ติวเข้มฑูตอารยสถาปัตย์
สสส. เดินหน้า 4 ยุทธศาสตร์ “พัฒนาเครือข่าย-ดันนโยบาย-สร้างแรงจูงใจ-สื่อสารสาธารณะ” ผนึกซีอีโอนิคมอุตสาหกรรมและองค์กรใหญ่ พร้อมปั้นทูต 30 คน เคลื่อนอารยสถาปัตย์ไทย รองรับสังคมผู้สูงอายุ การใช้ชีวิตอิสระของคนพิการ และ AEC ในปีหน้า
เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับโครงการพัฒนาและขับเคลื่อนอารยสถาปัตย์จัดกิจกรรม “ติวเข้มทูตอารยสถาปัตย์” ครั้งที่ 1 ประจำปี 2557 โดย ดร.เตช บุนนาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทยฝ่ายบริหาร เป็นประธาน กล่าวให้โอวาทติวเข้มทูตอารยสถาปัตย์ไทยสู่ประชาคมอาเซียน ว่า แม้อารยสถาปัตย์จะเริ่มต้นจากแนวคิดเพื่อให้ผู้พิการใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกและทัดเทียมคนทั่วไป แต่ปัจจุบัน หมายถึงการเตรียมสภาพแวดล้อมเพื่อคนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย หญิงตั้งครรภ์ เด็ก หรือคนรูปร่างใหญ่ ให้สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้โดยมีอุปสรรคน้อยที่สุด ทั้งทางเดิน ทางลาด ห้องน้ำ ที่จอดรถ ฯลฯ
ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า “อารยสถาปัตย์” เป็นการออกแบบเพื่อคนทุกคน (Universal Design) โดยปรับสภาพแวดล้อมทางกายภาพและจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับทุกคน เพื่อสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างเท่าเทียมและเป็นอิสระ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ สสส. ที่ต้องการให้ทุกคนบนแผ่นดินไทยมีขีดความสามารถ สังคม สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาวะ ปัจจุบันไทยมีกฎหมายหลายฉบับ ที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุ และคนทุกคน ในทุกอาคาร สถานที่สาธารณะ และแหล่งท่องเที่ยว ทั้งของรัฐ และเอกชน แต่ยังคงต้องเน้นการนำแนวคิดการออกแบบเพื่อคนทุกคนไปสู่ปฏิบัติอย่างจริงจังเพิ่มขึ้น
“โครงการพัฒนาและขับเคลื่อนอารยสถาปัตย์” ได้มีกิจกรรมคัดเลือกเยาวชนมาเป็นทูตอารยสถาปัตย์เพื่อร่วมสร้างความตระหนักเรื่องนี้ต่อสังคม มีเป้าหมาย คือ 1.อาคาร ศาสนสถาน สถานที่สาธารณะ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยว และระบบคมนาคม มีการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ คนพิการ และคนทุกคน 2. ผู้บริหารองค์กรภาครัฐ เอกชน ผู้นำชุมชน ท้องถิ่น ประชาชนทั่วไป ตื่นตัว เห็นความสำคัญของแนวคิดการออกแบบเพื่อคนทุกคนมากขึ้น และ 3. ประเทศไทยมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะคมนาคมขนส่งที่เชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ท่าอากาศยาน สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง ซึ่งมีการจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนทุกคน เพื่อรองรับประชาคมอาเซียน และการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งคาดว่าในปี 2573 ไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ มีผู้สูงอายุถึง 26.6% ของประชากรทั้งประเทศ” ดร.ประกาศิต กล่าว
ด้าน นายกฤษนะ ละไล ผู้รับผิดชอบ “โครงการพัฒนาและขับเคลื่อนอารยสถาปัตย์” กล่าวว่า โครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี 6 เดือน (พ.ค. 2557 – ต.ค. 2558) ผ่าน 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.การพัฒนาเครือข่าย โดยรับสมัครและอบรม “ทูตอารยสถาปัตย์” 15-30 คน รณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจ สำรวจและติดตามการจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยพักฟื้น สตรีมีครรภ์ และเด็กเล็ก ตามสถานที่สาธารณะ นำไปสู่การทำอารยสถาปัตย์อย่างน้อย 40 แห่ง 2.การขยายผลนโยบายการออกแบบเพื่อคนทุกคน โดยเข้าพบผู้ตัดสินใจเชิงนโยบายและผู้บริหารหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อผลักดันให้เกิดการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งระดับประเทศ และภูมิภาค โดยเฉพาะจังหวัดแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ สุพรรณบุรี ขอนแก่น 3.การสร้างแรงจูงใจ มอบประกาศนียบัตรแก่อาคารสถานที่ที่ปรับสภาพแวดล้อมและจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนทุกคน และ 4.การสื่อสารสาธารณะ เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างความตระหนักของสังคม
ในงานยังมีบรรยายเรื่อง “อารยสถาปัตย์ในเวทีโลก” โดยนายมิเคล เหมนิธิ วินเทอร์ เอกอัครราชทูตเดนมาร์ก ประจำประเทศไทย การเสวนาเรื่อง “หลายมุมมอง อารยสถาปัตย์ไทยสู่ประชาคมอาเซียน” โดยผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิ กรุงเทพมหานคร การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท. จำกัด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)
ที่มา: สำนักข่าวสร้างสุข