ต่อยอดศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ ผู้สูงอายุในชุมชน
ที่มา : เว็บไซต์มติชน
แฟ้มภาพ
ผู้ป่วยสูงอายุ ควรได้รับการดูแลและฟื้นฟูอย่างใกล้ชิด ดังนั้นเพื่ออำนวยความสะดวก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ดูแลและฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ ในเขตชุมชนการเคหะแห่งชาติ
นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยหลังเป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ดูแลและฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ (Elderly Day Care-EDC) บ้านเอื้ออาทรรัตนาธิเบศร์ (ท่าอิฐ) ว่า เป็นนิมิตหมายที่ดีในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ในชุมชนการเคหะแห่งชาติ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยบูรณาการร่วมกัน 8 หน่วยงาน ได้แก่ การเคหะแห่งชาติ, โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า, สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค, ศูนย์อนามัยที่ 4 สระบุรี และศูนย์อนามัยที่ 13 กรุงเทพมหานคร กรมอนามัย, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 4, องค์การบริหารส่วนตำบลบางรักน้อย และนิติบุคคลอาคารชุดบ้านเอื้ออาทรท่าอิฐ
“ลำพังหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งคงทำไม่ได้ แต่ที่นี่บูรณาการความร่วมมือจากหลายหน่วยงานที่ดีมาก ชุมชนเองก็เข้มแข็ง การเคหะแห่งชาติสนับสนุนสถานที่โดยใช้ศูนย์ชุมชนในโครงการเป็นที่จัดตั้งศูนย์”
ทั้งนี้ศูนย์ EDC บ้านเอื้ออาทรรัตนาธิเบศร์ (ท่าอิฐ) เริ่มขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2559 โดยในช่วงแรกได้จัดตั้งเป็น Healthy Condo หรือ คอนโดสุขภาพ จากนั้นจึงขยายผลเป็นศูนย์ EDC นำร่องที่โครงการบ้านเอื้ออาทรรัตนาธิเบศร์ (ท่าอิฐ) เป็นแห่งแรก และขยายผลไปอีก 7 พื้นที่โครงการของ กคช. ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ จ.นนทบุรี ประกอบด้วยบ้านเอื้ออาทรนนทบุรี (วัดกู้ 2) บ้านเอื้ออาทรประชานิเวศน์ 2 บ้านเอื้ออาทรบางบัวทอง 1 บ้านเอื้ออาทรบางบัวทอง 2 (บางกรวย-ไทรน้อย) บ้านเอื้ออาทรนนทบุรี (บางใหญ่ซิตี้) บ้านเอื้ออาทรนนทบุรี (แฟลต) บ้านเอื้ออาทรนนทบุรี (กันตนา) ซึ่งเริ่มทยอยเปิดดำเนินการภายในปี 2563 ทั้งหมด โดยมีแพทย์ นักกายภาพบำบัด และผู้ดูแลผู้ป่วยคอยรักษาดูแลและฟื้นฟู
การดำเนินงานของศูนย์ EDC บ้านเอื้ออาทรท่าอิฐ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ผู้ป่วยสูงอายุได้รับการดูแลและฟื้นฟูเห็นผลค่อนข้างดี ไม่ว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เท้าบวม ข้อเข่าเสื่อม ทั้งติดเตียงและพอช่วยเหลือตัวเองได้สามารถฟื้นฟูร่างกายให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ บางรายถึงขั้นหายและกลับไปใช้ชีวิตปกติได้
“การมีศูนย์ดูแลและฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุอยู่ในพื้นที่ ทำให้ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปโรงพยาบาล ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษา และไม่ต้องนั่งรอตรวจเป็นเวลานาน เพราะการมีศูนย์ฯ ก็เหมือนยกโรงพยาบาลมาไว้ที่นี่ ผู้ป่วยใช้เวลาเดินทางไม่นานก็มาถึงศูนย์ฯ ได้พบปะพูดคุยกับผู้ป่วยอื่นที่มารักษาอย่างคุ้นเคย เพราะอาศัยในโครงการฯ เดียวกัน ทำให้จิตใจดีส่งผลต่อการรักษาด้วย”
รมว.พม. กล่าวอีกว่า ตนมีนโยบายจะต่อยอดศูนย์ดูแลและฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ โดยใช้เป็นศูนย์ดูแลเด็กเล็ก (Child Day Care) ด้วย เพราะช่วงเช้าผู้ปกครองต้องไปทำงาน สามารถนำผู้สูงอายุมาพร้อมกับลูกฝากเลี้ยงในศูนย์ฯ ซึ่งจะแยกพื้นที่ทั้งสองส่วนออกจากกัน พอตอนเย็นหลังเลิกงานก็เดินทางกลับมารับผู้สูงอายุและลูกกลับเข้าที่พักได้เลย แนวทางดังกล่าวนี้จะช่วยลดค่าจ้างคนเลี้ยงเด็ก ลดความกังวล ทำให้ครอบครัวมีความสุขมากขึ้น
“ควบคู่ไปกับที่กระทรวง พม. จัดตั้งศูนย์ดูแลเด็กเล็กตอนกลางคืน (Night Care) รับฝากเด็กจากพ่อแม่เด็กที่ต้องทำงานล่วงเวลาหรือทำงานกลางคืนก็สามารถนำลูกมาฝากเลี้ยงได้” นายจุติ กล่าว
นอกจากนี้ กระทรวง พม. ยังเตรียมหาทางช่วยเหลือพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีอายุน้อย ให้มีงานทำเพื่อจะได้สามารถดูแลลูกได้ โดยร่วมกับโรงพยาบาลในพื้นที่ช่วยฝึกอบรมเป็นผู้ช่วยบุรุษพยาบาลหรือผู้ช่วยพยาบาล ซึ่งจะทำให้พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวดูแลตัวเองและเด็กได้ดีขึ้น เนื่องจากปัจจุบันพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวมีอัตราเพิ่มขึ้นมากจนน่ากังวล