‘ตุ้มโฮม แต้มฮัก’ เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ หนุนเสริมเด็กไทย
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากแฟนเพจ 4ct PED
งาน "ตุ้มโฮม แต้มฮัก" งานมหกรรมพลังเด็กอุบลเปลี่ยนโลก ครั้งที่ 1 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป จัดขึ้นภายใต้โครงการศึกษา และพัฒนากลไกการขับเคลื่อนงานด้านเด็กละเยาวชนแบบบูรณาการระดับจังหวัด : อุบลราชธานี สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านเด็กและเยาวชนจังหวัดอุบลราชธานี มีเป้าหมายให้จังหวัดอุบลราชธานีเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ สำหรับเด็กและเยาวชน
ตุ้มโฮม แต้มฮัก เป็นการรวมพลัง และบูรณาการการดำเนินงานด้านเด็กและเยาวชนจากหลายภาคส่วนซึ่งมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การเติมความรัก และแต่งแต้มกิจกรรมของเด็กและเยาวชนให้มีความสร้างสรรค์และแปลกใหม่
ภายในงานจึงมีผู้ใหญ่ใจดีมาโน้มนำทิศทางการพัฒนาเด็กเยาวชนในประเทศอย่าง ดร.สมคิด สมศรี อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวว่า ตามทิศทางการพัฒนาเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2560-2564 จากกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ซึ่ง รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายอนาคตประเทศไทย ใน ปี 2579 ให้เป็นเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตามนโยบาย "ไทยแลนด์ 4.0" และเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) จะเป็นกรอบในการ พัฒนาคนไทยในอนาคตให้มีศักยภาพ ร่วมกันพัฒนาประเทศ ให้มีความพร้อมทั้งกาย ใจ สังคม ปัญญา มีทักษะการคิดวิเคราะห์ มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีจิตสำนึกวัฒนธรรมที่ดีงาม รู้ค่าความเป็นไทย และมีความรับผิดชอบเป็นรากฐาน นำไปสู่ความมั่นคงของชุมชนสังคม ปลูกฝังการรักชาติ และสถาบันพระมหากษัตริย์
"นอกจากนี้ แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ จะต้องคำนึงถึงเด็กเป็นหลักโดยอาศัยกลไกชุมชนให้เข้มแข็งผลักดันให้เด็กมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาประเทศ ครอบคลุมไปถึงสภาพแวดล้อมที่ดี ซึ่งเป็นส่วนขยายที่ช่วยเสริมกิจกรรมพัฒนา ศักยภาพอย่างสมวัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตลอดจนเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศต่อไป" ดร.สมคิด กล่าว
ขณะที่ รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการบริหารแผนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวปาฐกถา เรื่อง "ความท้าทายในการบ่มเพาะ เด็กไทยในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก" ว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่มีพฤติกรรมที่แตกต่างจากเดิม คือ 1.อยู่กับเทคโนโลยีมากขึ้น มีความเป็นตัวของตัวเองสูง 2.ใช้ชีวิตแบบเปราะบาง ถูกหลอกง่ายขึ้น 3.มีความอดทนต่ำ 4.มีความต้องการมากขึ้น โดยไม่คำนึงถึงช่วงวัยของตนเองเป็นหลักว่าเหมาะสมหรือไม่ และ 5.ถูกบังคับให้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลาจนเกิดความเครียดนำมาซึ่งโรคภัยต่าง ๆ เช่น โรคซึมเศร้า บางรายถึงขั้นฆ่าตัวตาย ทำให้ สสส. เข้ามาสนับสนุนโครงการศึกษาและพัฒนากลไกการขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชนแบบบูรณาการในระดับจังหวัด อย่างจังหวัดอุบลราชธานี ที่ได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 2 ปี กับเป้าหมาย 62 พื้นที่ ซึ่งมีกลไกครอบคลุมในทุก ๆ มิติ เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน อาทิ ความสำคัญและมีส่วนร่วมในการป้องกันปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น ยาเสพติด มีกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อลดพื้นที่เสี่ยง เพิ่มพื้นที่ดี มีค่ายจิตอาสา ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่
"ที่สำคัญการบ่มเพาะเด็กและเยาวชนต้องมีโมเดลการสร้างองค์ความรู้ เพื่อนำไปประกอบอาชีพพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้เหมาะสมกับชุมชน เชื่อมโยงเครือข่าย ในการพัฒนาระดมความคิดระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ ร่วมพัฒนาประเทศในรูปแบบของการมีส่วนร่วมระดับองค์กรภาคี สู่การขยายผลเป็นวงกว้างในระดับจังหวัดต่าง ๆ และมีแผนการขับเคลื่อนอีก 6 จังหวัด ประกอบด้วย พระนครศรีอยุธยา หนองคาย สกลนคร พิษณุโลก สงขลา และสุราษฎร์ธานีต่อไป" รศ. ดร.วรากรณ์ กล่าว
มาที่ ดร.สุรศักดิ์ เก้าเฮี้ยน รองคณบดี คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในหัวข้อ "การสร้างความเป็นพลเมืองดีในสภาเด็กและเยาวชนระดับท้องถิ่น ว่า การสร้างหน้าที่พลเมืองดีในเด็กและเยาวชนนั้นเป็นรูปแบบของการสร้างกิจกรรม รังสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยตัวของเยาวชนเอง โดย ผ่านกระบวนการพื้นฐาน คือ การมีจิตอาสา จิตสาธารณะเพื่อส่วนรวม ทำให้เกิดกระบวนการจัดตั้งกลุ่มเด็กและเยาวชน ที่เรียกว่า กลุ่มสภาเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลใช้บังคับวันที่ 14 มิถุนายน 2560 โดยกำหนดแนวทางปรับปรุงวิธีการในการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน จึงกำหนดจัดตั้งให้มีสภาเด็กและเยาวชนระดับตำบล เทศบาล อำเภอ จังหวัด จนถึงสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย โดยเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งภาครัฐ และเอกชน มีกรมกิจการเด็กและเยาวชน ส่งเสริม ทำหน้าที่สนับสนุน และประสานงาน การจัดตั้ง และการดำเนินกิจการของสภาเด็กและเยาวชนทุกระดับ
"หลังจากมีการแต่งตั้งอย่างสมบูรณ์ เด็กและเยาวชนจะได้รับโอกาสในการเขียน โครงการด้วยตัวเองทุกขั้นตอน ทั้งการเขียน ขอเสนอโครงการ รับงบประมาณในการจัดสรรกิจกรรมในพื้นที่ชุมชนของตนเอง โดยกำหนดให้มีวัตถุประสงค์ คือ ต้องเป็น กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและมีการเก็บวัดผลประเมินโครงการด้วยตนเอง เพื่อพัฒนาให้เด็กและเยาวชนเห็นถึงปัญหาในชุมชนของตนเองมากขึ้น และเกิดแรงกระตุ้นในการร่วมกันพัฒนาชุมชน" ดร.สุรศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
การพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชน ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่จะ ช่วยหนุนเสริมทั้งด้านนโยบาย และการมีกิจกรรมที่เน้นความคิดสร้างสรรค์ตั้งแต่ระดับ ท้องถิ่น ต่อยอดสู่ระดับจังหวัด และขยายผล ต่อเนื่องจนถึงระดับประเทศ ตามแนวคิด "เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน"