ตู้น้ำหยอดเหรียญมาตรฐานต่ำเสี่ยงโรค

กรมอนามัยเตือนระวังระบบทางเดินอาหาร

 

          กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนอันตรายจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไม่ได้มาตรฐานเสี่ยงโรคที่เกิดจากน้ำเป็นสื่อในช่วงหน้าร้อน แนะเลือกใช้บริการจากตู้ที่ไม่ชำรุดมีสภาพสมบูรณ์

 

          ดร.นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัยเปิดเผยถึงการเลือกใช้บริการน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญอย่างปลอดภัยในช่วงหน้าร้อนว่า ปัจจุบันตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญมีให้บริการแพร่หลายมากขึ้นทำให้ประชาชนสะดวกในการบรรจุขวด โดยเฉพาะช่วงหน้าร้อนจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้ความต้องการน้ำดื่มมีมากขึ้นตามไปด้วย

 

          ดังนั้น ก่อนเลือกใช้บริการจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญควรให้ความใส่ใจต่อมาตรฐานของตู้น้ำดื่มที่ให้บริการตามจุด ต่าง ๆ ด้วย เพราะหากน้ำดื่มภายในตู้ไม่สะอาด หรือมีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ในน้ำ จะส่งผลกระทบต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกิดจากน้ำเป็นสื่อตามมาได้ เพราะจากสถิติการเฝ้าระวังโรคติดต่อจากน้ำและอาหาร โดยเฉพาะโรคอุจจาระร่วงตั้งแต่เดือนมกราคม – 16 มีนาคม 2553 ทั่วประเทศพบผู้ป่วยรวม 238,026 ราย เสียชีวิต 25 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 377.59 ต่อประชากรแสนคน อัตราการตาย 0.04 ต่อประชากรแสนคน นอกจากนี้ยังเป็นสาหตุทำให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินอาหารอื่น ๆ เช่น โรคบิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ ไวรัสตับอักเสบเอ

 

ตู้น้ำหยอดเหรียญมาตรฐานต่ำเสี่ยงโรค

          การเลือกใช้บริการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญแต่ละครั้งให้สังเกตสภาพภายนอกตู้ต้องสะอาด ไม่สกปรก ทำจากวัสดุที่แข็งแรง ทนทาน ไม่ผุกร่อน หรือเป็นสนิมจนน่ารังเกียจ จุดติดตั้งต้องมีความสะอาดโดยรอบ ตั้งอยู่บนพื้นที่เหมาะสม มีสุขอนามัย ไม่ใกล้ถังขยะหรือสิ่งปฏิกูล ช่องรับน้ำภายในตู้ต้องสะอาด มีฝาปิดมิดชิด ไม่เป็นคราบสกปรก ปราศจากฝุ่นละอองและคราบอื่นใด หัวจ่ายน้ำต้องเป็นวัสดุที่เหมาะสม เช่น สแตนเลสไม่ควรเป็นท่อพลาสติกหรือสายยาง และที่สำคัญต้องสะอาดไม่เป็นตะไคร่หรือมีสิ่งสกปรกบริเวณ หัวจ่ายน้ำ ซึ่งต้องไม่มีกลิ่นทุกชนิดปนมากับน้ำหรือมีกลิ่นโชยขณะกดน้ำ หรือจากช่องจ่ายน้ำ รวมทั้งมีสติ๊กเกอร์การตรวจรับรองที่มีมาตรฐาน น่าเชื่อถือ และต้องระบุชื่อผู้ตรวจ ชื่อบริษัท วันเวลาที่มาตรวจด้วย

 

          “ควรให้ความสำคัญกับการนำขวบพลาสติกหรือภาชนะอื่น ๆ มารองน้ำจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ โดยหมั่นทำความสะอาดภาชนะเหล่านั้นเป็นประจำ และก่อนการนำมาใช้ซ้ำทุกครั้งต้องล้างขวดให้สะอาด โดยใช้น้ำเขย่าให้ทั่วภาชนะแล้วเททิ้ง ทำเช่นนี้ประมาณ 1-2 ครั้ง แต่ถ้ามีเวลามากพอกก็ควรจะล้างภาชนะดังกล่าวด้วน้ำยาล้างจาน โดยใช้แปรงขนอ่อนขัดล้างไม่ควรใช้แปรงขนแข็ง เพราะจำทะให้เกิดรอยขีดข่วนและเป็นแหล่งสะสมเชื้อจุลินทรีย์ จากนั้นจึงล้างออกด้วยน้ำสะอาด เสร็จแล้วจึงนำไปเติมน้ำจากตู้น้ำต่อไป” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

 

update 30-03-53

 

อัพเดทเนื้อหาโดย : วีระ วานิชเจริญธรรม

Shares:
QR Code :
QR Code