ต่อยอดโภชนาการทางเลือก

หยุดวงจรอุบาทว์โคตรโกง

 

 

          ความสนใจของผมยังคงวนเวียนอยู่กับเรื่องของนมโรงเรียนด้วยเหตุผลต่างๆ มากมาย ฯลฯ

 

          ทั้งๆ ที่ผมหย่านมมานานแล้ว และลูกๆ ของผมเองก็เบื่อการดื่มนมเต็มทนเหมือนกัน มันจึงทำให้ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า

 

          นอกจากนมวัวแล้ว เราไม่มีทางเลือกอื่นที่จะเป็นอาหารเสริมสุขภาพแล้วกระนั้นหรือ ???

 

          ความเจริญเติบโตของเด็กๆ มีแต่ “นมโค” เท่านั้น! จริงหรือ..?

 

          ไม่ใช่คำถามกวนน้ำ(นม) ให้ขุ่น..ขอรับรอง

 

ต่อยอดโภชนาการทางเลือก

          เพราะอย่างน้อยก็มีหลายคนที่เห็นด้วยกับแนวคิดว่า..หากกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างนมโรงเรียนมีปัญหาไม่รู้จบ ทั้งเรื่องของการฉ้อฉลทุกระดับ เรื่องของนมบูดนมเสียหมดอายุไร้คุณภาพเมื่อถึงมือเด็กเรื่องของปลอมปนนมผงชงกับน้ำแทนนมโคสดๆ เพื่อการลดต้นทุนยักยอกเอากำไรเข้ากระเป๋า เหตุใดเราไม่เสนอโภชนาการทางเลือกอื่นๆ

 

          มันเป็นเรื่องของดีมานด์-ซัพพลาย หรืออุปสงค์-อุปทาน ตามหลักเศรษฐศาสตร์อยู่แล้ว จริงไหมครับ..ถ้าเราอยากจะทำลายระบบผูกขาดในธุรกรรมใดธุรกรรมหนึ่ง นอกจากการเปิดเสรีทางการค้าให้มีผู้ผลิตเพิ่มขึ้น เพื่อผลประโยชน์ของผู้บริโภคแล้ว การเพิ่มสินค้าทางเลือกก็จะเป็นทางออกประการหนึ่ง

 

          แล้ว..ทำไมต้องเป็นนมวัว เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพเด็ก

 

          เหตุไฉน..ทำไมไม่เป็นนมควาย นมแพะ นมข้าวโพด นมถั่วเหลือง นมข้าวสาลี นมข้าวกล้อง กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ โยเกิร์ต เนย โกโก้ หรืออื่นๆ อีกมากมาย

 

          เห็น “นมควาย” อย่าทำคิ้วผูกโบว์นะขอรับ เพราะไม่ใช่คำถามกวนโอ๊ย..สาบาน

 

          คุณคิดไม่ถึงต่างหากว่ามี “ควาย” มีนมให้กิน และเรามักถูกสอนว่าควายมันโง่

 

          ทั้งๆ ที่เราเป็นประเทศเลี้ยงควายมาก่อนที่จะมีการส่งเสริมให้เลี้ยงวัว แต่น้อยคนนักจะตระหนักรู้และเข้าใจว่า ควายให้อะไรมากกว่าการไถนา เทียมเกวียน หรือเอามาโชว์แข่งวิ่งควายประจำปี

 

          ความรู้ใหม่นี้ผมเองก็เพิ่งประจักษ์แจ้งจากปากของ อาจารย์ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ เมื่อเร็วๆ นี้

 

          ในฐานะอดีตประธานบอร์ดองค์การส่งเสริมกิจการโคนม หรือ อสค. ทำให้อาจารย์ณรงค์พบว่า การเลี้ยงวัวในประเทศไทยนั้นยากกว่าการเลี้ยงควาย และนมควายนั้นมีประโยชน์ทางโภชนาการสูงกว่านมวัว นอกจากนั้นที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้คือ วัวนมอาจจะทนแดดบ้านเราจริงแต่ไม่ทนน้ำ ในขณะที่ควายทนได้ทั้งแดดและน้ำ แต่เนื่องจากเรารับความรู้มาจากตะวันตกที่เลี้ยงควายไม่ได้ ข้อมูลที่เรารับมาจึงมีแต่ฝรั่งมังค่าบอกว่าวัวดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ ไม่แตกต่างเท่าไรนักกับการที่เรารับค่านิยมเกี่ยวกับประชาธิปไตยมาทั้งดุ้น โดยไม่ได้สนใจเลยว่าพื้นฐานสังคมของไทยนั้นแตกต่างจากยุโรปและอเมริกันโดยสิ้นเชิง

 

          อย่างไรก็ตาม ค่านิยมที่ถูกสั่งสอนต่อๆ กันมานานว่าควายมันโง่ แล้วกินนมควายจะไม่โง่ตามควายหรือ..ประเด็นนี้อาจจะเป็นอุปสรรคใหญ่ ทำให้ยากที่จะไม่โง่ตามควายหรือ.ประเด็นนี้อาจจะเป็นอุปสรรคใหญ่ ทำให้ยากที่จะรณรงค์ให้คนไทยยอมรับ “นมควาย” เป็นเมนูทางเลือกเพื่อสุขภาพ และเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะปลดแอกวงจรอุบาทว์โกงกินนมโรงเรียนในทางอ้อม

 

          ข้อเสนอเรื่อง “ดื่มนมควาย” น่าจะตกรอบแรกในการตอบโจทย์…โภชนาการทางเลือกช่วยหยุดวงจรอุบาทว์นม(วัว) โรงเรียนอย่างแน่นอน

 

          แต่นมประเภทอื่นๆ ผมว่าน่าสนใจมากทีเดียว หากเรามองในระยะยาวว่า เราควรจะพึ่งพาตนเอง สร้างชุมชนเข้มแข็งและนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน

 

          ประเทศไทยในน้ำมีนา ในนามีข้าว..ยังคงเป็นคำจำกัดความที่ไม่โอ้อวดเกินความเป็นจริง หรือหลงยุคหลงตัวเอง ทำไมรัฐไม่สนใจส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์เกษตรจากรากฐานความเป็นภูมิปัญญาไทยให้เป็นประโยชน์ แทนที่จะมัวเดินตามก้นฝรั่งด้วยนมวัว

 

          ทำกันให้จริงจังครับ อย่าอ้างว่าทำแล้ว แต่ทำเหมือนเสียไม่ได้ หรือทำประหนึ่งว่า เห็นบ้านอื่นทำแล้วก็ทำกันๆ ไว้เป็นสุนัขหวงชามข้าวเท่านั้น

 

          นมข้าวกล้อง นมข้าวโพด นมแพะ นมถั่วเหลือง มีโภชนาการที่ไม่น้อยหน้าไปกว่านมวัวแน่นอน! แต่ขาดการส่งเสริมและรณรงค์ให้คนไทย เด็กไทยเห็นคุณค่าทางเลือกที่ใกล้ตัว และติดดินตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง

 

          เคยบ้างไหมครับ…ที่จะมีการสำรวจวิจัยว่า เด็กเบื่อหน่ายต่ออาหารเสริมที่เรียกว่า “นมโรงเรียน” บ้างไหม

 

          เคยหรือยัง…ที่จะลองศึกษาวิเคราะห์ให้ถ่องแท้ว่า โครงการนมโรงเรียนสร้างผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายต่อเด็กและเกษตรกรเลี้ยงโคนมเต็มที่ หรือพวกเขารับแค่เศษเดนงบประมาณแผ่นดินเท่านั้น ในขณะที่พ่อค้าคนกลาง เจ้าของโรงงานนม ข้าราชการประจำและข้าราชการการเมืองที่เกี่ยวข้องกับวงจรเส้นทางเงินงบประมาณนมโรงเรียน ได้รับเต็มๆ กระเป๋าอย่างถ้วนทั่วหน้า

 

          คำถามข้อแรก..อาจจะมีคำตอบว่า เราจำเป็นต้องใช้ภาคบังคับกับเด็กในเรื่องการกินนม

 

          คำตอบข้อสองพัวพันจากข้อแรก..เมื่อนมเป็นอาหารที่เด็กปฏิเสธไม่ได้ นโยบายสาธารณะ “นมโรงเรียน” ก็ต้องดำเนินการต่อไป

 

          ผมถึงได้บอกว่า ถึงเวลาที่จะเปลี่ยนแปลงค่านิยม รู้จักลองคิดใหม่ สร้างจินตนาการที่แปลกแยกออกไปหรือยัง หากเล็งเห็นแล้วว่าเส้นทางเก่า การดำเนินการแบบเดิมนั้น “นรก” ชัดๆ

 

          นรก…เกิดจากขบวนการโกงกินทุกระดับในโครงการนมโรงเรียน

 

          นรก…ที่นักเรียนต้องเสี่ยงว่าจะเจอแจ๊คพ็อตนมบูด นมปลอมแปลง

 

          นรก…ที่เกษตรกรเลี้ยงโคนมต้องเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐด้วยการเทนมทิ้งหน้ากระทรวงเกษตรฯ ทุกช่วงเทศกาลปิดเทอม

 

          นรก…ที่ในระยะเวลาไม่นานไม่ช้า ตลาดเสรีนมต้องเปิดตามข้อตกลงเอฟทีเอ ส่งผลให้รัฐไม่สามารถ “อุ้ม” สินค้านมในประเทศอย่างที่เคยกระทำได้ตามใจเกษตรกรอีกต่อไป

 

          เปลี่ยนกันเถอะครับ…เปลี่ยนแนวคิด จินตนาการใหม่ เพื่อทางรอดและชีวิตและสุขภาวะที่ดีกว่า

 

          ทุกวันนี้เรามีภูมิปัญญาไทยที่เพิ่มโภชนาการทางเลือกมากมายจนแม้กระทั่งต่างประเทศยังต้องหันมาศึกษาเลียนแบบเรา ทำไมไม่ลองเปิดโอกาสให้เด็กในแต่ละท้องถิ่นหรือชุมชนตัดสินใจเลือกอาหารเสริมความต้องกร และสอดคล้องกับวิถีชุมชนของตนเอง

 

          ไม่ต้องตัดโชะตัดชับ..เลิกโครงการนมโรงเรียนทันที แต่ลองเริ่มคิดว่าจะทำอย่างไรในการต่อยอดโภชนาการทางเลือก ทดแทนนมโรงเรียน แล้วอนาคตข้างหน้ารับรองว่าประเทศไทยจะยึดตำแหน่งครัวของโลกสมใจแน่นอน

 

          เหนืออื่นใด…คนโกงถูกตัดตอนไป…มันสะใจแท้ๆ

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

 

 

Update 17-03-53

 

อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์

Shares:
QR Code :
QR Code