กล่าวว่า ผู้ปลูกต้องทราบวิธีการผลิตผักไฮโดรให้ปลอดภัย สำหรับฟาร์มสร้างใหม่ ควรเลือกใช้โรงเรือนปลูกพืชที่สามารถปกป้องพืชจากฝนที่ชักนำให้เกิดโรคทางใบมีการควบคุมโรคและลดไนเตรทก่อน การเก็บเกี่ยว และวางระบบการกักเก็บสารละลายใช้แล้วที่เหมาะสม ใช้เทคนิคการผลิตที่ส่งเสริมให้พืชมีการเจริญเติบโตที่ดีและแข็งแรง
ด้าน ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า แนวทางการส่งเสริมบริโภคอาหารปลอดภัยคือประเด็นที่ สสส.ขับเคลื่อน ซึ่งประเด็นนี้จำเป็นต้องใช้เครือข่ายผู้เชี่ยวชาญเพื่อขยายผล และบอกต่อไปในวงกว้าง
การสร้างระบบห่วงโซ่ผักไฮโดรโปนิกส์ปลอดภัยนี้ ดำเนินตามหลักวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ให้ทราบข้อเท็จจริงด้านความปลอดภัย นอกจากนี้ยังต้องการสร้างต้นแบบในการผลิตผักให้มีคุณภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องอาศัยการประมวลข้อมูลทั้งจากผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้บริโภค รวมถึงการวิจัยที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ชัดเจน สร้างต้นแบบที่เหมาะสมในการผลิต
สำหรับผู้บริโภคนั้น กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เคยให้เทคนิคการเลือกซื้อผักตอนหนึ่งว่า ผักที่สดสะอาด ต้องไม่มีคราบดินหรือคราบขาว ซึ่งเป็นคราบของสารพิษกำจัดศัตรูพืช หรือ มีเชื้อราตามใบ ซอกใบ ขณะที่ก้านผัก ต้องไม่มีสีขาวหรือมีกลิ่นฉุนผิดปกติ ควรเลือกซื้อผักสดที่มีรูพรุนเป็นรอยกัดแทะของหนอนแมลงอยู่บ้างเพราะเมื่อหนอนยังกัดเจาะผักได้ แสดงว่าผักนั้นมีสารพิษกำจัดศัตรูพืชในปริมาณที่ไม่เป็นอันตรายมาก ไม่ควรเลือกซื้อผักที่มีแต่ใบสวยงาม ต้องมองหาแหล่งเพาะปลูกที่เชื่อถือได้ ซึ่งสามารถสังเกตที่ตรารับรองคุณภาพของผัก ที่มอบให้โดยหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ เช่น ตรารับรองคุณภาพระบบตรวจสอบสารพิษ จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวง สาธารณสุข หรือสัญลักษณ์รับรองสินค้าเกษตรและอาหารจากกรมวิชาการเกษตร เลือกกินผักตามฤดูกาลเนื่องจากผักที่ ปลูกได้ตามฤดูกาลจะมีโอกาสเจริญเติบโต ได้ดีกว่านอกฤดูกาล ส่งผลให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมี และปุ๋ยเคมีลง และควรเลือกกินผักพื้นบ้านตามฤดูกาล ที่สามารถปลูกและเจริญเติบโตได้ง่าย
ที่สำคัญคือการไม่กินผักชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นประจำ ควรกินผักให้หลากหลายชนิด จากหลายแหล่งปลูก สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป เพื่อได้รับประโยชน์ทางด้านโภชนาการครบถ้วน และหลีกเลี่ยงการรับพิษจากสารเคมีที่อยู่ในผักซึ่งจะไปสะสมอยู่ในร่างกาย