ต้นแบบตลาดทางเลือก เชื่อมโยงเกษตรกร
คนไทยเสี่ยง สารเคมีตกค้างในเลือดสูง เหตุพืชผล อาหารปนเปื้อนสารเคมี สสส. ภาคีเครือข่าย เร่ง สร้างต้นแบบตลาดทางเลือก เชื่อมโยงเกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค สร้างเกษตรอินทรีย์ยั่งยืน
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ นางจงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านอาหารปลอดภัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์ความไม่ปลอดภัยและความเสี่ยงในการบริโภคอาหารของคนไทยปัจจุบันมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น จากการบริโภคอาหารปนเปื้อนสารเคมีและยาฆ่าแมลง จากผลการสำรวจของมูลนิธิชีววิถี พบว่า เกษตรกรไทยมีสารเคมีตกค้างในเลือดสูงถึง30% แต่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงกว่าคือ กลุ่มผู้บริโภคมีปริมาณสารเคมีตกค้างในเลือดสูงถึง 36% โดย สสส. มีนโยบายด้านการพัฒนาระบบและกลไกลสนับสนุนเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ จึงได้ร่วมกับ บริษัท สวนเงินมีมา จำกัด และ และเครือข่าย จัดทำโครงการพัฒนาต้นแบบตลาดทางเลือก เพื่อพัฒนาต้นแบบตลาดทางเลือก เชื่อมโยงผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค เพื่อทำให้กระบวนการเกษตรอินทรีย์ มีความยั่งยืน เกษตรกรมีตลาดในการขายผลผลิต ผู้บริโภคมีทางเลือก
นางวัลลภา แวนวิลเลียนส์วาร์ด ผู้จัดการโครงการพัฒนาต้นแบบตลาดทางเลือกฯ สสส. กล่าวว่า ขณะนี้มีกลุ่มเกษตรกรเข้าร่วมกับโครงการฯ แล้ว 10 กลุ่ม โดยจะประสานนักวิชาการให้ความรู้เรื่องการผลิตและการบริโภคอาหารอย่างปลอดภัย พร้อมทั้งสร้างมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ในเครือข่ายสามารถตรวจสอบความปลอดภัย สารเคมีตกค้าง และสร้างการยอมรับให้เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้บริโภค ซึ่งความผลสำเร็จของโครงการพัฒนาต้นแบบตลาดทางเลือกฯ จะทำให้สังคมเห็นถึงพลังของผู้บริโภคมีอยู่จริง สามารถเลือกอาหารและผลผลิตที่มีคุณภาพ และปลอดภัย ช่วยสร้างความเกื้อกูลกันในสังคมของผู้ผลิตและผู้บริโภคให้เกิดเป็นระบบการบริโภคอาหารที่ดีและเป็นธรรมได้อย่างแท้จริง เพราะผู้ผลิตและผู้บริโภคจะได้ประโยชน์ในด้านการขยายตลาดไปสู้ผู้บริโภคโดยตรงโดยไม่ต้องผ่านระบบคนกลาง ทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ราคาไม่แพง และเป็นการเกื้อหนุนวิถีการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ด้าน นายสุชาญ ศีลอำนวย เลขาธิการมูลนิธิเอ็มโอเอไทย ในฐานะองค์กรผู้ร่วมสนับสนุนโครงการพัฒนาต้นแบบตลาดทางเลือกฯ กล่าวว่า การช่วยเหลือและพัฒนาเกษตรที่เข้าร่วมโครงการฯ มี 5 แนวทาง คือ 1.ให้ความรู้จัดอบรมปรับแนวคิดด้านเกษตรธรรมชาติอย่างถูกต้องแก่เกษตรกร โดยนำทรัพยากรในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการพึ่งพาภายนอก เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเพาะปลูก 2.ติดตามผลร่วมกับเจ้าหน้าที่โครงการฯ เพื่อร่วมเรียนรู้กับเกษตรกรในแปลง พร้อมให้คำปรึกษาด้านต่างๆ โดยเฉพาะเทคนิคการเพาะปลูกที่คล้อยตามและเคารพธรรมชาติ พร้อมสอดแทรกปรัชญาแนวคิดการพัฒนาจิตใจของเกษตรกรให้คำนึงถึงสุขภาวะของผู้บริโภคเป็นอันดับแรก 3.จัดการพบปะกับเกษตรกรกลุ่มอื่น และกลุ่มผู้บริโภคเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ รับฟังความคิด เพื่อนำมาพัฒนาผลผลิตของตนเอง4.สร้างเกษตรกรรายใหม่เพราะการสร้างตลาดทางเลือกจำเป็นต้องมีกลุ่มเกษตรกรจำนวนมากและกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการและผลผลิตไม่ขาดตลาด และ 5.สามารถร่วมกันวางแผนการปลูก เพื่อกำหนดชนิด ปริมาณ และราคา ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาด ซึ่งจะทำให้โครงการประสบความสำเร็จได้
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข