ต้นแบบจาก “หนองตองพัฒนา” สังคมผู้สูงอายุเข้มแข็ง
ส่งเสริมชีวิตที่ดี
จากการสำรวจข้อมูลประชากรในปี 2548 พบว่ามีประชากรผู้สูงอายุราว 7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 10.4 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยคาดว่าจะเพิ่มเป็นร้อยละ 11.7 ในปี 2553 และร้อยละ 13.4 ในปี 2558 ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากมีจำนวนประชากรที่มีอายุสูงกว่า 65 ปีมากกว่าร้อยละ 7 ของประชากรทั้งหมดของประเทศ ถือได้ว่าเป็น “สังคมผู้สูงอายุ” อย่างแท้จริง
การเปลี่ยนแปลงสู่สังคมผู้สูงอายุได้ส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆ ของประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบสวัสดิการผู้สูงอายุที่ต้องมีการเตรียมการต่างๆ ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของผู้สูงอายุในอนาคต โดยในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ก็ได้เน้นในกระบวนการเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นในทุกๆ ด้าน
“โครงการศึกษามาตรฐานขั้นต่ำสำหรับที่พักอาศัยและสภาพแวดล้อมของผู้สูงอายุ” โดยการสนับสนุนของ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย, คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงเกิดขึ้นเพื่อศึกษาถึงแนวทางพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมและปลอดภัยต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายกับผู้สูงอายุ
รศ.ดร.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงที่มาของงานวิจัยซึ่งนำมาสู่แนวคิดและการดำเนินงานเพื่อจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุในหลายๆ พื้นที่ๆ ในปัจจุบันไว้ในหนังสือ “สู่สังคมไม่ทอดทิ้งกัน บนเส้นทางการสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ” ว่า การเตรียมความพร้อมเพื่อสังคมผู้สูงอายุนั้นมีหลายด้าน แต่ด้านที่สำคัญมากก็คือเรื่องของสุขภาพ ทำอย่างไรที่จะดูแลสุขภาพให้แข็งแรงมีอายุยืนได้ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร จึงเป็นโจทย์หลักของการดูแลผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
“คำว่าสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร หมายถึงสภาพแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นซึ่งไม่ก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้ เมื่อรวมกับคำว่าผู้สูงอายุ จึงหมายถึงสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เหมาะสมกับการใช้ชีวิตประจำวัน และไม่ก่อให้เกิดอันตรายกับผู้สูงอายุ เพราะตัวแปรของโจทย์นี้ก็คือการเกิดอุบัติเหตุ เพราะถ้าสิ่งแวดล้อมปลอดภัยก็จะลดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้ และทำให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตในช่วงสุดท้ายได้อย่างมีความสุข” อ.ไตรรัตน์ระบุ
เทศบาลตำบลหนองตองพัฒนา อ.หางดง จ.เชียงใหม่ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับประชากรผู้สูงอายุ ภายหลังจากการสำรวจจำนวนประชากรทั้งหมด 9,021 คนในปี 2551 พบว่ามีผู้สูงอายุถึง 1,488 คน คิดเป็นร้อยละ 16.49 จึงเริ่มหันมาศึกษาในเรื่องการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ เพราะในอนาคตจำนวนประชากรผู้สูงอายุในพื้นที่จะมีมากขึ้นเป็นลำดับ
นายมานพ ตันสุภายน รองนายกเทศมนตรีฯ กล่าวว่า เมื่อเห็นตัวเลขดังกล่าวทำให้เราเริ่มตระหนักและเห็นความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ นอกจากแค่การมอบเบี้ยยังชีพ แจกผ้าห่ม หรือช่วยเหลือเมื่อทุกข์ยาก เราจำเป็นจะต้องมีสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งให้ผู้สูงอายุได้มีโอกาสมาพบปะแลกเปลี่ยน ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุไม่เครียด หรือได้มาถ่ายทอดความรู้ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของตนเองให้กับลูกหลาน จึงเกิดแนวคิดที่พัฒนาอาคารเรียนเก่าที่ถูกปล่อยทิ้งร้างให้เป็น “ศูนย์อเนกประสงค์ผู้สูงอายุเทศบาลตำบลหนองตองพัฒนา” ที่ได้มีการพัฒนาปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมและมีความปลอดภัยในการใช้งานของผู้สูงอายุ
เพราะที่ผ่านการก่อสร้างต่างๆ ไม่ได้คำนึงถึงการจัดสภาพสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุที่เป็นอัมพฤกษ์-อัมพาต นอนอยู่ที่บ้าน ส่วนใหญ่เกิดมาจากสภาพสิ่งแวดล้อมภายในบ้านที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นจากบันได ทางเดิน ห้องน้ำ ที่เกิดจากความลื่น แสงสว่างไม่เพียงพอ และไม่มีราวจับ จุดนี้ทำให้ทางเทศบาลตระหนักว่า นอกจากจะสร้างศูนย์แห่งนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นสถานที่ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมต่างๆ แล้ว เรายังมุ่งเน้นในเรื่องของการจัดการสภาพแวดล้อมให้มีความปลอดภัยกับผู้สูงอายุ
“เมื่อผู้สูงอายุได้มีสถานที่ที่ได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน ก็จะทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตและสุขภาพกายที่ดี ทั้งในด้านอารมณ์ สังคม สติปัญญา และที่สำคัญก็คือจิตวิญญาณของผู้สูงอายุจะดีขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้ผู้สูงอายุเหล่านั้นไม่ไปเป็นภาระของครอบครัว ไม่เป็นภาระให้สังคม ไม่เป็นภาระให้กับท้องถิ่น แต่ถ้าเราไม่สนับสนุนและไม่ตระหนักกันแบบนี้ ผู้สูงอายุจะกลับมาเป็นภาระให้กับลูกหลานและสังคม แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าผู้สูงอายุมีสุขภาพดี เขาจะกลับมาเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าต่อสังคม และสังคมนั้นจะเป็นสังคมที่เข้มแข็ง และครอบครัวก็จะมีความสุขกันถ้วนหน้า” นายมานพระบุ
และในปี 2553 แนวคิดนี้ยังถูกขยายผลลงไปในระดับครัวเรือน โดยทางเทศบาลมีนโยบายที่จะเข้าไปปรับปรุงสภาพของบ้านเรือนสิ่งแวดล้อมภายในบ้านของผู้สูงวัยในหมู่บ้านต่างๆ ให้มีความปลอดภัยต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้สูงอายุในชุมชน
แพทย์หญิงลัดดา ดำริการเลิศ ผู้จัดการแผนงานวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ สสส. เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุอยู่ร้อยละ 11 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่คนปกติทั่วไปใช้ชีวิตอยู่อาจจะไม่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ ดังนั้น จึงต้องมีการจัดการสภาพแวดล้อมใหม่ที่เหมาะสม โดยเฉพาะสถานที่ที่คนวัยเกษียณแล้วจะไปรวมตัวกันทำกิจกรรมต่างๆ
หากสิ่งแวดล้อมไม่เอื้อสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้พิการให้เข้าถึงและใช้บริการได้ ก็ส่งผลให้ผู้สูงอายุเหล่าจะต้องอยู่แต่ในบ้าน จะไปไหนก็ไม่ได้ ไม่สะดวก ลูกหลานก็ไม่ให้ไป ไปวัดก็บอกว่าอย่าไปเลยเดี๋ยวหกล้ม ราวจับอะไรก็ไม่มี ห้องน้ำก็นั่งแล้วลุกขึ้นมาหน้ามืด ฉะนั้น เมื่อผู้สูงอายุต้องจับเจ่าอยู่แต่ในบ้าน สิ่งที่ตามมาก็คือขาดการปฏิสัมพันธ์กับสังคม ขาดการใช้สมอง ขาดการทำกิจกรรมที่ต้องใช้การเคลื่อนไหว
ผลลัพธ์ก็คือสุขภาพที่เสื่อมโทรมลงทั้งกายและใจ ซึ่งการทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดการใช้ความคิด ใช้สมอง ได้รับประทานอาหารที่เหมาะสม ออกกำลังกายที่เหมาะสม ก็จะช่วยชะลอสภาวะสุขภาพที่เสื่อมโทรมลงได้ จึงต้องคำนึงถึงสถานที่ด้วย เพราะผู้สูงอายุเวลาหกล้มหรือบาดเจ็บ จะทำให้เกิดสุขภาพทรุดโทรม เกิดภาวะทุพพลภาพ และเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การป้องกันเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ทาง สสส.จึงได้ให้การสนับสนุนในเรื่องแป รวมทั้งในเรื่องของความรู้ การจัดสถานที่ และการรณรงค์สร้างความตระหนักในเรื่องของสังคมผู้สูงอายุ เพื่อสังคมตื่นตัวกับเรื่องของสังคมสูงอายุมาก
ที่มา: เว็บไซต์ไทยโพสต์
update : 19-10-09
อัพเดทเนื้อหาโดย : ภราดร เดชสาร