ต่าง GEN ไม่ต่างใจ
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
"ชุดเครื่องเซ่นไห้วของศาลพระภูมิ สไตล์โมเดิร์น จะมีฝาปิดป้องกันนก มากินอาหารในชุดเซ่นไหว้ สำหรับบ้านที่รักความสะอาด" ความคิดของสถาปนิกรุ่นใหม่ "ไม่ดีมั้ง ศาลพระภูมิแบบใหม่สวยดีนะเหมือนโรงแรมเลย แต่ขอเถอะอย่ามีฝาปิดชุดเซ่นไหว้เลย นกจะได้มากินอาหารได้" ความคิดคนรุ่นพ่อที่เปิดร้านขายศาลพระภูมิมากว่า 20 ปีสะท้อนภูมิปัญญาโบราณที่แฝงอยู่ เหล่านี้เป็นเนื้อหาสื่อสารกันในหนังสั้น "สุดไกลตา" โดยผู้กำกับ พัฒนะ จิรวงศ์ ที่พยายามบอกเล่าถึงความคิดที่ต่างกันของคนต่างวัย แต่หากเปิดใจยอมรับเหตุผลของกันและกัน จะทำให้คนสองวัยพุดคุยกันได้อย่างถูกคอ
จากรายงานการติดตามและประเมินผลแผนผู้สูงอายุชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545-2564) ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2555-2559) พบว่า มีประชาชนร้อยละ 38.7 ที่ยังไม่ตระหนักถึงคุณค่าของผู้สูงอายุ หรือยังมีทัศนคติเชิงลบต่อผู้สูงอายุ
มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนา ผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ไทยพีบีเอส กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยศรีนครินทร วิโรฒ ได้จัดงาน "ต่าง GEN ไม่ต่างใจ" ดูหนัง-ฟัง-คุย เพื่อคนทุกวัย ต้อนรับวันผู้สูงอายุสากลที่องค์การสหประชาชาติกำหนดในวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี ภายใต้โครงการฉายภาพยนตร์สั้นและเวทีเสวนาสาธารณะ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคม โดยใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อเพื่อลดช่องว่างระหว่างวัย พร้อมเวทีเสวนาสาธารณะ ณ ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) มีผู้ร่วมงานประมาณ 300 คน โดยมีหนังสั้น 4 เรื่อง ได้แก่ 1. "Relations Chick" กำกับการแสดงโดย ศิวัชญา ศิวโมกษ์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร 2. "Tester" กำกับการแสดงโดย กฤติน ทองใหม่ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 3. "ภาพหน้าร้อนที่หายไป" กำกับการแสดงโดยมนธิการ์ คำออน จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ 4. "สุดไกลตา" กำกับการแสดงโดย "พัฒนะ จิรวงศ์" ผู้กำกับภาพยนตร์สั้นมือรางวัล
"เมื่อต้องอยู่ท่ามกลางความต่างวัย คนแก่ต้องเข้าใจว่าเยาวชนไม่เคยแก่ หน้าที่ของเราต้องปรับตัวและปรับใจ อย่าโหยหาเรียกร้องความเข้าใจจากคนหนุ่มสาว ให้คิดว่าความแก่เป็นเรื่องมหัศจรรย์ สัมพันธ์ในช่วงที่เรามีความรู้สึกมหัศจรรย์ ได้ใส่ใจมันเป็นความหมายที่เราต้องเข้าใจด้วย มีพื้นที่ให้แก่กันและกันมันเป็นมูลค่าทางความรู้สึก และต้องมีความใจกว้างไม่ตัดสินจนเกิดความรู้สึกอึดอัดใจ" อ.ประมวล เพ็งจันทร์ นักปรัชญา และเจ้าของหนังสือ "เดินสู่อิสรภาพ" ให้วิธิคิดเพื่อเตรียมตัวแก่
เค้าโครงของหนังสั้น "สุดไกลตา" เล่าเรื่องชายวัย 60 ปี เป็นเจ้าของร้านขายศาลพระภูมิในพื้นที่ในจังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศกัมพูชา ขณะที่ลูกสาวเป็น นศ.เรียนสถาปัตย์ มีลูกจ้างในร้านซึ่งเป็นเด็กจากกัมพูชาในวัยรุ่นตอนต้น ช่วงปิดเทอมลูกสาวกลับมาอยู่ด้วย พ่อพยายามชวนไปเที่ยวปราสาทขอมเพื่อย้อนอดีตในวัยเด็ก แต่ด้วยเป็นคนรุ่นใหม่มองว่าไม่มีอะไรน่าสนใจ ร้อน และช่วงเวลาเดียวกัน "โม" ซึ่งเป็นลูกจ้างในร้านขอลากลับบ้านเพื่อพาแม่ไปเที่ยวปราสาทหิน แต่โชคร้ายถูกทำร้ายจนเสียชีวิต เจ้าของร้านศาลพระภูมิอาลัยโมจึงตั้งศาลพระภูมิตรงที่โมเสียชีวิต ด้วยความตั้งใจว่าจะต้องตั้งศาลให้ตรงแสงพระอาทิตย์ที่เหมือนกับปราสาทขอมเหมือนที่โมเคยบอกว่าชอบแสงอาทิตย์ที่ลอดช่องปราสาท ผู้เป็นพ่อจะนอนรอจนกว่าพระอาทิตย์จะขึ้น ขณะที่ลูกสาวบอกว่าสมัยนี้มีแอพพลิเคชั่นรู้ได้แล้ว หนังได้มีบทสนทนาสื่อถึงความคิดของคนต่างวัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศาลพระภูมิข้างต้น การเก็บงำเรื่องราวในอดีต วัยเด็กของลูกสาวที่เคยไปเที่ยวปราสาทหินด้วยกัน ผู้เป็นพ่ออยากหวนไประลึกถึงจนกระทั่งลูกสาวได้อ่านบันทึกที่พ่อเขียน จึงเข้าใจความคิดของคนเป็นพ่อมากขึ้น
ผู้กำกับภาพยนตร์ สุดไกลตา แนวคิดหลักของโครงการผลิตภาพยนตร์ทั้ง 4 เรื่อง คือ การเล่าเรื่องการอยู่ร่วมกันในสังคมของคนทุกวัย มีสาระสำคัญที่จะลดช่องว่างระหว่างวัยอยู่ที่
"เพราะเมื่อใดก็ ตามที่เราเห็นคุณค่าในตัวคนอื่น เราจะอยากรักษาเขา ไว้อย่างดีที่สุด" ผู้กำกับภาพยนตร์สุดไกลตา บอกเล่า
ปั๊ม "อนุชิต คำน้อย" เจ้าของแฟนเพจ คิ้วต่ำ เล่าว่า ย้อนไปเมื่อตั้งเพจใหม่จะมีแฟนเพจเป็นวัยรุ่นที่ชื่นชอบลายเส้นตัว แต่ในปีนี้พบว่าแฟนเพจมีผู้สูงอายุวัย 50-60 ปีเพิ่มขึ้น บางคนอินบ๊อกซ์มาบอกเล่าว่าไปหาหมอมา ส่งรูปใบนัดหมอมาบ้าง คิดว่าเขาอาจจะอยากสื่อสารพูดคุยก็เท่านั้นเราก็ส่งสติกเกอร์กลับไป จากมุมนี้ได้คิดว่าปัจจุบันคนเล่นโซเชียล เล่าเรื่องราวลงไปเพื่อให้คนอื่นมาฟังตัวเอง แต่เราหลงลืมที่จะฟังคนอื่น
"ทุกวันนี้สังคมไทยยังไม่เข้าใจผู้สูงอายุ ดังตัวอย่างที่มีคำว่ามนุษย์ป้า มนุษย์ลุง สสส.ให้ความสำคัญการสื่อสารระหว่างวัย หนังมีโอกาสสะท้อน เพื่อให้คนเราเห็นคุณค่าระหว่างวัยเพื่อรองรับสังคม สว.ในอนาคต" นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวและว่า สสส. จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายพัฒนาการสื่อสารสังคมให้เกิดความตระหนักถึงคุณค่าของผู้สูงอายุ
ภาพยนตร์สั้นทั้ง 4 เรื่องสะท้อนมุมหนึ่งออกมาให้ชัดว่าผู้สูงอายุไม่ใช่ภาระแต่คือพลังเติมเต็มให้กันระหว่างของคนต่างเจน ภาพยนตร์ชุดดังกล่าวทั้ง 4 เรื่องจะถูกเผยแพร่ออกอากาศทางไทยพีบีเอสในรายการ Talk to Films ซึ่งออก อากาศทุกวันพฤหัสบดี เวลา 13.00-14.00 น. ในช่วงเดือน ต.ค. และ พ.ย. 2561