ต้นแบบท่องเที่ยวชุมชน สร้างเศรษฐกิจฐานราก
แฟ้มภาพ
การท่องเที่ยวทางเลือกที่บริหารการจัดการโดยชุมชน อย่างสร้างสรรค์และได้มาตรฐาน ก่อให้เกิดการเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมท้องถิ่น และคุณภาพชีวิตที่ดี ถือเป็นการอนุรักษ์การ ท่องเที่ยวอย่างแท้จริงจากกลุ่มคนในชุมชน
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จัดเวทีผู้นำชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ครั้งที่ 7 กรณี "สัมมาชีพสร้างเศรษฐกิจฐานราก พัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน" เพื่อส่งเสริมชุมชนท้องถิ่นสู่ความเข้มแข็ง เป็นชุมชนฐานล่างที่มีพลังสามารถจัดการตนเองได้
น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนัก 3 สสส. ได้กล่าวถึงบทบาทของเวทีผู้นำชุมชนว่า จุดมุ่งหมายของการจัดเวทีนี้ มีขึ้นเพื่อให้ผู้นำชุมชนเข้ามาค้นหาศักยภาพชุมชนของตนเอง มาร่วมแลกเปลี่ยนเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่สอดคล้องและเหมาะสมกับพื้นที่ ทั้งนี้หากจะนำไปสู่การเป็นชุมชุมท้องถิ่นจัดการตนเองได้ จะต้องขับเคลื่อนเบญจพลังทั้ง 5 ได้แก่ พลังข้อมูล พลังพลเมือง พลังเครือข่าย พลังการจัดการ และพลังนโยบาย หากสามารถที่จะประกอบเบญจพลังทั้ง 5 ส่วนนี้เข้าด้วยกัน ก็จะทำให้ความสามารถในการจัดการตนเองมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
"ประเด็นสำคัญที่เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน คือ เกษตรกรรม วัฒนธรรมและภูมิปัญญา รวมถึงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการท่องเที่ยวในชุมชน เพราะประเทศไทยสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นทุนและศักยภาพสำคัญที่จะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจฐานล่างต่อไป" น.ส.ดวงพรกล่าว
สำหรับชุมชนเมืองปอน จ.แม่ฮ่องสอน เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เป็นรูปธรรมในการจัดการ ท่องเที่ยวโดยคนในชุมชนท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี
นายสมชาย วงษ์จันทธนพงษ์ นายก อบต. เมืองปอน จ.แม่ฮ่องสอน ได้เล่าว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองปอนเป็นหุบเขา มีอาชีพทำการเกษตร ทำนา ไร่เลื่อนลอย มีวิถีชีวิตเป็นแบบชนเผ่า ปกาเกอะญอ ไทใหญ่ และไทพวน โดยนายก อบต. เมืองปอน เล็งเห็นว่าศักยภาพของเมืองปอน ที่ยังคงรักษาอัตลักษณ์ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นดั้งเดิมไว้ ชุมชนเมืองปอนจึงไม่มีการก่อสร้างตึก และได้รักษาเอกลักษณ์บ้านเรือนในแบบดั้งเดิม นอกจากนี้ยังให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวให้ได้มากที่สุด โดยมีการจัดที่พักสัมผัสวิถีชีวิตชุมชนในรูปแบบโฮมสเตย์ โดยไม่มีบุคคลภายนอกเข้ามาชี้นำ
นายก อบต. เมืองปอน เล่าต่ออีกว่า เมืองปอนสามารถท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปีตามปฏิทินชุมชน และเพื่อขยายงานการท่องเที่ยวให้มีการบูรณาการครบมิติ ทั้งด้านวัฒนธรรม เกษตร และสิ่งแวดล้อม เมืองปอนจึงแบ่งการท่องเที่ยวได้ ดังนี้ การท่องเที่ยวเชิงภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การนวดแผนโบราณ การจักสานกระบุง ตะกร้า กระด้ง เสื่อ เป็นต้น ซึ่งในหมู่บ้านยังยึดการจักสานเป็นอาชีพ และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมประเพณี เช่น ประเพณีปอยส่างลองของชาวไทใหญ่ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ได้แก่ น้ำพุร้อน ชมทุ่งบัวตอง ที่จะเบ่งบานในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรม เช่น การเดินชมหมู่บ้าน แปลงเกษตร การดำนา เลี้ยงปลา โดยไม่ใช้สารเคมี
"การที่คนในชุมชนมีส่วนร่วมจัดการ ท่องเที่ยว เป็นการสร้างเศรษฐกิจชุมชน รายได้เสริมให้กับคนในท้องถิ่น อีกทั้งนักท่องเที่ยวยังได้รับข้อมูลเรื่องวิถีของชนชาติพันธุ์ไทใหญ่ ซึ่งเป็นชนชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่งผลให้เมืองปอนเป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติ เป็นฐานการเรียนรู้ภูมิปัญญาต่างๆ และเป็นสถานที่ศึกษาดูงานให้กับกลุ่มหรือองค์กรต่างๆ" นายสมชายกล่าวทิ้งท้าย
การท่องเที่ยวโดยชุมชนด้วยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นระบบ นำมาซึ่งการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ของคนในท้องถิ่นและได้อนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมให้คงอยู่ต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด