ต่างด้าว แต่ใจเดียว
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
อสต. อาสาของกลุ่มแรงงานข้ามชาติชาวพม่า ร่วมกับ อสม.ไทย ขับเคลื่อนสาธารณสุข สร้างสุขภาวะที่ดี
ถึงจะคุยกันไม่รู้เรื่อง แต่เชื่อเถอะ …ยังไงก็เขิน ไม่ว่าจะท่าทางประหลาดๆ ที่ดู เก้ๆ กังๆ สำหรับตัวเอง หรือคนแปลกหน้าที่ชวนเธอให้มาเป็นนางแบบจำเป็น หน้ากล้องอย่างนี้ ใครก็ไม่รู้ แต่ตัว มะ ซาน เองก็ยังยินดีทำให้ เธอเป็นหนึ่งในอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานต่างด้าว หรือ อสต. เป็นงานอาสาของกลุ่มแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาที่เข้ามาร่วมกับ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ของไทย โดยมีองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ช่วยขับเคลื่อน
โครงการนี้ เป็นโครงการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โดยกระทรวงสาธารณสุขเพื่อดูแลสุขภาพของแรงงานต่างด้าว ป้องกัน และควบคุมโรค ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อคนไทยซึ่งดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 จนค่อยๆ ก่อตัวเป็นระบบที่ชัดเจนตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
มะ ซาน และเพื่อนๆ อสต.ทั้ง 90 ชีวิต กระจายตัวอยู่ตามชุมชนเมียนมาในตัวเมืองระนองล้วนเป็นเหมือนดอกผลของโครงการ
หน้าที่หลักๆ ของพวกเธอก็คือให้ความรู้ด้านสุขภาพกับเพื่อนแรงงานชาวเมียนมานับหมื่นคนที่แห่มา "ขุดทอง" ที่ประเทศไทย บ่อยครั้งที่เงินจากงานก็มีค่ามากกว่าสภาพร่างกาย การให้ความรู้เกี่ยวกับสาธารณสุข จึงถือเป็นเรื่องจำเป็นแรกๆ ของการก้าวไปสู่คุณภาพชีวิตแรงงานที่ดี …ที่หลายคนลืมคิดถึงไป ห้องแถวชั้นเดียวเรียงตัวทอดยาวเป็นแนวในซอยไม่ห่างจากถนนใหญ่มากนัก ที่นี่ นอกจากคาวปลาที่บ่งบอกถึงย่านประมงหลักอีกแห่งของเมืองระนอง หลายคนรู้จักในชื่อ "ชุมชนชุมทอง"ขณะที่อีกหลายคนคุ้นเคยกับชื่อ "ชุมชนตัวแอล" "เมื่อก่อนมันเป็นห้องแถวรูปตัวอักษรแอล (L) ต่อมาพอสร้างห้องอื่นๆเพิ่มคนก็ยังเรียกติดปากอยู่"
ใครบางคนอธิบายถึงลักษณะของย่านที่ชาวเมียนมานับพันใช้ชีวิตวนเวียนอยู่ที่นี่ รวมทั้งตัวมะเองด้วย เธอย้ายตามสามีมาจากทวายเมื่อ 20 ปีก่อน ใช้แรงงานแลกเงินที่สะพานปลาละแวกนี้ เก็บหอมรอมริบเพื่อสร้างครอบครัวขึ้นมา วันนี้ นอกจากจะใช้ชีวิตอยู่ในห้องเช่าตามอัตภาพแล้ว ยังมีเงินส่งเสียลูกชายหัวแก้วหัวแหวนคนเดียวของครอบครัวกลับไปเรียนที่บ้านได้อย่างไม่ขัดสน ประสบการณ์การทำงานในต่างบ้านต่างเมืองสอนให้รู้ว่า "สุขภาพ" เป็นทั้ง "ต้นทุน" และ "ขุมทรัพย์" ถ้าร่างกายไม่แข็งแรง ก็ทำงานไม่ได้ เท่ากับว่ารายได้ที่มีจะหายไปด้วย การดูแลร่างกายให้แข็งแรงจึงเป็นเรื่องที่เธอ และครอบครัวไม่เคยมองข้าม แต่เพื่อนร่วมชาติของเธอที่ข้ามมา หลายคนไม่ได้คิดแบบนั้น "ทำงานหาเงินอย่างเดียวค่ะ" สุรัสวดี อินทรอักษร เจ้าหน้าที่ติดตามและประเมินผล จากมูลนิธิศุภนิมิตร จ.ระนอง ที่ทำงานกับแรงงานต่างด้าวในพื้นที่เล่าถึงพฤติกรรมของแรงงานส่วนใหญ่ นอกจากนิสัยเน้นทำงานเพื่อเก็บเงินเป็นหลักจนไม่สนใจสุขอนามัยส่วนตัวแล้วสภาพแวดล้อมในการทำงานก็ไม่ได้เอื้อต่อคุณภาพชีวิตของแรงงานกลุ่มนี้มากนักจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลกับกลุ่มแรงงานตามสถานประกอบการเธอยอมรับว่า ปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจถือว่ามาเป็นอันดับแรก
"ตรงนี้ยังได้กลิ่นเลย รู้สึกไหมคะ" เจ้าหน้าที่ฝ่ายติดตามคนเดิมตั้งข้อสังเกตถึงอากาศภายในชุมชน ซึ่งถูกล้อมรอบด้วยแพปลา นอกจากกลิ่นคาวปลาในเวลาทำงานที่พวกเขาต้องเจอแล้ว ยังมีปลาป่น และการทำของเค็มต่างๆ ที่ขึ้นมาจากเรือด้วยสภาพความแออัดของคนทำงานใต้ชายคาเดียวกัน แพปลาส่วนใหญ่จึงกลายเป็นแหล่งบ่มเชื้อโรคไปโดยปริยาย อีกทั้งยังทำให้คนงานที่นี่มีอัตราเสี่ยงจากวัณโรคสูงเป็นอันดับ 2 ของ จ.ระนองด้วย รายงานสถานการณ์แรงงานจังหวัดระนองไตรมาส 3 ระหว่างเดือนกรกฎาคม กันยายน 2559 จากสำนักงานแรงงานจังหวัดระนองพบว่า มีแรงงานต่างด้าวหมุนเวียนทำงานในจังหวัดทั้งสิ้น 66,913 คน ทั้ง ลาว เมียนมา กัมพูชา และกลุ่มชาติพันธุ์ โดยที่สัดส่วนแรงงานส่วนใหญ่จะเป็นชาวเมียนมาเป็นหลัก แรงงานเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในฟันเฟืองที่คอยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประมงที่นี่สร้างเม็ดเงินกว่า 3,625 ล้านบาทป้อนสู่ระบบเศรษฐกิจของจังหวัด ซึ่งมีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 3 ของระนอง ในแง่ประชากรเมื่อเทียบเคียงกับปริมาณผู้คนกว่า 188,000 คนที่มีอยู่ แรงงานข้ามชาติก็นับเป็น 1 ใน 3 ของชาวระนอง ยิ่งไปกว่านั้น พื้นที่ อ.เมืองระนองเองที่มีประชากรอยู่ราว 90,000 คนเกินครึ่งก็ล้วนเป็นแรงงานเมียนมา
"ที่สะพานปลาหมู่ 1 เอง คนที่อยู่ส่วนใหญ่ร้อยละ 80 จะเป็นคนเมียนมาที่เหลือเป็นเจ้าของกิจการ" เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิศุภนิมิตรคนเดิมให้ข้อมูล
ยิ่งไปกว่านั้น ความหนาแน่นของประชากรเมียนมาเฉลี่ยต่อชุมชนที่มีอยู่ราว 5,000 – 9,000 ชีวิตที่ทางมูลนิธิพบเมื่อคราวลงพื้นที่เก็บข้อมูลชาวเมียนมาก็ยิ่งทำให้เห็นว่า แรงงานข้ามชาติมีความใกล้ชิดกับชาวระนองเป็นอย่างยิ่ง "ยังไม่นับกลุ่มที่เราเข้าไม่ถึงอีกเกือบๆ 2 พันคนนะคะ" สุรัสวดีหยิบตัวเลขชุดที่เหลือขึ้นมากางให้ดู
ขณะที่ โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารตลอดจนโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ คือความกังวลที่มาพร้อมกับการเคลื่อนย้ายแรงงานในยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) นั่นหมายความว่า หากพวกเขาต้องเสี่ยงโรค คนระนองเองก็เสี่ยงไม่แพ้กัน เรื่องนี้ กนกวรรณ คุ้มเพชรพยาบาลวิชาชีพชำนาญการ จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ต.บ้านมิตรภาพ ในเครือข่ายโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจ.ระนองยอมรับว่า ด้วยพฤติกรรมของแรงงาน และสภาพแวดล้อม ทำให้ความเสี่ยงต่อโรคถือว่าน่าเป็นห่วง
ซึ่งปัจจุบันไม่ใช่แค่กลุ่มโรคติดต่อเท่านั้นแต่ยังรวมถึงกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs อย่าง โรคอ้วน ความดันเบาหวาน ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในกลุ่มแรงงานข้ามชาติอย่างเห็นได้ชัด "พอพูดกันคนละภาษาการทำงานเพื่อป้องกันโรคก็ยิ่งลำบากค่ะ" ไม่ใช่แค่พื้นที่พรมแดนที่มีการเข้าออกตลอดเวลาแต่การสื่อสารคนละภาษาก็กลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานด้านสาธารณสุขทำงานดูแล หรือควบคุมโรคไม่ค่อยได้ผล การมีกลุ่มคนเมียนมาที่หันมาสนใจเรื่องการดูแลสุขภาพของคนในชุมชนจึงไม่ต่างจาการเติมจิ๊กซอว์ตัวที่หายไประหว่างหน่วยงานด้านสาธารณสุขไทยกับแรงงานเมียนมาอย่างแท้จริง
ถ้าวันไหนมีเวลา ช่วงเย็น มะ ซาน มักจะออกเดินไปตามห้องพักของคนในชุมชนเพื่อไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบ แจ้งข่าว รวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพที่จำเป็นในช่วงนั้น
"ออกไปพูดคุย ก็มีแผ่นพับ หรือหนังสือไปให้เขาอ่านด้วยค่ะ" เธอเล่าถึงหน้าที่ด้วยภาษาไทยสำเนียงแปลกหู ที่ต้องออกไปช่วงเย็นก็เพราะจะเป็นช่วงที่แรงงานส่วนใหญ่เลิกงาน โดยการออกเยี่ยมตามบ้านนั้นจะทำรายสะดวก เพราะตัวเธอก็ต้องทำงานเหมือนกัน ไม่ต่างจาก ติ ดาซะ และ มะ พิว2 คู่หูอสต.ประจำ ศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชนไทย-เมียนมา ที่หมู่ 5 ใน ต.บางริ้นที่มักจะใช้เวลาที่ว่างเว้นจากการดูแลลูกหลานออกมาทำงานบริการสังคมแบบนี้ ทั้งคู่มองว่านี่เป็นเรื่องที่ดี ถ้าจะมีใครสักคนลุกขึ้นมาดูแลชาวเมียนมาด้วยกัน เพราะทุกคนต่างรู้ดีว่า เวลาของพวกที่ประเทศไทยนั้นเขามีค่า แต่น่าจะดีกว่าถ้ามีสุขภาพที่ดีในห้วงเวลานั้น
"ก็จะเน้นให้ความรู้ แล้วก็บอกเขาให้ไปทำบัตรสุขภาพ" ติ ดาซะ บอก บัตรสุขภาพ ในความหมายของเธอก็คือ ประกันสุขภาพที่จัดทำโดยกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะครอบคลุมการรักษาโรค และอุบัติเหตุในสถานพยาบาลของรัฐ โดยมีค่าใช้จ่ายอยู่ราวปีละ 2,100 บาท
"คล้ายๆ บัตรทอง 30 บาทของเราน่ะค่ะ" วัลภา โสภณธรรมกุล จากศูนย์สุขภาพฯ สรุปง่ายๆ นอกจากระบบประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวแล้ว สิ่งที่ต้องทำงานคู่ขนานกันไปด้วยก็คือ การให้ความรู้เพื่อดึงพวกเขาให้เข้าสู่ระบบการดูแลสุขภาพ ซึ่งกลไกสำคัญจะอยู่ตรงตัว อสต. นั่นเอง
"เราจะจัดอบรมให้เขา เพื่อให้เขาเอาไปสื่อสารต่อ หรือถ้าหากมีปัญหาเขาก็จะเป็นตัวกลางในการประสานระหว่างแรงงานกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข" วัลภาอธิบายลักษณะการทำงาน โดยแรกเริ่มนั้นทางศูนย์ได้มีการประสานงานกับทางมูลนิธิศุภนิมิตรซึ่งทำงานกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ทำให้ได้กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าวมาจำนวนหนึ่งก่อนที่จะขยายผลไปยังคนที่สนใจอื่นๆในเวลาต่อมา และขยายเป็นเครือข่ายการทำงานด้านสุขภาพระหว่างแรงงานข้ามชาติใน จ.ระนอง นอกจากจะให้ความรู้ด้านสุขภาพ อสต.กลุ่มนี้ยังเป็นฟันเฟืองสำคัญในการจัดสวัสดิการบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานอย่างการจัดหายารักษาโรคพื้นฐานที่ทำให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองได้ในเบื้องต้น โดยใช้ศูนย์สุขภาพฯ เป็นแม่ข่าย ทำให้ลดภาระผู้ป่วยให้กับทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลได้อีกทางหนึ่ง
"แนวโน้มของโรคก็ลดลง อย่างปีนี้ ไข้เลือดออก กับอหิวาตกโรคก็ลดลง" วัลภาชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการได้ "คนใน" มาทำงานสุขภาพกับแรงงานข้ามชาติ
"ดูแลเขาเราก็ได้ประโยชน์นะคะ" ในมุมของผู้ให้การรักษาอย่าง กนกวรรณ สะท้อนกลับมาเมื่อถูกถามถึงความจำเป็นของการต้องเอาใจใส่กับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เหตุผลหลักที่เธอหยิบขึ้นมาอธิบายให้เห็นภาพชัดๆ ก็คือ เพราะแรงงานกลุ่มนี้กลายเป็นประชากรหลักในพื้นที่ หากมีปัญหาเกี่ยวกับด้านสาธารณสุขทั้งกลุ่มคนไทย หรือบุคลากรในหน่วยงานด้านสุขภาพภายในจังหวัดก็จะพากันเดือดร้อนไปหมด
ด้วยความสำคัญของ "ประชากรกลุ่มเฉพาะ" ที่มีความสัมพันธ์กับสังคมทำให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พยายามสื่อสารกับสังคมผ่านโครงการ "นับเราด้วยคน" รวมทั้งการพาภาคีเครือข่ายลงพื้นที่ดูการทำงานของบรรดา อสต.ในครั้งนี้ "ปรากฏการณ์ความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพจะเห็นได้ชัดเจนจากคนกลุ่มนี้ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง" ประกาศิต กายะสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) ที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้โดยตรง
ต้องไม่ลืมว่า วันนี้วัณโรค กับโรคเอสด์ยังถือเป็น 2 ความเสี่ยงสำคัญที่คนทำงานยังต้องรับมืออยู่ ซึ่งก็หนีไม่พ้น อสต. ที่จะเป็นคำตอบสำหรับการแก้ปัญหานี้
ความเข้าใจ และความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริงจึงไม่ต่างจาก "ช่องว่าง" ที่รอการเติมเต็ม เพราะด้วยสภาพพื้นที่ รวมทั้งทัศนคติส่วนตัวที่ถูกส่งต่อกันมาระหว่างแรงงาน สุขภาพมักเป็นเรื่องรองเมื่อเทียบกับรายได้ในแต่ละวันของพวกเขา โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่แอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย หากถามกับบุคลากรด้านสาธารณสุขในพื้นที่ต่างก็ยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่ถือเป็นโจทย์สำคัญสำหรับทุกฝ่าย "เราก็จะพยายามพูดคุยให้ความรู้พวกเขาเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ และพยายามให้เขาไปขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องค่ะ"มะ พิว เล่าถึงสภาพการทำงานกับแรงงานที่หลบอยู่ในมุมกลุ่มนี้ คู่ขนานไปกับการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
จะเห็นได้ว่า "แรงจูงใจ" กลายเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการนำพาแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบสุขภาพพื้นฐาน พอๆ กับการจัดการปัญหาการลักลอบเข้าเมืองเพื่อทำงานอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งทำให้ได้รายได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น และการเข้าถึงระบบประกันสุขภาพก็กลายเป็นเรื่องเกินจำเป็นไปในที่สุด หรือแม้แต่การจัดสวัสดิการให้กับเหล่าอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าวกลุ่มนี้ก็ตาม เพราะโดยส่วนใหญ่งานของพวกเขายังเป็นการทำงานในลักษณะงาน "จิตอาสา" อยู่ แต่มีความสำคัญระดับการเป็นกุญแจดอกสำคัญในการเข้าถึงกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เรื่องนี้จึงเป็นอีกโจทย์ที่ไม่อาจมองข้าม "สังคมจำเป็นต้องอยู่ร่วมกันบนความหลากหลาย และต้องไม่ปล่อยให้กลไกทางสังคม กีดกันคนบางส่วนออกจากปัจจัยพื้นฐานของชีวิตที่เขาควรได้"ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพคนเดิม ยืนยันด้วยน้ำเสียงหนักแน่น
แต่ถ้าถามถึงรอยยิ้มของมะ ซาน เวลาออกไปพบปะพูดคุยเรื่องสุขภาพกับคนในชุมชน มันก็ไม่ได้อะไรหรอก นอกจาก "ความสุข" อย่างน้อย เธอก็ได้ช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติ แถมยังมีความรู้เอาไว้ดูแลคนในครอบครัวด้วย …กำไรเห็นๆ
"ภูมิใจค่ะ" มันเป็นคำตอบที่ชัดถ้อยชัดคำ และเต็มยิ้มที่สุด ถ้าไม่นับท่า "หมอมะ" ที่ตั้งใจนำเสนอให้กดชัตเตอร์อย่างนี้ ไม่เชื่อก็ดูหน้าเธอสิ…ยิ้มแป้นเชียว
สำรวจคุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติผ่านระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐานที่หลายคนผันตัวเองมาเป็น "อาสาสมัคร" เพื่อช่วยดูแลพวกพ้องยามเจ็บป่วย